ไลฟ์สไตล์

ไปดูควายสอนคน ที่ร.ร.กาสรกสิวิทย์

ไปดูควายสอนคน ที่ร.ร.กาสรกสิวิทย์

12 มี.ค. 2554

พรุ่งนี้ 13 มีนาคม เป็นวันช้างไทย เพราะช้างเป็นสัตว์ใหญ่ที่มีบุญคุณกับคนไทยและชาติไทย ถ้าเช่นนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี “วันควายไทย” เพราะควายมีคุณูปการต่อคนไทยไม่ด้อยไปกว่าช้าง หากจะว่าช้างเด่นกว่าเพราะเคียงไหล่บรรพชนไทยในภารกิจกู้ชาติ แต่ก็นายทองเ

 ยิ่งได้ฟังตำนานความเชื่อของคนโบร่ำโบราณแล้วยิ่งอึ้ง ที่ว่าแต่กาลก่อนโน้น ต้นตระกูลควายอยู่บนสวรรค์ชั้นฟ้า มีภูมิปัญญาสูงส่ง รู้จักไถนา ปลูกข้าว ในขณะที่มนุษย์ยังโง่เง่า หาเผือก หามัน หาผลไม้ป่ากินพอยาไส้ไปวันๆ จนควายบนสวรรค์ตัดสินใจลงมาสอนวิชาทำนาให้มนุษย์ชนิดหมดไส้หมดพุง ฝ่ายมนุษย์พอได้ลิ้มรสข้าวของควายก็ติดอกติดใจ จนกิเลสเข้าครอบงำ แย่งเอาข้าวควายมากินจนหมดสิ้น เหลือแต่เพียงฟางข้าวไว้ให้ควายกิน นานวันไปปัญญาควายหายหดเพราะกินแต่ฟาง คนเลยฉลาดกว่าแล้วหาว่าควายโง่มานับแต่นั้น (ถอดความจากเพลง “ควายกินข้าว” โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ แต่งจากคำบอกเล่าของชาวบ้านภาคกลาง)

 ด้วยเหตุนี้ ปู่ย่าตายายเราจึงรักควาย เลี้ยงดูควายอย่างดี เพราะสำนึกว่าควายมีบุญคุณ ขณะที่คนรุ่นใหม่ไม่รู้คุณควาย รู้แต่จะเอาคนโง่ไปเปรียบเป็นควาย โดยหารู้ไม่ว่าเวลาควายประณามควายด้วยกันเองที่เจ้าเล่ห์เพทุบาย หรือชอบแบ่งสีแล้วตีกัน แถมรักชาติพันธุ์ควายแบบบ้าคลั่ง อาจสรุปรวมด้วยคำเดียวว่า โธ่ ไอ้ “คน” เอ๋ย

 แต่เมื่อเร็วๆนี้ ผมแวะเวียนไปสระแก้ว จังหวัดที่ใครๆ นึกถึงแต่ตลาดโรงเกลือ กับการเป็นประตูสู่บ่อนกาสิโน ผมกลับพบสิ่งดีๆ อย่างคาดไม่ถึง นั่นคือได้ไปเยี่ยมเยือนโรงเรียนแรกและโรงเรียนเดียวในโลก ที่มีนักเรียนเป็นคน และมีอาจารย์เป็นควาย จนกล่าวได้ว่าเป็นสถานที่ที่กอบกู้เกียรติยศและศักดิ์ศรีควายคืนมาอีกครั้ง ที่นั่นคือโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ แปลตรงตัวว่าโรงเรียนที่สอนวิชาทำนาให้ทั้งคนและควาย ตามแนวพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดตั้งโรงเรียนนี้ขึ้น เพื่อสอนคนที่ต้องการใช้ควายทำการเกษตร สามารถทำงานกับควายอย่างมีประสิทธิภาพ และรู้จักดูแลทุกข์สุขควายได้ นอกจากนั้น ยังเป็นโรงเรียนฝึกควายรุ่นใหม่ให้ไถนาเป็นอีกด้วย

 บุคลากรในโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ประกอบด้วย “กระบือผู้ให้ความรู้” หรือ “กระบืออาจารย์” ซึ่งเป็นกระบือทรงเลี้ยงที่มีประสบการณ์และความชำนาญงานไถนาในระดับสูง ต่อมาคือ “กระบือผู้เรียนรู้” หรือ “กระบือนักเรียน” เป็นกระบือของเกษตรกร หรือกระบือจากธนาคารโค-กระบือ ที่มีผู้มีจิตศรัทธาไถ่ชีวิตเป็นพระราชกุศลถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คัดเลือกที่มีลักษณะและคุณสมบัติดี มาเข้ารับการฝึกที่โรงเรียนนี้ เพื่อเกษตรกรสามารถนำไปใช้ไถนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต่อมาคือ “เกษตรกรผู้เรียนรู้” คือเกษตรกรที่ตั้งใจจะนำกระบือไปไถนา และต้องเข้าพักอาศัยในโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ เพื่อร่ำเรียนวิชาทำนาและฝึกใช้กระบือไถนาอย่างจริงจัง ทั้งนี้ การเรียนการสอนจะอยู่ในความดูแลของ “ปราชญ์ท้องถิ่น”ผู้เชี่ยวชาญงานกสิกรรม โดยเฉพาะการทำนาด้วยกระบือ ที่สำคัญคือภายในพื้นที่กว่า 100 ไร่ของโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ จะมีแปลงนา คอกกระบือ สระน้ำ มีบ้านดินให้เกษตรกรผู้เรียนรู้ได้พักอาศัย และยังมีร้านกาแฟและร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน รวมไปถึงเสื้อยืด “กาสรกสิวิทย์” ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานนามว่า “ร้านควายคะนอง” ที่มีกาแฟรสเด็ด อาทิ ควายคะนองทุ่ง ควายช็อก ควายเผือก ฯลฯ ไว้ต้อนรับผู้ไปเยือน

  โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ ตั้งอยู่เลขที่ 999 ตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว 
ท่านที่สนใจจะเข้าเรียน หรือเพียงเยี่ยมชม ชิมกาแฟ และเลือกซื้อของที่ระลึก อาจโทรไปแจ้งล่วงหน้าได้ที่ 0-3743-5058  

 ช่วงที่ผมไปเยือนสระแก้ว เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ยังได้พบงานประเพณีที่น่าชื่นชมคือ “ประเพณีบายสีสู่ขวัญข้าว” ของชาวตำบลเขาสามสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ เพราะชาวบ้านที่นั่นส่วนใหญ่เป็นชาวนา พวกเขาศรัทธาคารวะ “พระแม่โพสพ” เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้ประทานพืชพันธุ์ธัญญาหารอันอุดมให้ และเชื่อกันว่าพระแม่โพสพสิงสถิตอยู่ในเมล็ดข้าว แต่ในระหว่างการทำนา ตั้งแต่การหว่าน การปักดำ การเก็บเกี่ยว เมล็ดข้าวอาจถูกเหยียบย่ำโดยไม่ตั้งใจ แล้วไหนยังต้องผ่านกระบวนการทุบข้าว ฝัดข้าว สีข้าว ที่อาจทำให้แม่ตกใจได้

             ดังนั้น ก่อนจะนำข้าวเปลือกเก็บเข้าเล้าข้าวหรือยุ้งข้าว ชาวบ้านจะทำพิธีบายศรีสู่ขวัญข้าว เพื่อขอสมาลาโทษ และสำนึกในบุญคุณพระแม่โพสพ โดยในอดีตจะต่างคนต่างทำ ต่อมาจึงทำรวมกัน โดยแต่ละบ้านจะตักข้าวเปลือกมากองรวมกัน กลายเป็นประเพณีใหญ่ที่จัดกันมาเป็นปีที่สิบสองแล้ว ภายในงาน นอกจากมีขบวนแห่รถขวัญข้าว และพิธีบายสีสู่ขวัญแล้ว ยังมีการประกวดธิดาแม่โพสพ มีการแข่งขับทุบข้าว การประกวดพันธุ์ข้าวและผลผลิตการเกษตร ถือเป็น “มหกรรมสำนึกบุญคุณ” ที่น่ารักอย่างคาดไม่ถึง จึงทำให้รู้ว่า สระแก้ว ยังมีอะไรอีกมากมายให้เราค้นหา

เรื่อง - ภาพ... "ธีรภาพ โลหิตกุล"