
"มะพร้าวแก้ว" ขนมอร่อยทำเงิน อาชีพยอดฮิต-ของดีคู่เชียงคาน
หากใครที่เคยไปเยือนแก่งคุดคู้ อ.เชียงคาน จ.เลย เชื่อว่าคงได้เข้าไปอุดหนุน "มะพร้าวแก้ว" ที่วางขายเรียงรายเต็มหน้าแก่งเพราะจากปากต่อปากของผู้มาเยือน การันตีสินค้าของที่นี่ไม่มีที่ไหนอร่อยเท่า นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ช่วงที่ผ่านมาอาชีพนี้กลายเป็นอาชีพยอดฮิตที่
ประหยัด ใช้บ้านที่ตั้งอยู่เลขที่ 20/4 บ้านน้อย ต.เชียงคาน อ.เชียงคาน จ.เลย เป็นสถานที่ผลิตมะพร้าวแก้ว ร้านตั้งอยู่ทางเข้าแหล่งท่องเที่ยวแก่งคุดคู้ โดยทำเป็นอุตสาหกรรมในครอบครัว เริ่มปี 2540 ถึงปัจจุบัน แรงงานที่ช่วยเหลือนอกจากสมาชิกในครอบครัวแล้ว ยังจ้างญาติ เพื่อนบ้านมาช่วย 3-5 คนต่อวัน ค่าจ้างวันละ 200 บาทต่อคน
ส่วนมะพร้าววัตถุดิบสำคัญสั่งซื้อจาก จ.เพชรบูรณ์ ครั้งละ 1,500 ลูก ราคาลูกละ 12 บาท ซึ่งแต่ละครั้งต้องจ่ายเป็นเงินรวม 18,000 บาท ในแต่ละสัปดาห์ประหยัดบอกต้องสั่งถึง 2 เที่ยว
อย่างไรก็ตาม ในการผลิตมะพร้าวแก้ว ประหยัดบอกว่า นอกจากค่ามะพร้าวแล้วยังต้องจ่ายค่าน้ำมันรถอีกเที่ยวละ 1,000 บาท ค่าใช้จ่ายอื่นๆ อาทิ น้ำหวานใส่เพื่อทำเป็นสี ค่าแก๊ส 3 ถังต่อวัน ถังละ 300 บาท น้ำตาลทรายขาวละ 25 กก. 660 บาทต่อกระสอบ น้ำมันปาล์ม 12 กก.ต่อลัง 625 บาท รวมค่าใช้จ่าย 1 แสนบาทต่อเดือน ซึ่งเหล่านี้ประหยัดยอมรับว่าล้วนเป็นต้นทุนที่สูงมาก ขณะที่ราคาสินค้าก็พุ่งสูงกว่า 2 เท่าตัว ประหยัดบอกว่าพออยู่ได้ เพราะรายได้แต่ละเดือนเฉลี่ยหักค่าใช้จ่ายแล้วจะอยู่ที่ราว 2 หมื่นบาท
"ต้นทุนที่สูงขึ้นทำให้เราต้องปรับราคาขายเพิ่มขึ้น แรกๆ ก็ถูกลูกค้าบ่นว่าแพงเกินไป แต่หากคิดคำนวณตามต้นทุนที่สูงแล้วไม่แพงเลย อย่างเกรด เอ จากเดิมขายที่ 150 บาทต่อกก. ก็ปรับเป็น 220 บาทต่อกก. เกรดบี จากเดิม 120 บาท ก็ปรับเป็น 180 บาทต่อกก. เมื่อก่อนเราขายราคานี้ได้เพราะมะพร้าวอยู่ที่ลูกละ 7 บาท แต่ปัจจุบันลูกละ 12 บาท จึงทำให้เราต้องปรับราคาขายตามไปด้วย ไม่งั้นเราก็อยู่ไม่ได้เพราะมะพร้าวเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดในการยึดอาชีพทำมะพร้าวแก้วขาย"
โดยเฉพาะช่วงเทศกาล ประหยัดยอมรับว่า มีนักท่องเที่ยวและลูกค้าสั่งออเดอร์มาก จึงต้องเร่งผลิตเพื่อป้อนตลาด ยิ่งปัจจุบันด้วยเหตุที่วัตถุดิบคือมะพร้าว นอกจากไม่มีวัตถุดิบเพียงพอแล้ว ราคาที่จ่อขึ้นเป็นลูกละ 15 บาท มีแนวโน้มจะสร้างปัญหาให้ธุรกิจเล็กๆ อยู่ไม่น้อย
"การแก้ปัญหาขึ้นอยู่กับรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะกำหนดขึ้นมา เพราะเมื่อเราไม่มีวัตถุดิบ เราก็คงชะลอ และงดทำไปในบางช่วงของเทศกาล เช่น เข้าพรรษาและออกพรรษา ด้วยเหตุนี้เองผู้ผลิตมพะร้าวแก้วรายอื่นๆ ต้องเลิกราไปจำนวนมาก ก็ฝากภาครัฐและองค์กรท้องถิ่นช่วยหาวัตถุดิบมาป้อนด้วย"
พร้อมกันนี้ ประหยัดบอกถึงขั้นตอนการผลิตว่า เริ่มจากนำมะพร้าวมาผ่า เอาเปลือกสีแดงออกให้เหลือแต่เนื้อใน ล้างน้ำสะอาด ก่อนนำมาหั่นเป็นชิ้นๆ จากนั้นตั้งกระทะเคี่ยวน้ำตาลทรายขาวก่อนนำมาพร้าวที่หั่นลงไปคลุกเคล้าให้เข้ากัน เคี่ยวจนแห้ง ตักขึ้นผึ่งให้แห้ง ใส่ถุงบรรจุภัณฑ์ใหญ่-เล็ก เป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนวางจำหน่าย ซึ่งตลาดนั้นนอกจากหน้าร้านบ้านตัวเองแล้ว ยังส่งจำหน่ายในตลาด ห้างร้าน แหล่งท่องเที่ยว จ.เลย และจังหวัดใกล้เคียง ภายใต้แบรนด์ "ติ๊กมะพร้าวแก้ว" อยากชิมรสชาติความอร่อยโทร.08-2107-1349 และ 0-4282-2048
จุดเด่นที่ผู้บริโภคปฏิเสธไม่ได้ ก็คือรสชาติที่อร่อย หอม หวาน มัน นั่นเป็นคำตอบว่าทำไม มะพร้าวแก้ว จากถิ่นนี้จึงเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่อยู่คู่กับเชียงคานมายาวนานสร้างชื่อเสียงมากทั้งด้านคุณภาพและราคาที่ยุติธรรม
"บุญชู ศรีไตรภพ "