ไลฟ์สไตล์

ล่อง"เรือมาด"ชมป่าชายเลนเกาะช้างดูวิถีชีวิตดั้งเดิมชุมชนบ้าน "สลักคอก"

ล่อง"เรือมาด"ชมป่าชายเลนเกาะช้างดูวิถีชีวิตดั้งเดิมชุมชนบ้าน "สลักคอก"

06 มี.ค. 2554

การได้รับรางวัลด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศดีเด่นจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2550 และรางวัลลูกโลกสีเขียวประจำปี 2553 ที่ผ่านมา การันตีถึงความสำเร็จของ “ชุมชนบ้านสลักคอก”ใน ต.เกาะช้างใต้ อ.เกาะช้าง จ.ตราด

ได้เป็นอย่างดี ซึ่งความสำเร็จนี้เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนที่มุ่งให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและการคงไว้ซึ่งระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ควบคู่ไปกับการปรับใช้ความรู้ท้องถิ่นอย่างเหมาะสมคุ้มค่า ภายใต้หลักการจัดการชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง

 "ท่องโลกเกษตร" อาทิตย์นี้ตามผู้บริหารองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว อย่างยั่งยืนหรือ อพท.(องค์การมหาชน) ภายใต้การนำของ พ.อ.ดร.ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการ อพท. เยี่ยมชมความก้าวหน้าการดำเนินงานการพัฒนาท่องเที่ยวไปสู่ความยั่งยืนบนเกาะช้าง โดยเฉพาะชุมชนบ้านสลักคอก ที่ถูกยกให้เป็นชุมชนต้นแบบของ จ.ตราด ที่ประสบความสำเร็จจากความร่วมมือร่วมใจของหน่วยงานรัฐและชาวบ้านที่มุ่งให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและการคงไว้ซึ่งระบบนิเวศที่สมบูรณ์ควบคู่ไปกับการปรับใช้ความรู้ท้องถิ่นอย่างเหมาะสมคุ้มค่า ภายใต้หลักการจัดการชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง

  หมู่บ้านสลักคอก นอกจากเป็นแหล่งประมงพื้นบ้าน ยังเป็นแหล่งปลูกสมุนไพรพื้นบ้านที่สำคัญของจังหวัด  อีกทั้งยังมีการรวมตัวของชาวบ้านก่อให้เกิดเป็นประชาคมที่เข้มแข็ง ภายใต้ชื่อ "ชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอก" ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญในการดูแลพื้นที่แห่งนี้ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ อนุรักษ์ป่าชายเลนและรักษาสภาพความอุดมสมบุรณ์ของป่าโกงกาง

 พัชรินทร์ ผลกาจ ประธานชมรมนำเที่ยวพื้นบ้านสลักคอกยอมรับว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นมาจากความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านที่มีแนวคิดในการอนุรักษ์ธรรมชาติในพื้นที่และการสนับสนุนด้านองค์ความรู้และงบประมาณในการพัฒนาจากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหรือ อพท.(องค์การมหาชน) ซึ่งได้เข้ามาดูแลในส่วนต่างๆ ที่เกินกำลังของชาวบ้าน อย่างเช่นการปรับโครงสร้างภูมิทัศน์สองข้างทาง การอบรมและให้องค์ความรู้ในเรื่องพลังงานสะอาด การติดตั้งโซล่าร์เซลล์ การทำดาสต้าบอลเพื่อบำบัดน้ำเสีย ฯลฯ

 "ชมรมได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2548 ตอนนั้นมีการจัดตั้งกองทุนในระบบสหกรณ์โดยขายหุ้นให้ชาวบ้านที่สนใจหุ้นละ 100 บาท ปีแรกมีชาวบ้านสมัครเป็นสมาชิกแค่ 20 คน ที่น้อยเพราะส่วนใหญ่ยังสงสัยว่าจะทำอะไรกัน มีอาชีพประมงดีๆ อยู่แล้ว จะเอาเงินไปซื้อเรือคยัคมาให้นักท่องเที่ยวพายเรือชมป่าโกงกางทำไม ทั้งๆ ที่ไม่เห็นจะมีอะไรให้ดู ปัจจุบันนี้มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 123 คนส่วนใหญ่ก็เป็นคนในหมู่บ้านนี่แหละ"

 พัชรินทร์ เผยต่อว่าหลังชมรมตั้งหลักได้ก็มีการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยว โดยไม่รับจากภายนอกมาด้านเดียว แต่เป็นการค่อยๆ พัฒนารูปแบบของตนเองจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน นั่นคือการให้บริการ "นั่งเรือมาด" หรือที่นักท่องเที่ยวขนานนามให้ว่า "เรือกอนโดลา (gondola)" แห่งเกาะช้าง นำเที่ยวดูป่าชายเลน ป่าโกงกางริมสองฝั่งคลอง โดยชมรมได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.)ในการจัดซื้อเรือมาดให้บริการนักท่องเที่ยวและเป็นพี่เลี้ยงในการประสานการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา

  "การให้บริการล่องเรือมี 2 แบบ คือเรือคยัคสำหรับนักท่องเที่ยวที่นิยม การท่องเที่ยวแบบผจญภัย นักท่องเที่ยวจะพายเรือไปตามลำคลองต่างๆ ด้วยตนเอง โดยจะมีการอธิบายเส้นทาง พร้อมแจกแผนที่ให้กันหลง ส่วนเรือมาดสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาแบบครอบครัว ในเรือมาดจะมีที่นั่งพร้อมโต๊ะอาหารกลางลำเรือและมีร่มกางกันแดด มีคนแจวเรือให้ นักท่องเที่ยวจะได้ชมทัศนียภาพตลอดลำคลองไปจนถึงปากอ่าวสลักคอก อัตราค่าบริการถ้าเป็นคยัคคิดหัวละ 200 บาท ส่วนเรือมาด 1,200 บาทต่อหัว"

 พัชรินทร์ แจงรายเอียดค่าใช้จ่ายการให้บริการนำเที่ยว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะยึดรายได้เป็นที่ตั้ง แต่ก็ต้องคำนึงถึงความพร้อมของชมรมด้วย ปัจจุบันชมรมมีเรือมาดให้บริการ 7 ลำ และเรือคยัค 2 ลำ ชมรมจะไม่เน้นเรื่องรายได้จากการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นเพียงอาชีพเสริมเท่านั้น ส่วนอาชีพหลักมาจากการทำประมงพื้นบ้านและสวนยางพารา  

  "เต็มทุกวัน โดยเฉพาะชาวต่างชาติจะสนใจมาก แต่เราก็จะไม่ลงทุนซื้อเรือเพิ่ม แค่นี้ก็พอแล้ว ไม่เน้นเรื่องรายได้ เพราะสมาชิกทุกคนถือว่าการท่องเที่ยวเป็นอาชีพเสริม ไม่ใช่อาชีพหลัก และสิ่งที่ทำอยู่เป็นเสมือนแนวกันชนที่จะช่วยดูแลทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ เพราะฉะนั้นกิจกรรมต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นล้วนแล้วแต่ต้องเป็นกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ใช้พลังงานสะอาด ลดการใช้พลังงานสิ้นเปลือง" พัชรินทร์ยืนยัน
 
 ขณะที่ พ.อ.ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผอ.อพท.กล่าวถึงแผนการพัฒนาชุมนบนพื้นที่เกาะช้างว่า อพท.เป็นผู้ให้โอกาสและสร้างโอกาสให้ชาวบ้าน โดยเน้นการตอบสนองความต้องการของชุมชน รับฟังปัญหาและให้การสนับสนุนช่วยเหลือชาวบ้านอย่างจริงใจ ด้วยการเป็นพี่เลี้ยงและนำไปสู่การพัฒนาต่อไปอย่างยั่งยืน โดยเป้าหมายของชุมชนบ้านสลักคอก หลังจากนี้คือการพัฒนาไปสู่การเป็นหมู่บ้านสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สมบูรณ์แบบ

 "ที่นี่เป็นชมุชนแรกที่ริเริ่มทดลองใช้บอลจุลินทรีย์น้ำเค็ม "ดาสต้าบอล" เพื่อบำบัดน้ำเสียในคลองข้างวัดคามคชทวีป (วัดสลักคอก) ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจและสามารถขยายการทดลองไปใช้ในหลายที่ ทำให้ชาวบ้านตลอดจนหน่วยงานท้องถิ่นเกิดความเชื่อมั่นและนำบอลชนิดนี้ไปแก้ปัญหาน้ำทะเลเน่าเสียต่อไป"

 ทุกวันนี้ชุมชนบ้านสลักคอกยังคงมีการพัฒนาท้องถิ่นของตนเองไปเรื่อยๆ โดยพยายามก้าวไปข้างหน้าอย่างระมัดระวัง ในฐานะชุมชนต้นแบบของ จ.ตราด ในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างยั่งยืนสืบไป
     
สุรัตน์ อัตตะ