ไลฟ์สไตล์

"มจร"ติวพระธรรมทูตแผ่ธรรมต่างแดน

"มจร"ติวพระธรรมทูตแผ่ธรรมต่างแดน

05 มี.ค. 2554

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจัดอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ ๑๗ พระพรหมวชิรญาณ ชี้พระธรรมทูตคือผู้แทนคณะสงฆ์ไทยเมื่อไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างแดน พร้อมร่วมกับสมัชชาสงฆ์ไทยในต่างประเทศสัมมนาพระธรรมทูต ครั้งที่ ๓ ขึ้น ณ วัดไทยพุทธคยา และวัดไทยกุสินาราเฉล

(4มี.ค.) เว็บไซต์ มจร รายงานว่า เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม  พระพรหมวชิรญาณ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดยานาวา เป็นประธานเปิดโครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ ๑๗ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)  อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และพระภิกษุที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารับการอบรมพระธรรมทูต จำนวน ๘๖ รูป เข้าร่วมในพิธีเปิดดังกล่าว

                พระพรหมวชิรญาณ   กล่าวว่า "พระธรรมทูต คือผู้ทำหน้าที่เผยแพร่พระพุทธศาสนาในนามคณะสงฆ์ไทย ในนามพระพุทธศาสนา พระธรรมทูตจึงต้องมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย เช่น การนุ่งห่ม พระสงฆ์ที่อยู่ต่างประเทศ จำเป็นต้องมีรูปแบบเดียวกัน การอยู่ในประเทศที่หนาวมาก จำเป็นต้องมีเครื่องป้องกันความหนาว และที่สำคัญให้ปฏิบัติตามหลักธรรมวินัย และกฏหมายของบ้านเมืองนั้นๆ 

นอกจากนี้พระธรรมทูตจะต้องเรียนรู้กฏหมาย ประเพณี วัฒนธรรม และเรียนรู้ภาษาอังกฤษ ภาษาพื้นเมืองเป็นอย่างดี อีกทั้งต้องมีความพร้อมเพียงกันอยู่ด้วยกันให้ครบองค์สงฆ์ คือ ๕ รูปขึ้นไปเพื่อให้สามารถประกอบศาสนกิจต่างๆ ได้ตามหลักพระธรรมวินัย  ในด้านการปฏิบัติงาน จะต้องสร้างเครือข่ายทั้งในวัดและนอกวัด ในวัดคือพระสงฆ์ นอกวัดคือญาติโยม เพื่อให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาดำเนินไปได้โดยไม่มีปัญหาและอุปสรรค วิชาการที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ประสิทธิประสาทให้ช่วงระยะเวลา ๓ เดือน เป็นเพียงทฤษฎีเท่านั้น เมื่อไปอยู่ต่างประเทศแล้วยังต้องไปประสบกับสิ่งที่ต้องเรียนรู้และปฏิบัติอีกมากหมาย ที่สำคัญพระธรรมทูตจะต้องรู้จักหน้าที่ของตน มีอาจาระที่น่าไว้วางใจ มีความเสียสละ พร้อมที่จะอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา และเป็นที่พึ่งทางใจแก่พุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและประเทศนั้นๆ ได้"

                พระครูปลัดสุวัฒนจริยคุณ (ประสาร) รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแผ่ กล่าวว่า "มหาเถรสมาคม ได้มอบให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย รับผิดชอบในการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ เพื่อไปปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศ ดังนั้นพระธรรมทูตจะต้องเรียนรู้งาน ๓ งาน คือ งานด้านสาธารณูปการ  งานวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อสอนชาวชาติ และงานวิชาการพร้อมทั้งต้องเรียนรู้ถึงวัฒนธรรมองค์กรที่ตนได้เข้ามาศึกษาอบรม คือมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  เพื่อทำหน้าที่เสมือนตัวแทนของหน่วยงานในการไปปฏิบัติหน้าที่ยังต่างแดน  ซึ่งถือเป็นเครือข่ายสนับสนุนความเป็นพระธรรมทูตด้วย"

                พระครูปลัดสุวัฒนวชิรคุณ (ไสว โชติโก) รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ ซึ่งได้รับมอบหมายจากพระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดี ให้ดูแลรับผิดชอบงานต่างประเทศ กล่าวว่า "มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม ร่วมกันดำเนินการโครงการอบรมพระภิกษุ เพื่อทำหน้าที่เป็นพระธรรมทูตสายต่างประเทศ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๓๘ เป็นต้นมา ปัจจุบันมีพระธรรมทูตที่ผ่านการอบรมและปฏิบัติศาสนกิจอยู่ในต่างประเทศต่างๆ ทั่วโลก มากกว่า ๑,๑๑๑ รูป มีศูนย์กลางพระพุทธศาสนาอยู่ทั่วโลกกว่า ๙๓ แห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาและนับวันก็ยิ่งมีความต้องการพระธรรมทูตเพื่อไปปฏิบัติศาสนกิจมากยิ่งขึ้น,

 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ดำเนินนโยบายด้านกิจการต่างประเทศ ตามวิสัยทัศน์ที่มุ่งให้มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนรระดับนานาชาติ ในหลายโครงการ เช่น การประชุมชาวพุทธนานาชาติ การรับวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนาในต่างประเทศเข้าเป็นสถาบันสมทบ และการจัดอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเพทศ อันเป็นการสนองงานของคณะสงฆ์ ส่งพระสงฆ์ที่มีคุณภาพไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ และการอบรมครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อเป็นการปรับพื้นฐานให้เกิดการเรียนรู้ และรู้จักแก้ไขปัญหาเมื่อต้องไปใช้ชีวิตในต่างแดน ซึ่งจะต้องประสบกับปัญหาและอุปสรรคนานาประการ เช่น ปัญหาการใช้ภาษาท้องถิ่น การปรับตัวให้เข้ากับอากาศ อาหาร และวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ รวมทั้งการสื่อหลักธรรมและจิตภาวนาอย่างชัดเจนเป็นต้น ซึ่งในปีพุทธศักราช ๒๕๕๔ คณะกรรมการได้คัดเลือกพระสงฆ์จากทั่วประเทศเข้ารับการอบรม จำนวน ๘๖ รูป เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา  และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ตลอดจนแสดงความจงรักภักดีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยการสร้างพระธรรมทูตเผยแผ่พระเกียรติคุณในต่างประเทศด้วย"

             โครงการอบรมพระธรรมทูต รุ่น ๑๗ เริ่มการอบรม ตั้งแต่วันที่ ๓ มีนาคม ถึง ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ รวม ๙๒ วัน โดยแบ่งการอบรมเป็น  ๓ ภาค คือ ภาคสาธารณูปการ อบรม ภาคจิตภาวนา กำหนดอบรมวันที่ ๔ มีนาคม ถึง ๒๕ เมษายน ๒๕๕๔ ณ ศูนย์พัฒนาศาสนาฯ แคมป์สน อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ และภาควิชาการ กำหนดอบรมวันที่ ๒๘ เมษายน ถึง ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา

มีมติตั้งสมัชชาพระธรรมทูตไทยสายต่างประเทศ 
 
 อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ – ๑ มีนาคมที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา สหภาพพระธรรมทูตไทยแห่งทวีปยุโรป องค์กรพระธรรมทูตแห่งสหราชอาณาจักร สมัชชาสงฆ์ไทยในประเทศสิงค์โปร์ สมัชชาสงฆ์ไทยในโอเชี่ยนเนียร์ และพระธรรมทูตไทยในอินเดีย-เนปาล ได้จัดสัมมนาพระธรรมทูตไทยสายต่างประเทศ ครั้งที่ ๓ ขึ้น ณ วัดไทยพุทธคยา และวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในปีมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา และเพื่อถวายสักการะในโอกาสที่พระเทพโพธิวิเทศ (ทองยอด ภูริปาโล) หัวหน้าพระธรรมทูตไทย โดยได้จัดกิจกรรมย่อยที่เกี่ยวข้อที่วัดไทยนาลันทา วัดไทยสิริราชคฤห์ และวัดไทยไวสาลี

              ในการนี้ มีพระพรหมวชิรญาณ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ที่ปรึกษาสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา เป็นประธานเปิดการสัมมนา มีพระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดี มจร เจ้าคณะภาค ๒ เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส เป็นองค์ปาฐกถาพิเศษ มีพระราชรัตนรังษี เจ้าอาวาสวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เป็นประธานปิดการสัมมนา โดยมี พระครูปลัดสุวัฒนวชิรคุณ (ไสว โชติโก) รองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มจร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม เป็นผู้แทน มจร ในการดำเนินการจัดสัมมนา  ในการนี้ มีพระธรรมทูต ผู้แทนองค์กรพระธรรมทูต แขกผู้มีเกียรติ และผู้สนในเข้าร่วมสัมมนา จำนวน ๓๕๐ รูป/คน ที่ประชุมได้ออกปฏิญญาพุทธคยา ๑ ฉบับ โดยกำหนดตั้งสมัชชาพระธรรมทูตไทยสายต่างประเทศขึ้น และกำหนดจัดประชุมพระธรรมทูตขึ้นอีก ในประเทศไทย

สานสัมพันธ์ไทย-จีนเพื่อการพัฒนาบุคลากร

 นอกจากนี้เมื่อวันที่ 6 - 8 กุมภาพันธ์  พ.ศ. 2554 พระครูปลัดสุวัฒนวชิรคุณ พร้อมด้วยพระมหาสุเทพ สุปณฺฑิโต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ พระปรีดา ปีติธมฺโม เจ้าหน้าที่กองกิจการนิสิต และนายอุดร เขียวอ่อน รองผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์ มจร ได้เดินทางไปร่วมงานทางวัฒนธรรมและประชุมหารือแนวทางในการทำงานร่วมกันกับนายกพุทธสมาคมมณฑลกวงตุ้ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ เมืองกว่างโจว และเมืองกวางตุ้ง

          ในการนี้ได้ประชุมร่วมกับพระธรรมาจารย์หมิง เซิง (Ven.Shi Ming Sheng) รองนายกพุทธสมาคมจีน นายกพุทธสมาคมมณฑลกวางตุ้ง เจ้าอาวาสวัดกวงเซี่ยว (Guang Xiaq Shi) เมืองกว่างโจว ในเรื่องการทำงานร่วมกันเพื่อการพัฒนาบุคลากรของคณะสงฆ์โดยการจัดการศึกษาและการทำกิจกรรมร่วมกัน และได้ตกลงเพื่อให้มีการประชุมกันในโอกาสอันใกล้นี้

ร่วมมือกับมธ.พัฒนาภาษาต่างประเทศ 

      ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านภาษาให้กับพระนิสิตที่จะพัฒนาเป็นพระธรรมทูตต่อไป เมื่อวันที่ ๒ มีนาคมที่ผ่านมา  พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ผศ.ดร. ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และผู้อำนวยการสถาบันภาษามหาจุฬา (LIMCU) พร้อมด้วยผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ของสถาบันภาษามหาจุฬา  ได้เข้าเยี่ยมชมสถาบันภาษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (LITU) และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในการบริหารจัดการสถาบันภาษาเพื่อให้ เป็นแหล่งสนับสนุนและส่งเสริมภาษาต่างประเทศของผู้บริหาร คณาจารย์ นิสิต เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย และบุคคลทั่วไป

      ในโอกาสนี้  รศ.ดร.สุพงศ์ ตั้งเคียงศิริสิน  ผู้อำนวยการสถาบันภาษา  และ รศ.ศรีปทุม นุ่มอุรา  รองผู้อำนวยการสถาบันภาษาฝ่ายบริหาร ศูนย์รังสิต ได้ให้การต้อนรับ และได้นำเสนอภาพรวมด้านการบริหารและการจัดการสถาบันภาษาเพื่อรองรับการศึกษา ภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ ตั้งแต่ระดับหลักสูตรปกาศนียบัตร หลักสูตรระดับปริญญาตรี และหลักสูตรระดับปริญญาโท โดยสถาบันภาษาเป็น “ศูนย์กลาง” ของการให้บริการด้านภาษาแก่คณะต่างๆ ซึ่งปัจจุบันนี้ มีอาจารย์ประจำสถาบันภาษาทั้งไทยและต่างประเทศจำนวน ๗๕ ท่าน และมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการจำนวน ๕๔ ท่าน

      “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีนโยบายให้สถาบันภาษาเป็น “ศูนย์กลาง” ของการส่งเสริมและพัฒนาทักษะการใช้ภาษาให้แก่นิสิตในคณะต่างๆ ทั้งในระดับปริญญาตรี  โท และเอก เพราะต้องการให้เกิดความเป็นเอกภาพในการพัฒนาด้านภาษาแก่นิสิตในทิศทางเดียว กันและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ สถาบันภาษาจึงมีหน้าที่ในการส่งเสริมและพัฒนาอาจารย์ให้เชี่ยวชาญด้านการ เรียนการสอนเกี่ยวกับภาษา และส่งอาจารย์เหล่านี้ไปสอนภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ ในคณะต่างๆ ปัจจุบันนี้ สถาบันภาษาได้เป็นแหล่งเรียนรู้ และพัฒนาภาษาต่างประเทศ รวมถึงการแลกเปลี่ยนคณาจารย์ในประเทศยุโรปและประเทศอเมริกา โดยจัดส่งนิสิตไปเรียนในประเทศเหล่านั้นช่วงภาคฤดูร้อน” รศ.ดร.สุพงศ์ ตั้งเคียงศิริสิน  ผู้อำนวยการสถาบันภาษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าว

      การเข้าเยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในครั้งนี้ สถาบันภาษามหาจุฬา มุ่งเน้นที่จะนำหลักการแลกแนวทางการจัดสอบ และวัดผลด้วยข้อสอบ “TUGET” มาเป็นกรอบในการพัฒนา “MCUGET” เพื่อรองรับการวัดผลภาษาต่างประเทศแก่นิสิตต่างประเทศที่เข้าศึกษาระดับ ปริญญาตรี และปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยได้ออกข้อบังคับว่าด้วย “การสอบภาษาต่างประเทศของนิสิตในระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาเอก” โดยนิสิตจะต้องสอบให้ผ่านการทดสอบภาษาต่างประเทศจึงจะมีสิทธิ์รับปริญญา หรือจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย

      พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, ผศ.ดร. ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการและผู้อำนวยการสถาบันภาษา กล่าวว่า “การที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นศูนย์กลางการศึกษาวิชาการด้านพระพุทธศาสนาในระดับนานาชาติตามนโยบายของมหาวิทยาลัย และการพัฒนาสถาบันภาษาให้เป็นแหล่งรองรับการจัดตั้งวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติตามนโยบายของ ศ.ดร.พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีนั้น  เครื่องมือสำคัญประการหนึ่งที่จะเข้าถึงเป้าหมายดังกล่าว คือ "ภาษา”  ฉะนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ แก่ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิตของมหาวิทยาลัย ให้สามารถใช้ภาษาอังกฤษ หรือภาษาต่างประเทศอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น”