ไลฟ์สไตล์

คณะวิทย์มมส.หนุนระบบรับตรง

คณะวิทย์มมส.หนุนระบบรับตรง

23 ก.พ. 2554

นางละออศรี เสนาะเมือง คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม อดีตประธานที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย(ทวท.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ กรณีที่นายพงษ์อินทร์ รักอริยะธรรม รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.)

 ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาแอดมิสชั่นส์ฟอรั่ม ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) หารือไม่เป็นทางการร่วมกับตัวแทนมหาวิทยาลัย กับนายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้แนวคิดเบื้องต้นที่จะนำไปหารือร่วมกับคณะทำงานแอดมิสชั่นส์ฟอรั่มฯ วันที่ 10 มีนาคม เกี่ยวกับการจัดตรงส่วนกลางร่วมกันของสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นสมาชิกของทปอ.โดยกำหนดการรับตรง มี 2 รูปแบบคือ 1.กำหนดให้สมาคมสถาบันอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย (สอท.) ทำหน้าที่เคลียร์ริ่งเฮ้าส์ หรือศูนย์ประสานงานรับตรงของมหาวิทยาลัย

  โดยมหาวิทยาลัยประกาศเงื่อนไขและคุณสมบัตผู้สมัคร แล้วให้เด็กส่งใบสมัครผ่านทางอีเมล์หรือจดหมาย จากนั้นมหาวิทยาลัยส่งรายชื่อของนักเรียนที่ติดรับตรงให้แก่สอท.เพื่อประกาศรายชื่อให้เด็กตัดสินใจเลือกแห่งเดียว และวิธีที่ 2 กรณีที่มหาวิทยาลัยสอบวิชาเฉพาะอยู่ในปัจจุบัน ก็จะรวบมาสอบรวมกัน จัดสอบโดยสทศ.แล้วมหาวิทยาลัยก็ดึงคะแนนไปใช้ในการประมวลผลคัดเลือกระบบรับตรงนั้น ว่า ส่วนตัวเห็นด้วยและยินดีเป็นอย่างมากที่ได้ยินว่าสทศ.จะแยกสอบวิชาฟิสิกส์ วิชาเคมี วิชาชีววิทยาออกจากกัน เพราะส่วนตัวอยากให้ 3 วิชาดังกล่าว วิชาละ 100 คะแนนเท่ากับวิชาภาษาไทย วิชาสังคมศึกษาและวิชาภาษาอังกฤษที่วิชาละ 100 คะแนน ไม่ใช่ว่าวิชาฟิสิกส์ วิชาเคมีและวิชาชีววิทยา รวมกัน 100 คะแนนอย่างระบบแอดมิสชั่นส์ที่ผ่านมา

 นางละออศรี กล่าวต่อไปว่า การแยกสอบวิชาฟิสิกส์ วิชาเคมีและวิชาชีววิทยา เป็นวิชาละ 100 คะแนนทำให้คัดเลือกเด็กที่ถนัดวิทยาศาสตร์มาเรียนได้ตรงตามที่คณะวิทยาศาสตร์ต้องการ อีกทั้งทำให้เด็กต้องเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ในชั้นเรียนตลอดหลักสูตรม.ปลายด้วยเพราะต่อไป 3 วิชาดังกล่าว จะมีคะแนนเท่ากับวิชาภาษาไทย วิชาภาษาอังกฤษและวิชาสังคมศึกษา ฉะนั้นส่วนตัวคิดว่ากลุ่มคณะวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นส่วนใหญ่จะเข้าร่วมด้วย เพราะแนวทางดังกล่าว มีข้อดีที่ทำให้เด็กไม่ต้องวิ่งรอกสอบหลายสถาบัน เด็กไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสมัครสอบหลายที่ ขณะที่มหาวิทยาลัยเองก็ไม่ต้องเปลืองพลังงานในการออกข้อสอบซ้ำซ้อน ทั้งสิ้นเปลืองงบประมาณด้วย

 ด้านนางกุลภัทรา สิโรดม คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) กล่าวว่า ในส่วนของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีของมธ. ยังให้คำตอบไม่ได้ว่าจะเข้าร่วมรับตรงกลางร่วมกันหรือไม่ ขอฟังรายละเอียดที่เป็นข้อสรุปจากทปอ.ก่อน เพราะเท่าที่ปรากฏเป็นข่าวเบื้องต้น ตนเห็นว่าระบบการรับตรงตรงกลางร่วมกันที่คิดกันมา ไม่ต่างจากระบบแอดมิสชั่นส์ ที่ไปรวมกันอยู่ตรงกลาง ซึ่งไม่น่าจะเรียกว่าเป็นการรับตรง

 เพราะหลักการของการรับตรง ต้องรับตรงที่คณะโดยตรง และมีวิธีที่ให้คณะสามารถคัดเลือกเด็กได้ตรงตามต้องการ เช่น อาจใช้วิธีการสอบข้อเขียนหรือสัมภาษณ์ ซึ่งทำให้ได้พูดคุยทดสอบเด็กเพื่อดูบุคลิกและเด็กเองจะได้รู้ด้วยว่าตัวเองเหมาะและอยากเรียนคณะนั้นๆ จริง หรือไม่ แต่หากทปอ.ต้องการลดปัญหาเด็กวิ่งรอกสอบหลายสถาบันหรือต้องการลดปัญหาเด็กต้องสอบหลายวิชา ก็มีวิธีการแก้ไขหลายวิธี เช่น อาจใช้ข้อสอบมาตรฐานกลางแล้วให้เด็กนำคะแนนดังกล่าวไปยื่นกับคณะ อย่างที่ต่างประเทศดำเนินการอยู่

 “ระบบรับตรงกลางที่คิดกันดูแล้วไม่ต่างจากแอดมิสชั่นส์ที่ระบบแอดมิสชั่นส์ที่ผ่านมามีปัญหาตัดยอดจำนวนเด็ก ถ้าเด็กสละสิทธิ์แล้ว ที่นั่งก็จะไม่เต็ม ต่างจากระบบรับตรงที่เราสามารถรับเผื่อกันเด็กสละสิทธิ์ ทั้งนี้ขอฝากว่าข้อสอบกลางที่จะใช้วัดประเมินหรือคัดเลือกเด็กต้องได้มาตรฐาน ถ้าไม่ได้มาตรฐานก็จะเป็นปัญหาอีกได้ อีกทั้งระบบรับตรงที่เป็นอยู่ ทำให้คณะได้เด็กตรงตามที่คณะต้องการจริงๆ ฉะนั้นถามว่ามีระบบไหนบ้างที่มาแทนวัตถุประสงค์ 2 ข้อดังกล่าวได้ ทั้งนี้สำหรับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีของมธ. ตอนนี้สัดส่วนรับตรงและแอดมิสชั่นส์อยู่ที่ 50: 50” นางกุลภัทรา กล่าว