ไลฟ์สไตล์

หวนรำลึก 'วันชนะศึกทุ่งลาดหญ้า'

หวนรำลึก 'วันชนะศึกทุ่งลาดหญ้า'

24 ก.พ. 2554

ท้องฟ้าบริเวณทุ่งลาดหญ้าที่เคยเงียบสงัด กลับมาสว่างไสวและคึกคักอีกครั้ง เมื่อกระทรวงกลาโหม กองทัพบก โดยกองทัพภาคที่ 1 จับมือ กระทรวงพลังงาน และจังหวัดกาญจนบุรี จัดการแสดงละครแสง เสียง ยิ่งใหญ่อลังการ เทิดพระเกียรติ ปฐมบรมราชจักรีวงศ์ เฉลิมพระเกียรติพระบาท

  นอกจากนี้ยังเป็นการสะท้อนถึงความผูกพัน เทิดทูน และจงรักภักดี ที่ประชาชนชาวไทยมีต่อพระมหากษัตริย์ที่ตรงทำนุบำรุงบ้านเมือง และดูแลพสกนิกรให้ร่มเย็นเป็นสุข ตลอดระยะเวลากว่า 700 ปี ทั้งยังเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ในการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ และปกป้องผืนแผ่นดินที่ด้วยพระปรีชาสามารถ พระวีรกรรมอันกล้าหาญและความเสียสละของทุกพระองค์ ในสงคราม 9 ทัพที่เสี่ยงต่อการเสียดินแดนอย่างยิ่ง

 โดยถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการจัดแสดงละครแสงเสียง บนพื้นที่กว่า 100 ไร่ บนสมรภูมิรบจริงกลางหุบเขาทุ่งลาดหญ้า ถ่ายทอดเรื่องราวจากมหาวีรกรรมของกองทัพไทย อันเป็นการรบที่ข้าศึกพ่ายแพ้ยับเยินที่สุดในประวัติศาสตร์ จัดอย่างยิ่งใหญ่ตระการตาประกอบระบบเสียงรอบทิศทาง เสมือนอยู่ในสนามรบจริง ด้วยงบประมาณการสร้างถึง 60 ล้านบาท โดยมี ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล ทรงรับเป็นที่ปรึกษา และมีนักแสดงชั้นนำร่วมแสดง อาทิ "ต้น" จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์ "โน้ต" วัชรบูล ลี้สุวรรณ "เมฆ" วินัย ไกรบุตร  "หนึ่ง" ชลัฏ ณ สงขลา เป็นต้น พร้อมด้วยนักแสดงประกอบกว่า 600 ชีวิต

 มีฉากรบด้วยกำลังคน ม้าศึก และปืนใหญ่ที่สมจริง โดยการจำลองเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สงครามเก้าทัพที่เกิดขึ้นจริง เมื่อปีพ.ศ.2328 ในรัชสมัยของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ครั้งนั้นพระเจ้าปดุงกษัตริย์พม่าแห่งกรุงอมระปุระได้กรีฑาทัพมารุกล้ำประเทศไทย ด้วยไพร่พลจำนวน 144,000 คน แบ่งเป็น 9 ทัพ 5 ทิศทาง โดยมุ่งหมายจะปราบกรุงรัตนโกสินทร์ให้สิ้นไปจากแหลมสุวรรณภูมิ ทั้งที่เพิ่งสถาปนาได้เพียง 3 ปี และมีกำลังไพร่พลเพียง 70,000 เศษเท่านั้น

 สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระอนุชา และพระบรมวงศานุวงศ์ จึงได้ทรงประชุมวางยุทธวิธีการรบที่เยี่ยมยอด เพื่อรักษาเอกราชของไทยไว้ให้ได้ ซึ่งสมรภูมิการรบที่สำคัญอยู่ที่ทุ่งลาดหญ้า จ.กาญจนบุรี โดยมีกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทเป็นแม่ทัพ ทรงนำกำลังทหารที่มีน้อยกว่าครึ่ง ต้านข้าศึกไว้ที่ปากช่องเขา ไม่ให้ข้าศึกออกสู่ที่ราบได้ ครั้งถึงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2328 กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงเห็นว่าข้าศึกอ่อนแอเต็มที่แล้ว จึงนำกองกำลังปืนใหญ่เข้าโจมตีจนได้ชัยชนะ การรบครั้งนี้เท่ากับไทยทำลายข้าศึกได้เกินครึ่ง และทำให้ข้าศึกที่มีอีก 4 ทัพจากอีก 4 ทาง เกิดความเกรงกลัวในพระปรีชาสามารถจนทำให้ปราบได้ทุกทัพ

 โดยละครแสง เสียง สงคราม 9 ทัพ ตอน "วันชนะศึกทุ่งลาดหญ้า" แบ่งการแสดงออกเป็น 6 องก์ ได้แก่ องก์ที่ 1 ฉาก 1 ราชธานีอมระบุระ กษัตริย์พระนาม "พระเจ้าปดุง" องก์ที่ 2 ฉาก 1 รัตนโกสินทร์เพิ่งสถาปนา ราชธานีใหม่ ฉาก 2 สดับข่าว เก้าทัพพม่า ยกมาสิบสี่หมื่น ฉาก 3 วิเทโศบายพระพุทธยอดฟ้าจัดเตรียมทัพ รับศึกใหญ่ ฉาก 4 เสด็จส่งทัพพระอนุชา ณ ทุ่งท้องพระเมรุ องก์ที่ 3 ฉาก 1 อุบายถอยทัพ ผ่านช่องเขาขนาบทัพพม่า ฉาก 2 มุ่งผลักดัน ยันข้าศึก จุกในช่องเขา ฉาก 3 พระเจ้าปดุงพิโรธ เสบียงหมด ไพร่พลอ่อนล้า ฉาก 4 สองทัพพม่าระดมยิ่งใส่ ทัพไทยสู้อย่างชาญฉลาด องก์ที่ 4 ฉาก 1 อุบายเสริมกำลังพล ทำข้าศึกเสียขวัญ ฉาก 2 กุศโลบายของกรมพระราชวังบวรฯ ฉาก 3 ข้าศึกขวัญกระเจิง เตรียมหนีทัพ ฉาก 4 ตัดกำลังทัพพม่า ฝ่ายไทยเสียยอดฝีมือ ฉาก 5 ทหารหิวโซ สองแม่ทัพพม่า ขัดแย้งรุนแรง องก์ที่ 5 ฉาก 1.1 มหาวีรกรรมทุ่งลาดหญ้า ฉาก 1.2 ทัพพม่าแตกพ่าย พระเจ้าปดุงรื้อค่ายล่าถอย ฉาก 1.3 มาเก้าทัพ เหลือกลับแค่หนึ่ง และองก์ที่ 6 ฉาก 1 (ฉากจบ) คนไทยทุกคน ต้องช่วยกัน รักษาแผ่นดินไทย

 ทั้งนี้การแสดงละครแสงเสียงเทิดพระเกียรติฯ จะจัดแสดงจนถึงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ วันละ 1 รอบ เวลา 19.30 - 21.00 น. บัตรราคา 199 บาท และ 499 บาท มีจำหน่ายที่สำนักงานจังหวัดราชบุรี โทร. 0-3451-5208, 0-3451-1778, 0-345-12399 และ 0-3462-2791 โดยรายได้จะนำไปพัฒนาปรับปรุงอุทยานประวัติศาสตร์สงคราม 9 ทัพให้เป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตและทรงคุณค่าแก่อนุชนรุ่นหลัง และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศต่อไป