ไลฟ์สไตล์

มหาสงกรานต์ "มอญ"

มหาสงกรานต์ "มอญ"

10 เม.ย. 2552

"สงกรานต์" ในความเข้าใจของหลายๆ คนอาจจะคิดกันว่า เป็นเอกลักษณ์ประเพณีและวัฒนธรรมไทยเท่านั้น แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะเมื่อหันไปดูประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นลาว กัมพูชา พม่า จีนสิบสองปันนา รวมถึงชาวรามัญ หรือชาวมอญ ก็มีประเพณีสงกรานต์เช่นกัน โดย

  เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของ ชาวมอญ ใน เทศกาลสงกรานต์ คือ การจัดขบวนแห่หงส์และแห่ธงตะขาบ ไปถวายวัด เพื่อผลัดเปลี่ยนประดับเสาหงส์อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของ วัดมอญ ในวันปีใหม่ เป็นประเพณีที่ชาวมอญจัดขึ้นในวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์
ชาวมอญจะช่วยกันประดิษฐ์หางหงส์ มีความยาวประมาณ ๓-๑๐ เมตร ทั้งนี้ชาวมอญเรียกประเพณีนี้ว่า แห่ฮะต๊ะโน่ หรือเรียกสั้นๆ ว่า แห่โน่ หมายถึง แห่หงส์ ในภาษามอญ ฮะต๊ะ แปลว่า หาง โน่ แปลว่า หงส์ โดยเฉพาะที่ วัดสโมสร ต.ไทรใหญ่ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี ซึ่งจัดให้มีประเพณีแห่งหางหงส์ธงตะขาบในวันที่ ๑๔ เมษายน โดยจัดมาเป็นปีที่ ๑๓ แล้ว และถือว่าเป็นงานใหญ่ของ จ.นนทบุรี เลยทีเดียว

 หงส์ เป็นสัญลักษณ์แห่งความเชื่อของชาวมอญ อันเป็นที่มาแห่งประเพณีการแห่หงส์ ชาวมอญเกือบทุกท้องถิ่น ซึ่งมีหงส์เป็นสัญลักษณ์ โดยทำรูปหงส์ไว้บนเสากลมสูงประมาณ ๒๐ เมตร (คล้ายเสาธงชาติ) ตัวเสาจะมีการสลักลวดลายอันสวยงาม ส่วนตัวหงส์ที่ประดิษฐานอยู่บนยอดเสาจะจัดทำอย่างสวยงาม ลำตัวประดับกระจกเป็นสีสันสวยงาม จะงอยปากจะห้อยกระดิ่ง เวลามีลมพัดทำให้เกิดเสียงดังไพเราะ

 ส่วน ธงตะขาบ ชาวมอญนิยมทำในโอกาสมงคลต่างๆ เช่น ฉลองพระพุทธรูป เบิกเนตรพระพุทธรูป การบูชาบรรพบุรุษ โดยเฉพาะในเทศกาลสงกรานต์ หรือปีใหม่ชาวมอญ รูปลักษณ์ของธงตะขาบนั้น นิยมใช้ผ้าแดง

 ส่วนกิจกรรมบุญในเทศกาลสงกรานต์ คือ ก่อพระเจดีย์ทราย ทำบุญข้าวแช่ ปล่อยนก ปล่อยปลา รวมทั้งปล่อยสัตว์น้ำ ทุกชนิด ชักบังสุกุลที่วัด อุทิศบุญกุศลให้แก่บรรพชน และกระดูกของปู่ย่าตายาย ที่บรรจุไว้ในเจดีย์ ของตระกูล และขอพรให้ลูกหลานอยู่เย็นเป็นสุข 

 ส่วนที่บ้าน ก็อาบน้ำให้พ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ และมอบของขวัญให้ แสดงความรัก ความเคารพ
อย่างไรก็ตาม พิธีสรงน้ำพระ หรือ อาบน้ำพระ ในเทศกาลสงกรานต์ของชาวมอญ ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่  ๑๓-๑๘ เมษายน ของทุกๆ ปี จะแตกต่างจากคนไทยมาก คือ จะสรงน้ำ หรืออาบน้ำพระกันจริงๆ มิใช่เพียงแต่เอาน้ำรดที่มือ หรือที่เท้าเท่านั้น
คนมอญทุกแห่งจะต้องจัดเตรียมสถานที่สรงน้ำพระ ที่มีลักษณะรูปแบบเหมือนกันหมด มีรางน้ำยาวยื่นจากห้องน้ำ และมีการตกแต่งอย่างสวยงาม เป็นรางน้ำ สำหรับให้ชาวบ้านเทน้ำลงในรางไหลเข้าสู่ห้องน้ำ

 บางวัดจะมีถังไม้ขนาดใหญ่ เพื่อรองรับน้ำไว้ และมีท่อจากถึงปล่อยน้ำให้ไหลออก เพื่อให้พระได้สรงน้ำภายในห้องน้ำได้สะดวกขึ้น

 เนื่องจากพระสงฆ์มอญ เคร่งครัดมาก วิธีสรงน้ำพระพุทธรูป หรือพระสงฆ์สามเณรนั้น จะมีคนให้สัญญาณด้วยการตบที่ฝาห้องน้ำ โดยจะพูดคำว่า "จอ" แปลว่า "รด" เมื่อได้ยินสัญญาณดังกล่าว ผู้ที่เป็นสตรีจะเทน้ำลงในรางน้ำ น้ำก็จะไหลไปตามทางจนถึงที่พระพุทธรูป หรือพระสงฆ์

 เมื่อพระเสร็จพิธีการในห้องสรงน้ำแล้ว พระสงฆ์เดินขึ้นไปบนศาลาการเปรียญ ไปตามทางเดินที่มีชาวบ้านที่เป็นชายนั่งรออยู่สองข้าง

 การที่คนมอญต้องทำห้องน้ำ และรางน้ำสำหรับการสรงน้ำพระ มีเหตุผลดังนี้
 ๑.เพื่อให้พระภิกษุสามเณรที่สรงน้ำนั้น ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย เพราะการสรงน้ำพระ พระท่านต้องผลัดเปลี่ยนสบง รวมทั้งการครองจีวรหลังสรงน้ำก็ทำได้อย่างเรียบร้อยเช่นกัน ไม่เป็นการผิดวินัยแต่อย่างใด

 ๒.เพื่อให้พระภิกษุสามเณรได้สรงน้ำอย่างสะดวกในห้องน้ำ
 และ ๓.เพื่อให้ชาวบ้าน โดยเฉพาะสตรีได้สรงน้ำเฉพาะในสถานที่ที่ได้จัดไว้ให้

 สำหรับชุมชนมอญที่ยังรักษาขนบธรรมเนียมและประเพณีไว้อย่างเหนียวแน่น คือ ชุมชนมอญบางกระดี่ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ชุมชนมอญคลองสิบสี่ เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ ชุมชนมอญบ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ชุมชนมอญพระประแดง อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ชุมชนมอญสามโคก อ.เมือง จ.ปทุมธานี ชุมชนมอญมหาชัย วัดเกาะบางปลา อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ชุมชนมอญเกาะเกร็ด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ชุมชนมอญกระทุ่มมืด อยู่ระหว่าง อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี และ อ.บางเลน จ.นครปฐม ชุมชนมอญ อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ชุมชนมอญลำพูน ต.บ้านเรือน อ.ป่าซาง จ.ลำพูน (วัดหนองดู่และวัดเกาะกลาง) และชุมชนมอญบ้านใหม่ จ.นครสวรรค์

 อย่างไรก็ตาม มีข้อแนะนำชาวมอญว่า อะไรๆ ก็จัดได้ดีหมด แต่เสียอย่างเดียว คือ เราไม่ได้ยินภาษามอญในงานเลย ไม่ว่าจะเป็นโฆษกของงาน รวมทั้งผู้ที่มาเปิดงาน

 โดยเฉพาะ งานสงกรานต์มอญพระประแดง มีคนเสนอแนะว่า งานสงกรานต์มอญผู้ที่มาเป็นประธานเปิดงาน ควรจะกล่าวคำเปิดงานเป็นภาษามอญได้บ้าง รวมทั้งการประกวดต่างๆ น่าจะมีการให้ผู้เข้าร่วมประกวดตอบคำถามเป็นภาษามอญบ้าง เพื่อรักษาภาษามอญเอาไว้
และสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง คือ อย่าใส่โสร่งลาวไปงานมอญ มันขัดกับความรู้สึกของคนมอญไม่น้อย ไม่รู้ไม่เป็นไร แต่รู้แล้วยังทำ เขาว่าไม่ให้เกียรติ

เรื่อง - ภาพ ... "ไตรเทพ ไกรงู"