ไลฟ์สไตล์

"เกาะช้าง แกรนด์" นำร่องลดขยะ       
เปลี่ยน "เศษอาหาร" เป็นก๊าซหุงต้ม

"เกาะช้าง แกรนด์" นำร่องลดขยะ เปลี่ยน "เศษอาหาร" เป็นก๊าซหุงต้ม

22 ก.พ. 2554

จากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง ก่อให้เกิดปัญหาขยะจำนวนมากบนเกาะ ในขณะที่ จ.ตราด ประกาศห้ามนำขยะบนเกาะช้างมาทิ้งบนฝั่ง โดยได้กำหนดระยะเวลาไปถึงเดือนกันยายนนี้ จากนั้นขยะมูลฝอยบนเกาะช้าง ทุกภาคส่วนที

 ด้วยเหตุนี้ทำให้องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท.(องค์การมหาชน) จึงมีแนวคิดการจัดการขยะชุมชนเมืองด้วยการใช้ระบบการจัดการขยะมูลฝอยโดยชุมชน ภายใต้ความร่วมมือขององค์กรระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และผู้ประกอบการในพื้นที่ร่วมกันจัดการขยะอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ หรือถังหมักชีวภาพ โดยเริ่มนำร่องติดตั้งถังหมักชีวภาพจำนวน 3 แห่ง คือเกาะช้าง แกรนด์ ออคิด รีสอร์ท แอนด์สปา บ้านช้างไทยและบ้านนายกเทศมนตรีตำบลเกาะช้าง ก่อนขยายไปสู่สถานประกอบการอื่นต่อไป

 ถึงแม้การจัดการขยะอินทรีย์ด้วยระบบถังหมักชีวภาพขนาดเล็ก จะมีระยะคืนทุนที่ค่อนข้างยาวนานกว่าการลงทุนระบบใหญ่ แต่ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องคัดแยกขยะ เพราะอย่างน้อยขยะอินทรีย์จากสถานประกอบการร้านอาหารและโรงแรมก็อาจสามารถทำให้หมดไปได้ ด้วยการจัดการของสถานประกอบการเอง

 "ของเราเป็นถังหมักขนาด 200 ลิตร ทั้งระบบลงทุน 2 หมื่นบาท เริ่มติดตั้งไปเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ตอนนี้สามารถใช้งานได้ระดับหนึ่งแต่ยังไม่เต็มระบบ ก๊าซที่ได้จากถังนี้อย่างน้อยก็ใช้ในการหุงต้มประกอบอาหารของพนักงานในรีสอร์ทเรา ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ลงได้"

 มุกดา เจริญประสิทธิ์ เจ้าของเกาะช้าง แกรนด์ ออคิด รีสอร์ท แอนด์สปา เผยผลรับที่ได้จากเทคโนโลยีบ่อหมักก๊าซชีวภาพ ซึ่งหลักการทำงานเริ่มจากนำขยะอินทรีย์ที่เป็นเศษอาหารของโรงแรมในแต่ละวันมาใส่ในถังหมัก โดยในถังหมักนั้นสามารถเติมขยะลงไปได้ไม่เกิน 20 กิโลกรัมต่อวัน หากโครงการดังกล่าวนี้ประสบความสำเร็จในอนาคตรีสอร์ทก็จะลงทุนสร้างถังหมักขนาดใหญ่กว่าเดิมเพื่อให้เพียงพอกับปริมาณของขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน

 "ปกติขยะจากเศษอาหารเหล่านี้ เราก็นำไปเป็นอาหารหมูที่เลี้ยงไว้ และส่วนหนึ่งนำไปทำน้ำหมักชีวภาพเพื่อไปรดพืชผักที่ปลูกไว้ที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง แล้วก็นำไปใช้ทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องครัวเพื่อลดกลิ่นเหม็น ที่ผ่านมาเราไม่ใช้น้ำยาที่เป็นสารเคมีทำความสะอาดห้องน้ำ แต่จะใช้น้ำอีเอ็มนี่แหละ" มุกดาเผย พร้อมย้ำว่าจะทำให้เป็นกรีนรีสอร์ท หรือรีสอร์ทสีเขียว จะทำให้ขยะหรือของเสียออกจากโรงแรมน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย แต่จะนำทุกอย่างมารีไซเคิลให้มากที่สุด ทั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของโรงแรม

 ด้าน ผศ.ดร.จิรพล สินธุนาวา อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้จัดการมูลนิธิใบไม้เขียว หนึ่งในพันธมิตรร่วมกับ อพท.ในการพัฒนาท่องเที่ยวบนเกาะช้างอย่างยั่งยืน กล่าวเสริมว่า ผู้ประกอบการจะมีส่วนช่วยอย่างมากในการบริหารจัดการโรงแรมบนเกาะช้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ด้วย โดยแค่เปลี่ยนวิธีเท่านั้นก็สามารถเปลี่ยนเกาะช้างได้

 "รู้ไหมว่าห้องครัวของโรงแรมคือจุดเปลี่ยนที่สำคัญมาก จะต้องแยกเศษอาหารออกให้หมด ก่อนล้างจาน ไม่ใช่ล้างทันที เศษอาหารก็จะไปสะสมอยู่ในท่อ ซึ่งจะเป็นแหล่งรวมของเชื้อโรคที่มากับพวกแมลงสาบและหนู นานวันก็จะกลายเป็นก๊าซคาร์บอนออกไซด์ สู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มภาวะโลกร้อนอีก ส่วนพื้นที่ว่างของโรงแรมแทนที่จะจัดเป็นสวนหย่อมด้วยพันธุ์ไม้สวยงามก็ให้เปลี่ยนสวนสมุนไพร ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ได้ด้วย เหล่านี้คือต้นทุนทั้งนั้น" ผู้จัดการมูลนิธิใบไม้เขียวแนะนำวิธีลดต้นทุนค่าใช้จ่าย พร้อมยกตัวอย่างเกาะช้าง แกรนด์ ออคิด รีสอร์ท แอนด์สปา คือตัวอย่างความสำเร็จที่เกิดขึ้นจริงบนเกาะช้างจากโครงการนำร่องของ อพท.

"สุรัตน์ อัตตะ"