ไลฟ์สไตล์

กล้วยตาก "บานาน่าโซโซตี้" 
ผลิตผลท้องถิ่นสู่ความเป็นสากล

กล้วยตาก "บานาน่าโซโซตี้" ผลิตผลท้องถิ่นสู่ความเป็นสากล

16 ก.พ. 2554

ชื่อเสียงของ "กล้วยตาก" จากแหล่งผลิตใน จ.พิษณุโลก เป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างแพร่หลาย ส่งให้มีผู้ประกอบการการผลิตในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ด้วยเกิดภาวะการแข่งขันกันสูง จึงทำให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นเร่งยกระดับสินค้าตามมาตรฐาน (Good Manufacturi

 "วุฒิชัย" ย้อนอดีตให้ฟังว่า วิสาหกิจชุมชนกล้วยตากบุปผา เกิดขึ้นเมื่อปี 2548 ภายใต้แนวคิดต้องการเปลี่ยนรูปแบบกระบวนการผลิตกล้วยตากแบบดั้งเดิมให้ได้มาตรฐานตามระบบการผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อยกระดับสินค้าสู่สากล ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) โดยมีทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยศิลปากรออกแบบสร้างเครื่องอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์กรีนเฮ้าส์ (พาราโบลาร์โดม) เพื่อลดการปนเปื้อนของกล้วยน้ำว้า อันเกิดจากการตากแดดในที่โล่งแจ้ง อีกทั้งช่วยให้กล้วยมีสีผิวสม่ำเสมอ คงไว้ซึ่งรสชาติที่ดีกว่ากรรมวิธีดั้งเดิม

 “กระแสการดูแลสุขภาพของผู้บริโภคได้รับความนิยมมากขึ้น จึงเกิดคำถามเกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตและโอกาสที่จะเกิดสิ่งปนเปื้อนตกค้างในกล้วยตาก อาทิ ฝุ่นละออง สิ่งสกปรก หรือเชื้อจุลินทรีย์ คำถามเหล่านี้ทำให้เราเริ่มเก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่ปี 2546 เพื่อหาวิธีปรับเปลี่ยนกรรมวิธีการผลิตให้มีมาตรฐานตามข้อกำหนดของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) การคิดค้นพัฒนาการผลิตในรูปแบบใหม่อย่างครบวงจรจึงเกิดขึ้นแม้ว่าผู้ประกอบการบางรายจะล้มเลิกความคิดในการผลิตเนื่องจากเห็นว่าไม่คุ้มค่ากับการลงทุน” วุฒิชัย ระบุ

 ทั้งนี้ การศึกษาและการสร้างเครื่องดังกล่าว สำเร็จเป็นพาราโบลาร์โดม ปี 2550 สามารถแก้ปัญหาทางด้านผลผลิตได้อย่างน่าพอใจวัดได้จากคุณภาพของผลผลิตรวม ทั้งยังช่วยลดการสูญเสียวัตถุดิบได้ถึง 90% และยังสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคด้วยการยกระดับการผลิตสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานข้อกำหนด โดยใช้เงินลงทุนสร้าง 8 แสนบาท พื้นที่ภายในประมาณ 160 ตารางเมตร ให้กำลังการผลิตสูงสุดถึง 1,400 กิโลกรัมต่อวัน

 "เราภูมิใจที่ได้เป็นผู้บุกเบิกกระบวนการผลิตกล้วยตากอย่างถูกสุขลักษณะ ถือเป็นความรับผิดชอบที่มอบให้แก่ผู้บริโภคและยังช่วยสร้างงานส้รางรายได้ ให้แก่เกษตรกรชาวสวนทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่ด้วย”

 วุฒิชัยกล่าวอีกว่า เมื่อพิจารณาในแง่กระบวนการผลิต แน่นอนว่ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยตากบุปผาต้องแบกรับต้นทุนในการผลิต ดังนั้นแนวทางการเพิ่มมูลค่าสินค้าคือทางออกเพื่อความอยู่รอด การพัฒนาเพื่อยกระดับสินค้าโดยการสร้างภาพลักษณ์และความแตกต่างให้แก่ผู้บริโภค จึงเป็นที่มาของตราสินค้า บานาน่าโซไซตี้ : Banana Society ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดการจดจำควบคู่การวางแผนการตลาด การจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ กล้วยตากบุปผา ภายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ

 ปัจจุบันการผลิตกล้วยตากภายใต้ตรา บานาน่า โซไซตี้ มีกำลังการผลิต 30 ตันต่อเดือน สามารถสร้างงานและรายได้อย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกรท้องถิ่นรวมถึงชุมชนใกล้เคียง นอกจากการพัฒนาการผลิตกล้วยตากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ยังมีการแปรรูปกล้วยน้ำว้าเป็นไซรัปกล้วยน้ำว้า เพื่อเพิ่มมูลค่าให้วัตถุดิบ อันนับเป็นความพยายามของผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ไม่หยุดนิ่ง

"มัทนา ลัดดาสิริพร "