Lifestyle

การออกแบบแลนด์มาร์คใหม่เพื่อชุมชนที่ยั่งยืน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ประเทศที่ด้อยพัฒนามักจะหวงแหนก้อนอิฐก้อนหินของเก่าที่ตัวเองไม่ได้สร้าง แย่งชิงรบราฆ่ากันเพื่อมรดกของบรรพบุรุษ ไม่คิดที่จะสร้างสิ่งใหม่ ซึ่งเป็นตัวแทนของคนในยุคนี้ ไม่คิดจะวางแผนให้เกิดสิ่งดีงามที่ลูกหลานจะได้หวงแหนผลงานของคนในยุคนี้กันบ้าง มีน้อยที่จะได้

 การบันทึกอารยธรรมของโลก หลักฐานชิ้นสำคัญ คือ สถาปัตยกรรมที่สะท้อนบริบทของสังคมนั้นว่ามีความเจริญรุ่งเรืองหรือล่มสลายแต่ละช่วงเวลาในแต่ละยุคก็เกิดเป็นลักษณะเฉพาะและส่งถ่ายทอดสู่ยุคต่อๆ ไป

 ประเทศที่มีอารยะจึงพยายามสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมที่เป็นตัวแทนแห่งยุค มีการเชื่อมต่อทางวัฒนธรรม เมืองบางเมืองแม้ไม่มีจุดขายทางอารยธรรมอยู่เลย ก็ถือเป็นเมืองใหม่ คนในเมืองนั้นสามารถร่วมแรงร่วมใจสร้างสรรค์อาคารขึ้นมาให้มีเอกลักษณ์และเป็นเสมือนแลนมาร์คตัวแทนเมืองที่มีคุณค่าได้ และอาจกลายเป็นจุดดึงดูดใหม่ก็เป็นได้

 ฉะนั้นผมอยากจะเสนอให้มีการออกแบบแลนด์มาร์คประจำเมืองของคนในยุคนี้เป็นหลักฐานที่บอกว่า คนในยุคนี้ก็มีอารยะ มีวัฒนธรรมที่ลูกหลานหวงแหนเราได้เหมือนกัน ดีกว่าเพียงแค่ภูมิใจในอดีตที่บรรพบุรุษสร้างไว้และไม่แต่เพียงเก็บของเก่ากิน

 แม้ท่านเป็นคนเล็กน้อยของสังคม ท่านก็สามารถสร้างมรดกใหม่ให้แก่ประเทศและชุมชนของท่านได้ เพราะจริงๆ แล้วจุดเริ่มต้นก็มาจากตัวตนของท่าน ความจริงใจของท่าน การรักถิ่นเกิดที่ท่านอยู่ดำเนินชีวิตตามปกติ แต่ใส่ลักษณะชีวิตที่สร้างสรรค์ลงไป มรดกทางวัฒนธรรมไม่จำเป็นต้องอยู่ที่วัตถุเสมอไป แต่อาจอยู่ที่วิถีชีวิต ความบริสุทธิ์ในการดำรงชีวิต แม้เรื่องเล็กน้อยก็มีอารยะได้ เช่น ตัวอย่างวิธีคิดดังนี้

 1.การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ประจำชุมชนที่ไม่ลอกเลียนใคร

 เกิดจากความบ่มเพาะจนเป็นเอกลักษณ์และมีแนวคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้น ตั้งแต่ อาหาร, หัตถกรรม, ภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยควรมองเห็นถึงการต่อยอดทางวัฒนธรรมมากกว่าการทำซ้ำเลียนแบบของเก่า เช่น การคิดสูตรอาหารในแบบฉบับของตัวเองในยุคนี้ หรือการประยุกต์หัตถกรรมในอดีตแล้วกลายเป็นหัตถกรรมปัจจุบันที่มีไอเดียความคิดและใช้วัสดุที่มีในยุคนี้เป็นต้น

 2.การดำรงชีวิตเป็นวิถีที่งดงาม

 ก็ถือเป็นหลักฐานและความเจริญของคนในยุคนี้ได้เช่นกัน เช่น ระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ ระบบการเอื้อเฟื้อของแต่ละครัวเรือน ระบบการจัดการขยะของชุมชน การสร้างวงจรให้เกิดการช่วยเหลือและพัฒนาการต่อยอดประเพณีเดิมให้มีคุณค่าไม่ให้เสื่อมลงและนำเอาเทคโนโลยีมาเป็นประโยชน์ ไม่ใช่มาทำลาย เป็นต้น ก็ถือว่าก่อเกิดวิถีที่เป็นมรดกได้

 3.การสร้างสรรค์ระบบธุรกิจที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน และวางแผนการตลาดให้เป็น 

 งานออกแบบอาจจะขยายความจากผลิตภัณฑ์ประจำชุมชนต่อยอดสู่งานอาชีพที่แต่ละชุมชนถนัด เช่น ชุมชนนี้มีความถนัดการผลิต เครื่องเรือนหวาย แต่ต่อยอดหวายไม่ให้ซ้ำไปซ้ำมา นำนวัตกรรมมาประยุกต์ใหม่ไม่ให้ติดอยู่กับวิธีการเดิมๆ กลายเป็นย่านการค้าที่มีความหลากหลาย จับกลุ่มร่วมมือในการทำตลาด การทำโรดโชว์ แล้วภาครัฐที่ควรทำหน้าที่ส่งเสริมตั้งแต่ต้นน้ำ ให้เกิดผลงานลิขสิทธิ์ มีการจดสิทธิบัตรและทำการโปรโมทอย่างจริงๆ จังๆ

 ปัญหาเดิมๆ ที่เจอคือ มักจะทำแต่ไมรู้ไปขายใคร ลอกเลียนกันเอง แต่ไม่คิดจะสร้างสิ่งใหม่ เลยพากันลงเหวทั้งชุมชน บางชุมชนขาดองค์ความรู้ใหม่ งานบางอย่างจึงล่มสลายไป

 4.การออกแบบแลนด์มาร์คใหม่

 เป็นสัญลักษณ์ประจำท้องถิ่น อาจเป็นเพียงแค่เรื่องเล็กน้อยไปจนถึงเรื่องใหญ่ แม้สตรีทเฟอร์นิเจอร์หรือการออกแบบสภาพแวดล้อมก็เป็นแลนด์มาร์คได้ ถือเป็นแลนด์มาร์คระดับสายตาปะปนไปกับวิถีชีวิต ไปจนถึงแลนด์มาร์คที่เป็นตัวแทนทางสถาปัตยกรรมของชุมชน อาจประยุกต์จากสิ่งที่มีอยู่ หรือวางแผนสร้างโครงการอะไรก็ควรให้เกิดคุณค่าทางศิลปะ บางโครงการอาจเป็นผลงานของเอกชน เช่น โรงแรม, ร้านค้า, อาคารสำนักงาน, และแม้กระทั่งบ้านของเราเองก็สามารถทำให้เกิดเป็นแลนด์มาร์ค หรือแลนด์มาร์คที่ร่วมกับเพื่อนบ้านที่มีเอกลักษณ์เฉพาะชุมชน

 ในขณะที่หน่วยราชการ อาคารทุกอาคารสามารถทำให้เกิดแลนด์มาร์คได้ เช่น พิพิธภัณฑ์, ศาลากลาง, อาคารสำนักงาน อบจ. อบต. ฯลฯ แต่ปัญหาอยู่ที่มักจะไม่สนใจการออกแบบให้มีคุณค่า บางโครงการไม่เคยนำลักษณะศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นมาบูรณาการต่อยอดเลย จึงทำให้เสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์ ไม่มีความงดงาม ไม่เป็นตัวแทนของยุคได้เลยด้วยซ้ำ ทิ้งไว้แต่เพียงซากอาคารที่ไม่มีคุณค่า เสียงบประมาณมหาศาล

 ฉะนั้นรูปแบบอาคารของราชการควรจะต้องบูรณาการใหม่ คิดใหม่ มีสัดส่วนสถาปัตยกรรมที่ดี ไม่จำเป็นต้องยึดถือแบบจากส่วนกลาง แต่ควรสร้างสรรค์ให้เกิดเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างมีรสนิยม ไปจังหวัดไหน อำเภอไหน มุมมองก็กลมกลืน ทั้งสถาปัตยกรรมของเอกชนและราชการที่อยู่ร่วมกันอย่างเหมาะเจาะ

 ทำยากครับแต่ถ้าวางแผนของแต่ละชุมชนที่เข้มแข็ง มรดกตกทอดจะตกถึงลูกหลานและลูกหลานก็ต่อยอดต่อไป เมืองจะงดงาม คนก็งดงาม สะท้อนความเป็นไทยในแต่ละยุคที่เราภาคภูมิใจมากกว่าแย่งของเก่ากิน

 สำหรับท่านใดที่สนใจอยากร่วมฟังการบรรยายและเวิร์กช็อป สามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดได้ที่ โทร.0-2984-0091-2 หรือ 08-6331-7433 โดยผู้อ่านทุกท่านสามารถเข้าร่วมการบรรยาย 2 โครงการ คือ งานสัมมนา “ค้นหาโอกาสธุรกิจด้วยดีไซน์” SMEs ณ ฮอลล์ 3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 26-27 กุมภาพันธ์ 2554 และระหว่างวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2554 ในงานสัมมนา หัวข้อ “พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส” ตอน “สร้างสรรค์ธุรกิจโรงแรม และรีสอร์ทแนวใหม่แห่งอนาคต” ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ เมืองทองธานี แล้วพบกันครับ

 อ.เอกพงษ์ ตรีตรง
www.ideal1group.com

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ