
อพท.เนรมิต"เกาะช้าง"ต้นแบบ "โลว์คาร์บอน"สู่ท่องเที่ยวยั่งยืน
การพัฒนาการท่องเที่ยวบนพื้นที่หมู่เกาะช้าง จ.ตราด โดยไม่มีทิศทางที่ชัดเจนในอดีต ผนวกกับการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวและสถานประกอบการโรงแรม รีสอร์ทในปัจจุบัน ล้วนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งทางบกและทางทะเลทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนปัญหาการใช้พลังงานอย่างไร้
จากผลการศึกษาวิจัยพบว่านักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวหมู่เกาะช้างปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโดยเฉลี่ย 19.74 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากกิจกรรมการท่องเที่ยวต่างๆ อาทิ การเดินทาง การบริการที่พัก ตลอดจนการใช้พลังงานและการกำจัดของเสีย จะเห็นว่าการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคการท่องเที่ยวในพื้นที่หมู่เกาะช้างมีปริมาณสูงกว่าปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของคนทั้งประเทศ ซึ่งมีค่าเฉลี่ย 11 กิโลกรัมต่อคนต่อวันเท่านั้น
"การเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศส่งผลให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นและเมื่อโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นก็จะส่งผลทำให้สภาพภูมิอากาศบนโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบทางลบโดยตรงต่อภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยวแบบหมู่เกาะ จะเห็นได้ว่าลมประจำฤดูมีการเปลี่ยนแปลงไประดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น คลื่นแรงและสูงขึ้น แนวชายฝั่งถูกกัดเซาะเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนปัญหาการฟอกขาวของปะการังที่เกิดขึ้น โดยทั่วไปในพื้นที่ทะเลตราดในปัจจุบัน"
พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท กรรมการและผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท.(องค์การมหาชน) กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม "การใช้เครื่องมือบริหารโรงแรมที่เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ" ณ โรงแรมทรอปิคาน่า รีสอร์ทแอนด์สปา อ.เกาะช้าง จ.ตราด ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง อพท.และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงสิ้นปี 2554
สำหรับโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อผสานแนวคิดปกป้องสภาพภูมิอากาศเข้ากับการจัดทำแผนและการจัดการท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาให้พื้นที่หมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยงเป็นต้นแบบของการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพในภาคการท่องเที่ยวแบบลดการปลดปล่อยก๊าซคอร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ
"อพท.มีความภาคภูมิใจเรียกโครงการนี้ว่า "Low Carbon Tourism" ซึ่งได้รับความร่วมมือจากภาคีต่างๆ ในพื้นที่ จ.ตราด ผ่านกระบวนการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและชุมชนเพื่อสร้างความสำนึกรักและความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ อย่างเช่นการฝึกอบรมการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชน ธนาคารขยะโรงเรียนอนุบาลเกาะช้าง หรือการใช้เทคโนโลยีถังหมักก๊าซชีวภาพในการกำจัดขยะอินทรีย์จากเศษอาหาร นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นและเห็นเป็นรูปธรรมแล้วในวันนี้"
พันเอก ดร.นาฬิกอติภัคระบุอีกว่า โครงการนี้ยังรวมถึงการศึกษาการวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากภาคการท่องเที่ยวในพื้นที่หมู่เกาะช้าง โดยมหาวิทยาลัยบูรพาและบริษัท อเดลฟี ประเทศเยอรมนี ซึ่งผลการศึกษาพบว่าโรงแรมและรีสอร์ท เป็นภาคส่วนที่ใช้พลังงานมากที่สุดและปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด
จากความร่วมมือเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ทางโครงการได้ประสานขอความร่วมมือจากมูลนิธิใบไม้เขียวและนำผลการศึกษาดังกล่าวมาพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อใช้คำนวณปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการท่องเที่ยวและการบริการ อันจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ท สามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจในการบริหารจัดการโรงแรมและนำเสนอกิจกรรมท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยลดภาวะโลกร้อน ตลอดจนช่วยลดค่าใช้จ่ายในสถานประกอบการที่เกิดจากการบริโภคอย่างเกินความจำเป็นได้อีกทางหนึ่ง
เรื่อง - สุรัตน์ อัตตะ
ภาพ - ชยานนท์ ปราณีต