ไลฟ์สไตล์

"นราธิป"ความดีที่น้องเชิดชู"พี่"

"นราธิป"ความดีที่น้องเชิดชู"พี่"

07 ก.พ. 2554

แดดเช้าของวันที่ 29 มกราคม 2554 ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์ เปลี่ยนความเงื่องหงอยให้เป็นความคึกคัก และค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามอุณหภูมิของเข็มนาฬิกา สายนี้สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จะมีงานพิธีมอบรางวัลนราธิป ประจำปี 2553 ให้แก่ผู้อาวุโสที่เป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ

 แดดเพิ่มแรงร้อน เจ้าหน้าที่สมาคมนักเขียนฯ ทยอยตระเตรียมงานในทุกด้านให้สมบูรณ์ที่สุด ขณะที่ผู้คนในแวดวงวรรณกรรมเริ่มปรากฏตัวทีละคนสองคน เช่น กฤษณา อโศกสิน, ประภัสสร เสวิกุล, สุชาติ สวัสดิ์ศรี, สุธาทิพย์ โมราลาย, บินหลา สันกาลาคีรี, จตุพล บุญพรัด พี่น้องสื่อมวลชน และอาวุโสทางอักษร ที่ได้รับประกาศเกียรติรางวัลนราธิป พร้อมลูกๆ หลานๆ ที่มาร่วมซาบซึ้งยินดี ก็เริ่มต่อเท้าตามกันมา แต่ก่อนเข้าสู่ห้องประชุมพูนศุข พนมยงค์ สถาบันปรีดี พนมยงค์ ในซอยทองหล่อ ได้มีการบันทึกภาพผู้ที่ได้รับรางวัล เพื่อเก็บไว้เป็นฐานข้อมูลทำเนียบนักเขียนต่อไป ตรงส่วนนี้แม้จะเป็นกิจกรรมเล็กๆ แต่สร้างรอยยิ้มให้ทุกท่านที่เดินทางมารับรางวัล เช่น ป้าจุ๊ จุรี โอศิริ ที่มีลูกชายคนดังวงการบันเทิง นพพล โกมารชุน พยุงแม่สุดรักยืนแอ็กชั่นถ่ายรูปคู่กันนั้นช่างน่ารัก ส่วน วิวัฒน์ ประชาเรืองวิทย์ ซึ่งแนบภรรยาและลูกหลานมากลุ่มใหญ่ ก็ดูอบอุ่นไม่หยอก ด้าน ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร มาเดี่ยวด้วยท่าทางคึกคักขึงขังแม้วัยจะล่วง 80 ปีแล้วก็ตาม

 ปีนี้สมาคมนักเขียนฯ ประกาศเกียรติผู้ได้รับรางวัลนราธิป 15 ท่าน ดังนี้ 1.คำสิงห์ ศรีนอก 2.จุรี โอศิริ 3.ชูวงศ์ ฉายะจินดา 4.ถวัลย์ (มงคลรัตน์) นวลักษณกวี 5.ธีระ วงศ์โพธิ์พระ 6.พ.อ.ท่านผู้หญิงนิออน สนิทวงศ์ ณ อยุธยา 7.ประสิทธิ์ โลหิตเสถียร 8.ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร 9.วิวัฒน์ ประชาเรืองวิทย์ 10.ศ.วิสุทธิ์ บุษยกุล 11.ม.ล.ศรีฟ้า มหาวรรณ 12.ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สมชัย บวรกิตติ 13.เสรี ชมภูมิ่ง 14.สำราญ ทรัพย์นิรันดร์ และ 15.อุทัย สินธุสาร 
 แต่มีหลายท่านที่ติดภารกิจ ทั้งมีเหตุสุดวิสัยไม่สามารถมาร่วมงานได้ ในงานเช้านี้จึงมีผู้ที่มารับรางวัลคือ จุรี โอศิริ, ถวัลย์ นวลักษณกวี, ธีระ วงศ์โพธิ์พระ, วิวัฒน์ ประชาเรืองวิทย์, สมชัย บวรกิตติ, วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร และ อุทัย สินธุสาร ส่วน ชูวงศ์ ฉายะจินดา, เสรี ชมภูมิ่ง, ประสิทธิ์ โลหิตเสถียร ให้ลูก-หลานมาเป็นตัวแทนรับ และคำสิงห์ ศรีนอก หรือ ลาว คำหอม ได้ขจรฤทธิ์ รักษา เป็นตัวแทน

 เริ่มงานพิธีการด้วยนายกสมาคมนักเขียนฯ ชมัยภร แสงกระจ่าง กล่าวต้อนรับ ต่อด้วยการฉายวีดิทัศน์รำลึก พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ บุคคลสำคัญของไทยผู้เป็นที่มาของชื่อรางวัล ก่อนจะเข้าสู่ช่วงการประกาศเกียรติและมอบโล่รางวัลนราธิป ผศ.ดร.ญาดา อารัมภีร และ นิเวศน์ กันไทยราษฎร์ สองพิธีกร ได้เชิญแขกผู้มาร่วมงานได้ยืนไว้อาลัยแก่ ศ.เกียรติคุณ วิสุทธ์ บุษยกุล ที่เพิ่งถึงแก่อสัญกรรมไปก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วัน ซึ่ง ญาดา อารัมภีร ได้อ่านกลอนประกาศเกียรติที่เขียนโดยนายกสมาคมนักเขียนฯ ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือท่วมท้นด้วยอาลัย กระทั่งหลายต่อหลายคนที่อยู่ในห้องประชุมต่างขนลุกซู่ จากนั้นกำหนดการทุกอย่างจึงดำเนินต่อไป พิธีกรประกาศเกียรติพร้อมอ่านกลอนสดุดี ขณะที่ ชมัยภร แสงกระจ่าง คลานเข่าเข้าไปมอบโล่และช่อมาลัย แล้วกราบงามๆ ลงบนตักของนักเขียนผู้มาก่อน ไล่เรียงทีละคนจบครบ ช่างเป็นภาพสวยงามและประทับพิมพ์ใจแก่เหล่านักเขียนรุ่นน้องเป็นที่ยิ่ง

 อีกช่วงเวลาหนึ่งที่เป็นไฮไลต์ของงานคือ ช่วงเรียนรู้จากผู้มาก่อน ด้วยเป็นการเปิดใจผู้ที่ได้รับรางวัลทั้งหลายที่มีต่อการได้รับประกาศเกียรติจากสมาคมนักเขียนฯ ครั้งนี้ รวมถึงการบอกเล่าประสบการณ์ในเส้นทางสายอักษรที่มียาวนานของแต่ละคน พิธีกรผู้รับหน้าที่แคะเค้นความในใจอาวุโสสายอักษรคือ เจน สงสมพันธุ์ และ จเลิศ เจษฎาวัลย์

 เริ่มที่ ถวัลย์ นวลักษณกวี ที่บอกว่า “การได้เขียนกวีนั้นนับเป็นคุณค่าในชีวิต และวันนี้ก็นับเป็นอีกวันที่เป็นเกียรติมาก” อุทัย สินธุสาร เล่าให้รุ่นหลังฟังว่า “ผมทำงานวันละ 17 ชั่วโมง ทำหนังสือเพราะใจรัก ไม่ตามใจตลาด หนังสือที่รวบรวม เขียนมากว่า 50-60 เล่ม เป็นการทำงานแบบโดดเดี่ยวผู้เดียวดาย วันนี้รู้สึกงานตัวเองพ้นสมัยไปแล้ว แต่เมื่อมีคนพูดถึงและให้รางวัล ก็ดีใจพอสมควรกับวันนี้ในชีวิต” ส่วน ธีระ วงศ์โพธิ์พระ หรือ ธ.ธีรทาส ซึ่งนำหนังสือที่ตัวเองทั้งแปลทั้งเขียนมาเป็นชุดใหญ่เพื่อแจกเพื่อนผู้ได้รับรางวัลรวมทั้งแขกที่มาในงาน ก่อนกล่าวสั้นๆ ขอบคุณสมาคมนักเขียนฯ ที่มอบรางวัลให้ ซึ่งทำให้ตนเองซาบซึ้งใจมาก

 ต่อด้วย วิวัฒน์ ประชาเรืองวิทย์ ผู้แปล เลียดก๊ก, สามก๊ก, ไซ่ฮั่น อันลือลั่น ได้อ่านโพยที่เตรียมมาด้วยน้ำเสียงกังวาน “เป็นเกียรติสูงสุดที่ได้รับรางวัลนราธิป ทำให้มีแรงมุ่งมั่นทำงานให้แวดวงวรรณกรรมต่อไป ฝากให้หนุ่มสาวที่เหมือนอาทิตย์ร้อนแรงในยามทิวา และเราผู้ได้รับรางวัลนราธิปทั้งหลาย ที่เปรียบเหมือนแสงสุริยาที่อ่อนแรง ต้องเร่งทำคุณความดี ให้ความดีขจรขจายดังกลิ่นกุหลาบแดงที่ส่งกลิ่นหอมหวนทั่วจักรวาล แม้นเป็นจอกแหนในสระหนอง ก็จะขอเป็นดั่งดอกโบตั๋น คงความดีตามวิถีท่านขงจื๊อ ทุ่มเทตัวเองทำงานเพื่อวงวรรณกรรมให้ที่สุด” พูดจบ เสียงปรบมือชอบใจดังขึ้นยาวนาน

 ส่วน ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร กล่าวว่า ดีใจ เพราะตัวเองไม่ค่อยได้รับรางวัลอะไร ยิ่งเป็นรางวัลทางการเขียนไม่มีเลย ดังนั้น รางวัลนราธิปที่สมาคมนักเขียนฯ มอบให้นี้ เหมือนเป็นการให้ในสิ่งที่ขาด ก่อนเล่าประสบการณ์การเขียนแก่คนรุ่นหลังว่า

 “ผมอยู่มาได้ป่านนี้เพราะเขียนหนังสือเลี้ยงชีพ จะเขียนอะไรต้องรู้จริง และเขียนให้ได้ และด้วยความเป็นนักเศรษฐศาสตร์จึงทำให้เวลาเขียนแล้วนั้นต้องขายได้ด้วย แต่ที่สำคัญที่ต้องเขียนคือ ไม่อยากให้คนอื่นรู้แบบผิดๆ ถูกๆ เพราะผมเห็นว่าหลายเรื่องที่เป็นข่าวสารความรู้ต่างๆ ที่ปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์หรือนิตยสาร มักจะพูดจะเขียนกันไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐศาสตร์และเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย”
 ตามด้วย สมชัย บวรกิตติ กล่าวเน้นๆ ว่า “รักในความเป็นภาษาไทยมาก แม้แต่การเขียนตัวเลขก็จะเขียนเป็นตัวเลขไทย การเป็นนักเขียนต้องรู้จักจดจำและสังเกต จด บันทึกทุกอย่างที่เห็น อย่างที่ผมรวบรวมทุกอย่างได้นั้นก็มาจากทั้งการนั่งรอรถ รอเครื่องบินออก เข้าห้องน้ำก็ยังจด”

 ตบท้ายด้วยอาวุโสหญิงหนึ่งเดียวบนเวทีนราธิปวันนี้ ป้าจุ๊ ไม่เสียเวลาพูดพร่ำทำเพลง ขออนุญาตอ่านบทกลอนที่บอกว่าเขียนถึงเพื่อนซี้ ซึ่งไปอยู่บนฟากฟ้าแล้ว ด้วยบทที่ชื่อ “เธอผู้นั้นชื่อพี่ปุ๊ย”

 “พี่ปุ๊ยจากไปสองปีแล้วสินา
อนิจจาช่างเร็วน่าใจหาย
ยังคิดถึงทุกวันไม่เว้นวาย
แม่สบาย ปุ๊ยไม่ต้องเป็นกังวล
ตั้งแต่เช้าจนเย็นอ่านหนังสือ
เขียนหนังสือทุกวันจนเป็นผล
สวรรค์ส่งผลบุญบันดาลดล
ได้รับรางวัลสากลของเมืองไทย
ชื่อรางวัลนราธิปพงศ์ประพันธ์
สมาคมนักเขียนจัดมอบให้
เป็นรางวัลจากการเขียนที่เพียรไว้
ขอส่งข่าวให้พี่ปุ๊ยร่วมยินดี”

 จบเสียงสะอื้น น้ำตาเอ่อเบ้าค่อยๆ หยดอาบแก้มจุรี โอศิริ เสียงปรบมือซาบซึ้งยาวนาน ถือเป็นการปิดม่านนราธิปของปี 2553 ได้อย่างประทับสุดซึ้ง

เรื่องเด่นประเด็นดัง
เด่น นาคร