
สพฐ.รับโอเน็ตต่ำเหตุร.ร.เหลื่อมล้ำคุณภาพ
สพฐ.รับคะแนนโอเน็ตย่ำอยู่กับที่ เหตุร.ร.ในสังกัดมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพจริงแต่ คะแนนบางวิชามีแนวโน้มดีขึ้น
คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดแถลงข่าวชี้แจ้งกรณีสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ระบุคะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือคะแนนโอเน็ตต่ำติดต่อกัน 4 ปี ว่า จริงๆ แล้วถ้านำคะแนนประเมินผลการศึกษาระดับชาติ หรือ คะแนน NT ที่สพฐ.จัดสอบเอง และคะแนนโอเน็ตในช่วง 3 ปี ตั้งแต่ปี 2549 – 2551 มาไล่ดูแล้ว พบว่าหลายวิชาคะแนนเฉลี่ยมีแนวโน้มสูงขึ้น บางวิชาปีแรก ๆ เป็นการสอบ NT ซึ่งเมื่อเปลี่ยนมาสอบโอเน็ตแทน คะแนนเฉลี่ยโอเน็ตปีแรกลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับคะแนน NT ของปีก่อนหน้า แต่เมื่อเข้าสู่การสอบโอเน็ตปีที่ 2 คะแนนเฉลี่ยมีแนวโน้มขึ้น
คุณหญิงกษมา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เท่าที่ สพฐ.วิเคราะห์เบื้องต้น สาเหตุที่ทำให้คะแนนโอเน็ตต่ำติดต่อกันหลายปีนั้น ส่วนหนึ่งมาจากนักเรียนไม่ตั้งใจทำข้อสอบ ขณะนี้เดียวกัน ร.ร.ก็มีปัญหาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนจริง เพราะร.ร.ยังมีความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพอยู่ ขณะเดียวกันยังได้ผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนครู ปัญหาครูเก่งเกษียณออกไปจำนวนมาก และยังมีปัญหาขาดแคลนสื่อการเรียนการสอนอีก รวมทั้งยังมีปัญหาที่หลักสูตรกำหนดให้เด็กเรียน 8 กลุ่มสาระวิชาเหมือนกัน เด็กจึงต้องสอบในข้อสอบที่ตัวเองไม่ถนัก เช่นที่เรียนสายวิทย์ก็ต้องสอบข้อสอบภาษาอังกฤษโอเน็ตเดียวกับเด็กที่เรียนสายศิลป์ ซึ่งประเด็นนี้ ตนเตรียมจะหารือกับ สทศ.
“ สพฐ.จะประสานขอข้อมูลเป็นรายเขตพื้นที่การศึกษาและรายโรง เพื่อนำมาวิเคราะห์เจาะลึกในรายละเอียด ทั้งนี้ ทางธนาคารโลกจะให้ความช่วยเหลือ เข้ามาวิเคราะห์ข้อมูล สิ่งแวดล้อมรอบตัวนักเรียนทั้งหมด เพื่อหาคำตอบว่า อะไรบ้างที่ส่งผลต่อการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก ขณะเดียวเอง สพฐ.ก็จะวิเคราะห์ สภาพแวดล้อมของร.ร.บางกลุ่ม เช่น ร.ร.ในฝัน ร.ร.ที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อดูว่า สิ่งที่เราพยายามทำเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนนั้น อะไรบ้างที่ได้ผลและอะไรที่ไม่ได้ จำเป็นต้องปรับปรุงกันต่อไป “ คุณหญิงกษมา กล่าว
ทั้งนี้ในส่วนของวิชาภาษาอังกฤษนั้น สพฐ.มีแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ เป็นแผน 5 ปี นำมาดำเนินการไปหลายปีแล้ว จนเกิดการเปลี่ยน แปลงในตัวครู พบว่า ส่งผลให้คะแนนมีแนวโน้มผงกหัวขึ้น เพราะฉะนั้น หากมีการลงทุนพัฒนาการเรียนการสอนในวิชาอื่นๆ เหมือนเช่นวิชาภาษาอังกฤษ แล้ว คะแนนน่าจะมีแนวโน้มผงกหัวขึ้นเช่นกัน
คุณหญิงกษมา กล่าวต่อว่า สำหรับผลคะแนน NT และคะแนนโอเน็ต ตั้งแต่ปี 49-51 นั้น ระดับ ป.3 ซึ่งจัดสอบ NT ในปี 50 และ 51 พบว่า คะแนนเฉลี่ยของภาษาไทยในปี 2550 อยู่ที่ 48.26 ขยับขึ้นเป็น 51.59 ในปี 2551 ส่วนวิชาคณิตศาสตร์อยู่ที่ 45.05 ในปี 2550 ขยับเป็น 48.39 ในปี 2551
ส่วนระดับ ป.6 มีการจัดสอบ NTในปี 49 และเปลี่ยนมาสอบโอเน็ตในปี 50-51 จัดโดย สทศ. พบว่า คะแนนเฉลี่ยวิชาวิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษมีแนวโน้มดีขึ้น โดยคะแนนเฉลี่ยวิชาวิทยาศาสตร์ จาก 43.17 ในปี 49 ขยับขึ้นเป็น 49.57 และ 51.68 ตามลำดับ วิชาภาษาอังกฤษ จาก 34.51 ในปี 49 ขยับเป็น 38.68 และ 37.62 ตามลำดับ วิชาภาษาไทย จาก42.74 ในปี 49 ลดลงเป็น 36.58 ในปี 50 แล้วเพิ่มเป็น 42.02 ในปี 51 แต่วิชาคณิตศาสตร์ มีแนวโน้มลดลงจาก 38.87 ในปี 49 ขึ้นมาเป็น 47.55 ในปี 50 แต่ละลงเหลือ 43.76 ในปี 51
ระดับ ม.3 จัดสอบ NT 5 วิชาในปี 49 และ 50 และเปลี่ยนมาสอบโอเน็ตแทนในปี 51 พบว่า คะแนนเฉลี่ยวิชาคณิตศาสตร์มีแนวโน้มสูงขึ้น จาก 31.15 ในปี 49 ขยับเป็น 34.73 และ 34.56 ตามลำดับ วิชาสังคมศึกษามีแนวโน้มคะแนนคงที่ 41.68 ในปี 49 ขยับเป็น 41.82 และ 41.37 ตามลำดับ ขณะที่วิชาภาษาไทยมีแนวโน้มคะแนนลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 43.94 เป็น 43.13 และ 41.04 ตามลำดับ ส่วนภาษาอังกฤษและวิทยาศาสตร์คะแนนลดลงปี 50แล้วเพิ่มสูงขึ้นในปี 51 โดยวิชาวิทยาศาสตร์ จาก 39.34 ลดลงเป็น 35.24 แล้วเพิ่มเป็น 39.39 วิชาภาษาอังกฤษ จาก 30.85 ลดเป็น 28.7 แล้วเพิ่มเป็น 32.64
ระดับชั้น ม.6 จัดสอบ คะแนนโอเน็ต วิชาภาษาไทยมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าทุกวิชาในทุกปีแต่มีแนวโน้มลดลง จาก 50.33 เป็น 50.7 และ 46.42 วิชาวิทยาศาสตร์ จาก 34.88 เป็น 34.62 และ 33.65 วิชาคณิตศาสตร์ จาก 29.56 เป็น 32.49 และ 30.64 วิชาสังคมศึกษาคะแนนมีแนวโน้มลดลง จาก 37.94 เป็น 37.76 และ 34.67 วิชาภาษาอังกฤษ จาก 32.27 เป็น 30.93 แล้วเพิ่มเป็น 35.98