ไลฟ์สไตล์

Burn-Out Syndrome...ภัยเงียบของคนทำงาน

Burn-Out Syndrome...ภัยเงียบของคนทำงาน

31 ม.ค. 2554

เหนื่อยล้า เพลียทั้งกายและใจ เหมือนแบตเตอรี่หมด เป็นเพราะทำงานหามรุ่งหามค่ำ แทบไม่มีเวลาสนุกสนานกับชีวิต นี่คืออาการของคนทำงานโอเวอร์ เป็นที่มาของโรคเบิร์น เอ้าท์ ซินโดรม (Burn-Out Syndrome)

 Burn-Out หมายถึง การทำงานหนักเกินไป ไม่ได้สัดส่วนกับการพักผ่อน จนเกิดอาการสมองไม่แล่น ความจำไม่ดี อ่อนเปลี้ยเพลียแรง นอนไม่หลับ ทำงานจนหมดพลัง เฮอร์เบิร์ต เจ ฟลอยเดนเบอร์เกอร์ นักจิตเวชชาวอเมริกัน นำชื่อ Burn out มาใช้ในการรักษาทางจิตเวช เมื่อปี ค.ศ.1974 คือโรคจิตทางหนึ่งซึ่งมักเกิดกับคนที่ตั้งความหวังไว้สูงเกี่ยวกับตัวเอง และต้องการความเพอร์เฟกต์ จนก่อให้เกิดปฏิกิริยาทางร่างกายและจิตใจ
 สัญญาณเตือนคือ หมดพลัง หมดความกระตือรือร้น เฉี่อยชา บางคนเป็นโรคซึมเศร้าตามมาได้ หมดอาลัยตายอยากในชีวิต ไม่อยากมีชีวิตอยู่ ความจำแย่ลง ขาดสมาธิ หงุดหงิดง่าย ร่างกายอ่อนเปลี้ยไม่ค่อยมีแรง นอนไม่หลับ ปวดศรีษะ ประสาทเครียด ความดันโลหิตสูง มีโอกาสเป็นโรคติดเชื้อสูง ซึ่งส่วนมากคนที่เป็นโรคเบิร์นเอ้าท์ ก็มักหาทางออกปลอบจิตตัวเองด้วยการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป กินยานอนหลับ กินอาหารมากเกินไป และสูบบุหรี่มากเกินไป
 ควรทำงานแล้วพัก เช่น ทำงาน 1 ชั่วโมง ควรใช้สมอง 45 นาที แล้วพัก 10-15 นาที สมองจะได้ขจัดเมตาบอลิซึมของเสียต่างๆ ออกไป หมุนเวียนเอาวัตถุดิบใหม่เข้ามา ควรหมุนเวียนเช่นนี้ทุกๆ ชั่วโมง หากปล่อยให้มีอาการไปเรื่อยๆ จะก่อให้เกิดโรคที่เป็นไปได้มากกว่า 100 โรค สุดท้ายก่อให้เกิดโรคร้ายแรง เช่น โรคเกี่ยวกับหู โรคหัวใจ หรืออัมพฤกษ์ อัมพาต
 จะรู้ได้อย่างไรว่าเริ่มเป็นโรคเบิร์นเอ้าท์แล้ว รู้ด้วยการทำงานไม่เหมือนเดิม สมาธิในการทำงานและความตั้งใจในการทำงานต่างๆ ลดลง มีอาการข้างเคียงอื่นๆ เช่น ความจำไม่ดี นอนไม่ค่อยหลับ ซึ่งต้องมีสาเหตุมาจากการทำงานที่โอเวอร์เกินไป ไม่ได้หมายถึงสาเหตุอื่นๆ
 ผู้หญิงไทยน่าเสี่ยงกับการเป็นโรคเบิร์นเอ้าท์ ซินโดรม เพราะต้องทำงานในบ้านและนอกบ้าน วันเสาร์-อาทิตย์ ก็ไม่ได้หยุด
 คนไทยมักมีอาการเบิร์นเอ้าท์โดยไม่รู้ตัว สังคมและวัฒนธรรมไทยมีส่วนทำให้ผู้หญิงต้องยอมรับ ต้องเงียบๆ หัวอ่อน ไม่มีปากเสียง โอกาสจะเข้าข่ายเป็นเบิร์น เอ้าท์ ซินโดรมก็จะสูง การที่ผู้หญิงต้องแบกภาระมากมายก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงเป็นโรคจิต โรคเครียด โรคประสาท มากกว่าเพศชาย มักเป็นกับคนวัยทำงาน และกับวัฒนธรรมการทำงาน
การรักษา
 ให้ความสมดุลจิตใจ ตรึกตรองว่าตัวเองได้พลังมาจากไหน แล้วจะใช้พลังเพื่ออะไรบ้าง คุณภาพชีวิตของเราเป็นอย่างไร ระหว่าง 0 (แย่มาก) -10 (ดีมาก) ปัจจัยก่อให้เกิดความเครียดแล้ว จะหลีกเลี่ยงความเครียดได้อย่างไร ใช้จ่ายเงินอย่างไร จุดมุ่งหมายคือ การมีความสุขในชีวิตมากขึ้น ควรใส่ใจกับสุขภาพร่างกายและจิตใจของตัวเอง ข้อแนะนำคือ การออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง เช่น จ๊อกกิ้ง ปั่นจักรยาน โยคะ
ข้อแนะนำ
 การทำงานและการพักผ่อนควรได้สัดส่วนที่พอดี แต่ละคนอาจไม่เท่ากัน บางคนใช้เวลาทำงานไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลในการจัดความสำคัญของงานว่า งานใดควรทำก่อน ทำหลัง หากจัดสรรเวลาได้ดี ควรมีกิจกรรมคลายเครียด ควรรู้จักปฏิเสธบ้าง คนไทยมักปฏิเสธไม่เป็น ถ้ารู้จักปฏิเสธก็จะไม่เกิดอาการเบิร์นเอ้าท์ หรือเกิดช้า 
โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร.1719