
ปอดบวมในเด็ก
โรคปอดอักเสบ หรือ โรคปอดบวม คือ การอักเสบ ติดเชื้อของเนื้อปอด รวมทั้งหลอดลม และถุงลม โรคปอดบวมเป็นโรคที่พบได้ทั่วไป เกิดได้กับคนทุกวัย เป็นโรคที่ทำให้เกิดความเจ็บป่วยที่รุนแรง
บางครั้งอาจทำให้เกิดความพิการ หรือทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้ป่วยระยะสุดท้าย
สาเหตุ
เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือทั้งเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียรวมกัน ส่วนน้อยเกิดจากเชื้อรา พยาธิ อาจเกิดจากการแพ้ หรือการระคายเคืองต่อสารที่สูดดมเข้าไป ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบในเด็กส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส การสัมผัสละอองของน้ำมูก น้ำลาย หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่มีเชื้อ
ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบในเด็กที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย พบว่า เกิดจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัสมากที่สุด เพราะเชื้อแบคทีเรียตัวนี้อาจพบอยู่ในเยื่อบุโพรงจมูก ลำคอ เมื่อร่างกายอ่อนแอ หรือเยื่อบุถูกทำลาย เชื้อนิวโมคอคคัสก็จะหลุดเข้าสู่ร่างกาย หรืออาจเกิดจากการสูดสำลักเอาเชื้อก่อโรคที่อยู่บริเวณคอเข้าไปในหลอดลม ทำให้เนื้อปอดถูกทำลาย การแลกเปลี่ยนออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง ทำให้ผู้ป่วยขาดออกซิเจนได้
ผู้ป่วยปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เชื้อลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ที่สำคัญ ได้แก่ สมอง กระแสเลือด เป็นต้น ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตสูงขึ้น
อาการ
อาการของผู้ป่วยโรคปอดอักเสบแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย ขึ้นอยู่กับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ อายุของผู้ป่วย และความรุนแรงของโรค
อาการที่สำคัญของโรคปอดอักเสบในเด็กส่วนใหญ่ ได้แก่ ไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย ในบางรายอาจมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง ได้แก่ มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ร้องกวนและงอแง ผู้ป่วยบางรายจะมีหนาวสั่นได้
อาการในทารกส่วนมากจะไม่มีลักษณะเฉพาะ ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้ หรือไม่มีไข้ก็ได้ อาจมีอาการซึม อาเจียน และไม่ยอมดูดนมหรือน้ำ
ผู้ป่วยปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสมักมีอาการนำมาก่อน เช่น ไข้ น้ำมูก ไอมีเสมหะ หายใจลำบาก หายใจเร็ว จมูกบาน ซี่โครงบาน และตัวเขียวได้
ผู้ป่วยเด็กที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค
- เด็กที่อายุน้อย
- เด็กที่มีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย เด็กคลอดก่อนกำหนด
- เด็กที่มีภาวะทุโภชนาการ
- เด็กที่มีโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคทางสมอง
- เด็กที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำหรืออยู่ในชุมชนแออัด สุขาภิบาลไม่ดี
- เด็กที่ได้รับควันบุหรี่จากบุคคลรอบข้าง
- เด็กที่อยู่ในสถานรับเลี้ยงเด็กที่มีเด็กมากๆ
การปกป้องลูกน้อยจากโรคปอดอักเสบ
- การล้างมือเป็นประจำ จะช่วยลดการติดเชื้อที่สัมผัสติดมากับมือได้ หรือใส่หน้ากากอนามัย
- ควรเลี่ยงการพาเด็กเล็กไปในที่ชุมชน และสถานที่แออัดเป็นเวลานานๆ
- หากบุตรหลานของท่านมีอาการไข้ ไอ หอบ ควรรีบพามาพบแพทย์โดยเร็ว
- ปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนป้องกันโรคปอดบวม และโรคไข้หวัดใหญ่
โรงพยาบาลวิภาวดี
โทร.0-2561-1111