ไลฟ์สไตล์

'น่าน' แข็งแรง ด้วยแรงน่านนะสิ

'น่าน' แข็งแรง ด้วยแรงน่านนะสิ

20 ม.ค. 2554

การปลุกปั้น "เมืองน่าน" ให้เป็นเมืองคู่แฝดเมืองมรดกโลก "หลวงพระบาง" ด้วยมีวัฒนธรรมเชื่อมโยงถึงกันว่าน่าตื่นเต้นแล้ว ยังไม่อาจเทียบระดับอาการหูผึ่งที่รู้ว่า คนน่านกำลังขับเคลื่อนความเป็นน่าน โดยพยายามดึงเอาจิตวิญญาณที่สั่งสมมาแรมศตวรรษก้าวสู่ตำแหน่งเมืองเก

  แต่ฝันที่เฝ้าฟูมฟักอาจสลายไปราวกับเพ้อพก หากขาดแรงหนุนนำ และนั่นกำลังเป็นเรื่องท้าทายสำหรับกลุ่มนักอนุรักษ์สำคัญ นำโดยปราชญ์ท้องถิ่น อย่าง อาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษม ครูภาษาไทยและภาษาล้านนา โรงเรียนสตรีศรีน่าน ผู้มีจิตอาสาเพื่อถิ่นกำเนิดมากกว่าการสอนภาษาชาติแก่เยาวชนรุ่นหลัง และยังทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมตั้งแต่บรรจุเข้ารับราชการ เมื่อ 32 ปีก่อน

 เมื่อปี พ.ศ.2543 เขาเป็นตัวตั้งตัวตีในการผลักดันเมืองน่านสู่มรดกโลก ซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่า แม้น่านจะไม่มีนักวิชาการด้านนี้มากมาย แต่โชคดีที่คนน่านมีใจรัก มีความพร้อม และมีต้นทุนศิลปวัฒนธรรมมากมาย เพียงแต่ยังไม่ได้รับการจัดระบบที่ดี เมื่อมีการจัดทำแผนแม่บทพัฒนาเขตเมืองเก่า จึงมีการปรึกษาหารือกัน ใช้เวลากว่า 10 ปี ในการชี้ชวนภาคราชการ และประชาชน ให้หันมามองตรงกัน จนในที่สุดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มาจบลงที่การมุ่งให้น่านไปสู่ "เมืองเก่า" ก่อน เมื่อปี พ.ศ. 2548

 "แม้เราจะมีหลายชนเผ่า มีวัฒนธรรมหลากหลาย แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข นั่นคือจุดแข็งของน่าน ตัวสถาปัตยกรรมผมไม่ห่วง เพราะร่วมสมัยกับสุโขทัยอยู่แล้ว อีกทั้งความมีน้ำใจของคนน่านยิ่งไม่ห่วงเลย เพราะเราเป็นเมืองพระพุทธศาสนา สถิติทางอาชญากรรมน้อยมาก ซึ่งวัยรุ่นจะถูกบล็อกด้วยชุมชน ช่วยกันว่ากล่าวตักเตือน จะห่วงก็แต่การบริหารจัดการให้ยั่งยืนเท่านั้น" ปราชญ์ท้องถิ่นน่าน เผย 

 ทว่า แนวคิดทางวัฒนธรรมเป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ ปฏิบัติการค่อยๆ สื่อสารให้เห็นว่ามรดกทางวัฒนธรรมเป็นต้นทุนสำคัญ หากรักษาได้ก็จะทำให้น่านมีอยู่มีกินจึงค่อยๆ แพร่เข้าสู่ชุมชน เพราะลำพังการทำเกษตรกรรม น่านไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ซ้ำการเคลื่อนย้ายของหนุ่มสาวก็มีมาก การจัดการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมจึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะสร้างความยั่งยืนได้

  สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมในวันนี้ คือ สายไฟฟ้าที่เคยระเกะระกะสายตา ก็ดำดิ่งลงใต้ดิน มีการย้ายเทศบาลออกไปนอกเมือง สภาวัฒนธรรมจังหวัดทำหนังสือถึงผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ดีแทค และเอไอเอส ให้ย้ายเสาสัญญาณโทรศัพท์ออกนอกเขตวัดพระธาตุแช่แห้ง ทำให้ทัศนียภาพของวัดดีขึ้น

 รวมถึงการรื้ออาคารบริเวณหน้าวัดภูมินทร์เพื่อให้เป็นลานวัฒนธรรม มีการอบรมมัคคุเทศก์น้อย เริ่มทำหลักสูตรการเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมสู่โรงเรียนและชุมชน ทั้งในลักษณะทางตรงและค่อยๆ แทรกซึม โดยดึงองค์การบริหารส่วนตำบลมามีส่วนร่วม ด้วยเชื่อว่าหากทุก อบต.เข้มแข็ง จังหวัดน่านก็จะเข้มแข็ง

 "ชุมชนต้องมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ต้องให้รู้ว่าเรากำลังทำอะไร และจะเป็นอะไร ไม่อย่างนั้นแรงเสียดทานจะสูงมาก ที่ผ่านมาก็มีบ้างที่ต่อต้าน แต่ก็เป็นอุปสรรคเล็กน้อย อย่างการเข้าไปช่วยบริหารจัดการวัดสำคัญๆ ในเขตเมืองเก่า คณะสงฆ์ท่านก็ร่วมมืออย่างดี ภาคชุมชนก็เห็นด้วย ท้อไหม บางครั้งท้อ แต่ถอยไม่ได้ เพราะเราลงมาขนาดนี้แล้ว ยิ่งตัวเองเป็นคนประสานด้วยแล้วยิ่งล้มเลิกไม่ได้ ชาวน่านกว่า 4 แสนคนไม่จำเป็นต้องรู้ยุทธศาสตร์ทุกคน แต่ครู นักเรียน เยาวชนคนน่านต้องรู้เรื่องนี้ เพื่อปูไปสู่การเป็นเมืองมรดกโลก ตอนนี้ขอเป็นมรดกน่าน มรดกไทยก่อน" อ.สมเจตน์ บอกความตั้งใจ

 พร้อมกับมองไกลว่าในอนาคตอาจจะขอความร่วมมือนักท่องเที่ยว หากแวะเที่ยวน่านให้นุ่งผ้าไทย หรือผ้าพื้นเมือง จะทำให้เมืองมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม เพราะระยะ 3 ปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวทะลักเข้าน่าน จนผู้ประกอบการตั้งตัวไม่ทัน เพราะเคยเป็นเมืองปิดมาก่อน

 และเพื่อไม่ให้เมืองบูมแบบไร้การล้อมกรอบ ทุกวันนี้จึงมีการใช้มาตรการทางกฎหมาย และมาตรการทางชุมชนชะลอไว้ มีเทศบัญญัติในเรื่องการประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ห้ามมีสถานเริงรมย์ในบริเวณเมืองเก่า ห้ามสร้างตึกสูงเกิน 12 เมตร แต่นั่นก็ยังไม่เบาใจเพราะสิ่งที่คนน่านกำลังวิตกมากขณะนี้คือการรุกล้ำเข้ามาของนายทุนที่มุ่งแสวงหาแต่กำไร ซึ่งบทเรียนที่เมืองปายมีให้เห็นมาแล้ว

 "การให้องค์ความรู้เพื่อส่งไม้ต่อให้คนรุ่นหลังต้องรีบทำ ถึงบอกว่าต้องมีหลักสูตรเกี่ยวกับการจัดการสิ่งแวดล้อมและศิลปกรรม เพื่อสานต่อฐานรากของท้องถิ่น ตอนนี้ยังไม่เห็นที่ไหนเปิด อย่างน้อยจะเรียนอะไรก็ตามต้องรักท้องถิ่น รักรากเหง้าของตัวเอง นั่นคือการรักชาติ แล้วจะเป็นดัชนีชี้วัดความสุขที่ยั่งยืน" ครูผู้มีจิตอาสา ฝากไว้เป็นแง่คิด