ไลฟ์สไตล์

พุทธศาสนาสายธิเบต

พุทธศาสนาสายธิเบต

18 ม.ค. 2554

"พิธีมนตราภิเษก" ไม่ค่อยคุ้นกับคำนี้ในบริบทพุทธศาสนาในประเทศไทย เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๔ ที่ผ่านมา "ท่านพักชก รินโปเช" พระอาจารย์ชาวทิเบต มาจากเนปาล ได้มาทำพิธีมนตราภิเษกให้องค์พระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุ ที่พระวิหารพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุ ซึ่งเป็นพระพุ

  พิธีมนตราภิเษกครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีพระระดับผู้นำของทิเบต ที่มาประกอบพิธีมนตราภิเษกพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุ
 ขอแนะนำ "ท่านพักชก รินโปเช" เล็กน้อย ในพุทธศาสนาสายทิเบตนั้น มีนิกายใหญ่อยู่ ๔ นิกาย คือ นิงมะ การ์จุ สักยะ และเกลุกปะ แต่ละนิกายจะมีพระภิกษุที่เป็นหัวหน้าของนิกายนั้นๆ และในสายทิเบตเชื่อกันว่าเมื่อท่านมรณภาพไปแล้วจะกลับชาติมาเกิด เพื่อทำงานในตำแหน่งเดิมที่ทำค้างไว้ 

 ท่านพักชก ริมโปเช เป็นหนึ่งในอาจารย์ที่กลับชาติมาเกิด และได้รับการยอมรับโดยคณะสงฆ์ในนิกายของนิงมาปะ ซึ่งเป็นนิกายเดิม ท่านเป็นพระหนุ่ม วัยไม่เกิน ๓๐ ผู้เขียนได้มีโอกาสแปลถวายท่านหลายครั้ง ท่านมีองค์ความรู้เป็นที่น่าเคารพทีเดียว

     ในอดีต ดินแดนทิเบต มีความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนามาก มีเอกลักษณ์เฉพาะคือ เป็นการผสมผสานระหว่างพุทธศาสนานิกายมหายาน ทั้งจากอินเดียและจีน ได้รับอิทธิพลจากพุทธศานานิกายตันตระของอินเดีย จนเกิดเป็นนิกายวัชรยานขึ้น

 ประชาชนใฝ่ธรรมะ เมื่อมีงานบุญ ประชาชนจะเดินทางไปแสวงบุญ แม้จะไกลสักเพียงใด ซึ่งปัจจุบันก็มีให้เห็นอยู่มากมาย แต่เมื่อตกอยู่ในการปกครองของจีน วัดนับพันแห่งทั่วนครลาซา เหลือไม่ถึงหนึ่งร้อยแห่งในปัจจุบัน จนแทบไม่เหลือความเจริญรุ่งเรืองในอดีต

 ภิกษุถือปาติโมกข์ ตามนิกายมูลสรวาสติวาท มีสิกขาบท ๒๕๓ ข้อ มีความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าต่างจากนิกายเถรวาท คือ นับถือพระธยานิพุทธะ ๕ พระองค์ ได้แก่ พระไวโรจนะพุทธะ พระอักโษภยะพุทธะ พระอมิตาภะพุทธะ พระอโมฆสิทธิพุทธะ และพระรัตนสัมภวะพุทธะ

 นอกจากนี้ยังนับถือพระโพธิสัตว์อีกหลายพระองค์ เช่น พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ และพระชายา คือ พระนางตารา พระมัญชุศรีโพธิสัตว์ และพระวัชรปาณิโพธิสัตว์ เป็นต้น

 ครั้งนี้ ท่านเดินทางมาบรรยายหลายแห่ง หลายที่ในประเทศไทย แต่วันที่ ๑๖ ที่ท่านได้กรุณามาทำพิธีมนตราภิเษกให้นี้ นับเป็นครั้งแรกในเมืองไทย

 ผู้เขียนจะมีโอกาสได้แปลถวายท่านอีกครั้ง ในวันศุกร์ที่ ๒๑ ในรายการ "ยกวัดมาไว้ที่ ซีพี"  อาคารซีพี ถนนสีลม ท่านผู้อ่านที่สนใจ ติดตามฟังธรรมบรรยายของท่านได้ในวันดังกล่าว

"ธัมมนันทา"
www.thaibhikkhunis.org