Lifestyle

เที่ยวย็อกยาการ์ตา หลังเมราปีหายพิโรธ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หากเอ่ยถึงย็อกยาการ์ตา ภาพแรกที่แวบมาคือมหาสถูปบุโรพุทโธ พุทธศาสนสถานใหญ่ที่สุดในโลก ที่ชาวพุทธอยากจะได้ไปชมและกราบไหว้สักครั้งหากมีโอกาส

 แต่ในระยะหลังเมื่อพูดถึงย็อกยาการ์ตา ศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรมชวา ที่ชาวอินโดนีเซียเรียกสั้นๆ ว่า ย็อกยา กลับมีภาพของภูเขาไฟยักษ์เมราปีเข้ามาซ้อนกัน เพราะเป็นข่าวใหญ่ภัยธรรมชาติเมื่อปีที่แล้ว เมราปีค่อยๆ ปะทุจนระเบิดรุนแรงเมื่อช่วงพฤศจิกายน สุดท้าย ทำให้ชาวบ้านบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก และไร้ที่อยู่อาศัยหลายแสนคน ตลอดจนกระทบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญ

 จึงเป็นที่มาของการเป็นหนึ่งในสื่อมวลชน ที่ได้รับเชิญจากสายการบินการูดา สายการบินแห่งชาติของอินโดนีเซีย และการท่องเที่ยวย็อกยาการ์ตา ตลอดจนทุกภาคส่วนด้านการท่องเที่ยวในท้องถิ่น ที่ร่วมมือร่วมใจฟื้นฟูการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ด้วยผู้คนยังติดภาพเมราปี เกรงว่าไปแล้วจะไม่ปลอดภัย แต่เมื่อไปถึง ขอบอกท้องฟ้าที่นั่นสดใสมาก ที่ต้องหลบเลี่ยงไม่ใช่ฝุ่นเถ้าภูเขาไฟเพราะการเก็บกวาดชำระล้าง ใช้เวลาไม่กี่วันก็สะอาดแล้ว แต่ควันบุหรี่ต่างหากที่ต้องคอยหลบให้ดี

 ย็อกยาการ์ตา เป็นเมืองหลวงของเขตปกครองพิเศษย็อกยาการ์ตา ซึ่งอยู่ทางใต้ของจังหวัดชวากลาง ประกอบด้วย 5 โคตาหรือเมือง คือ สเลมาน บันตุล กุนุงคิดุล กูลองโปรโก และเมืองย็อกยา

 ก่อนได้ไปยลความอลังการของบุโรพุทโธ วัดพราหมนันต์ และวังสุลต่าน สามสถานที่แม่เหล็กของย็อกยาตามตารางที่จัดไว้ ทางผู้จัดใจดี ได้พาพวกเราไปดูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภูเขาไฟเมราปีตามที่ร้องขอก่อนเป็นแห่งแรก

 เมราปี จริงๆ แล้วตั้งอยู่ในสเลมาน ห่างจากย็อกยาถึง 40 กิโลเมตร
 หลังพิโรธจนนิ่งแล้ว ซากความเสียหายจากเมราปีก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวกลายๆ สำหรับคนท้องถิ่นไป เพราะถือเป็นประวัติศาสตร์ธรรมชาติหน้าหนึ่ง เป็นการระเบิดครั้งใหญ่ของภูเขาไฟในชั่วอายุคน

 การจะเข้าไปใกล้ปล่องเมราปีต้องใช้รถจักรยานยนต์และได้รับอนุญาตจากทางการก่อน เพราะเป็นเขตภัยพิบัติ ใกล้ที่สุดที่ไปได้คือ ห่างจากภูเขาไฟประมาณ 4 กม. ซึ่ง ณ จุดนั้นและระหว่างทางที่ขึ้นไป มากพอแล้วสำหรับการได้เห็นสภาพบ้านเรือนที่เหลือแต่โครงไหม้ดำ เป็นวงกว้างสุดลูกหูลูกตา ร่องหลุมยาวขนาดมหึมาที่อดีตเคยเป็นแม่น้ำ แต่เจอไอร้อนสูงจากลาวาแผดเผาจนแห้งเหือดก่อนที่หินร้อนไหลตามมาทับถม  สัมผัสได้ถึงพลังอำนาจของภูเขาไฟ ภัยธรรมชาติที่คนไทยไม่คุ้นเคย

 กระนั้นเมื่อไถ่ถามไกด์ท้องถิ่นว่า คนอินโดฯ คิดอย่างไรกับภูเขาไฟ คำตอบคือ เคารพ เพราะภูเขาไฟให้ชีวิต ให้ดินที่อุดมสมบูรณ์ ให้ข้าวให้ผลไม้ ซึ่งเมื่อหันไปมองพื้นที่โดยรอบอีกครั้งหนึ่ง ก็จริงอย่างว่า หลังผ่านไปไม่นาน มีต้นไม้เล็กๆ สีเขียวขึ้นเต็มไปหมดแล้ว และตลอดข้างทางที่นั่งรถผ่านก็ได้เห็นนาข้าว ต้นสาลัก ผลไม้ประจำชาติแสนอร่อยคล้ายสละบ้านเรา และต้นไม้นานาพันธุ์เขียวขจี แทบไม่มีที่ดินว่างเลย เพราะดินที่อุดมนั่นเอง

 อันที่จริงแล้ว ทางการอินโดฯ มีการบริหารจัดการเตือนภัยภูเขาไฟที่ดี หากชาวบ้านเชื่อฟังสักนิด ไม่กลับเข้าบ้านเพราะห่วงทรัพย์สินสัตว์เลี้ยงในเวลาที่ยังไม่สมควร เชื่อว่าจะไม่มีใครตายแม้แต่คนเดียว

 เช้าวันรุ่งขึ้นออกตระเวนตั้งแต่เช้า เริ่มจากวังสุลต่านเป็นที่แรก ตั้งอยู่ปลายสุดของถนนมาริโบโว แหล่งช็อปปิ้งของย็อกยา

 การที่ย็อกยาได้สถานะเขตปกครองพิเศษ สืบเนื่องจากปูมหลังประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและสถานภาพพิเศษของสุลต่านราชวงศ์ฮาเมงกูบูโวโน ที่ปกครองอาณาจักรแห่งนี้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1749 ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจ ดูแลทุกข์สุขประชาชนไม่เคยละทิ้งตั้งแต่การยึดครองของเจ้าอาณานิคมดัชต์และการปฏิวัติ ทำให้ชาวย็อกยาเทิดทูนและรักสุลต่านมาก รัฐบาลกลางจาการ์ตาพยายามลดอำนาจสุลต่าน ด้วยการเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งผู้ว่าการโดยตรง แต่คนที่นั่น ต้องการให้สุลต่านดำรงตำแหน่งผู้ว่าการโดยอัตโนมัติ ปัจจุบัน สุลต่านฮาเมงกูบูโวโนที่ 10 ทรงดำรงตำแหน่งนี้อยู่

 วังสุลต่าน เป็นสถาปัตยกรรมผสมชวาและดัชต์ สร้างในปี ค.ศ.1755 บนพื้นที่ 14 ตร.กม. แยกเป็นห้องจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ สิ่งของล้ำค่าบอกเล่าความเป็นมาและประวัติศาสตร์ของกษัตริย์ย็อกยา แนะนำว่าควรจัดเวลาสำหรับการเที่ยวชมวังแห่งนี้นานๆ หลายชั่วโมงหรืออาจเป็นวันๆ เพราะมีรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ให้ศึกษาเยอะมาก        จากนั้น ออกนอกเมืองไปบูโรบูโด หรือ บุโรพุทโธ ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างในยุคศตวรรษที่ 8 เก่าแก่กว่านครวัดเสียอีก ก่อสร้างด้วยหินภูเขาไฟประมาณ 2 ล้านตารางฟุตบนฐานสี่เหลี่ยม เป็นรูปทรงพีระมิด ลดหลั่นกัน 8 ชั้น ชั้นสูงสุดมีสถูปกลางตั้งสูงจากฐานขึ้นไป 35 เมตร บุโรพุทโธ เป็นเสมือนการจำลองจักรวาลในพุทธศาสนาที่เป็นนามธรรมให้มองเห็นเป็นรูปธรรม ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2534 การทำความสะอาดทรายจากภูเขาไฟเมราปีเวลานี้ก็ใกล้เสร็จสิ้น พร้อมเปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นชมได้อีกครั้ง

 วัดพราหมนันต์ เทวสถานฮินดูลัทธิไศวนิกาย ที่สูงและสวยงามที่สุดในโลก ตั้งอยู่ในหมู่บ้านชื่อเดียวกัน สันนิษฐานว่าสร้างเสร็จราวคริสต์ศตวรรษที่ 9 หลังจากบุโรพุทโธประมาณร้อยปี ชั้นนอกของวัดรายรอบไปด้วยซากหักพักของปรางค์กว่าสองร้อยองค์ที่พังทลายจากแผ่นดินไหว ที่สมมติเองว่าหากสามารถฟื้นฟูขึ้นมาได้อีกครั้ง คงจะยิ่งใหญ่อลังการมากเลยทีเดียว

 จากนั้นเดินทางต่อไปยัง ราตู โบโก แหล่งโบราณคดีและสถาปัตยกรรมผสมฮินดูและพุทธแห่งเดียวในอินโดนีเซียห่างจากวัดพราหมนันต์ประมาณ 3 กม. เป็นพระตำหนักโบราณในยุคราชวงศ์มาตาราม โชคไม่ดีวันที่ไป ฝนตกพรำๆ เลยอดเห็นวิวพระอาทิตย์ตกที่ไกด์บอกว่าแสงพระอาทิตย์ลอดผ่านประตูปราสาทสวยงามมาก

 ปิดท้ายของการเที่ยวย็อกยา ที่โรงละครหลังปราสาทพราหมนันต์ ชมนาฏศิลป์ชวาเรื่องรามเกียรติ์ ศิลปะร่ายรำเก่าแก่ที่เปิดการแสดงมาตั้งแต่ปี 1961 อาจมีเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายเท่านั้นที่เปลี่ยนเป็นมีสีสันมากขึ้นตามยุคสมัย ตลอดการแสดงที่ไม่มีบทพูดเลยสองชั่วโมงนั้น ไม่มีนาทีไหนที่น่าเบื่อเลย การร่ายรำแบบชวา มีทั้งความอ่อนช้อย ลีลาช้าเร็วสอดรับกับดนตรีที่เล่นและร้องสดๆ ตัวละครอย่างหนุมาน หรือยักษ์นั้น ก็ร่ายรำชนิดที่เห็นแล้วเหนื่อยแทน กับยังมีบทบู๊ที่ดูแล้วทึ่ง มีตัวตลกที่ดูแล้วหัวเราะไปกับท่าทาง ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ