
พระโพธิสัตว์ตารา กับอีกหนึ่งวันดี ๆ
ช่วงบ่ายวันพุธที่ 25 มีนาคม ที่ผ่านมา มูลนิธิพันดาราได้ร่วมกับเสถียรธรรมสถานเชิญผู้สนใจ เข้าร่วมปฏิบัติบูชาพระโพธิสัตว์ตารา และ เข้าร่วมในพิธีมนตราภิเษก ณ เสถียรธรรมสถาน
นำโดย พระอาจารย์กุงกา ซังโป ริมโปเช (Kunga Sangbo Rinpoche) จากวัดเจคุนโดและวัดต้าซี่กงในประเทศทิเบต โดยมี รศ. ดร. กฤษดาวรรณ หงศ์ลดารมภ์ หญิงไทยหัวใจทิเบต เป็นผู้ประสานงานและล่ามที่ทำให้บรรยากาศวันนั้นเป็นกัลยาณมิตรอย่างมาก
พิธีมนตราภิเษกนั้นตรงกับภาษาอังกฤษว่า empowerment หรือ initiation เป็นพิธีตามประเพณีศาสนาพุทธวัชรยาน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมพิธีได้รับพรจากพระโพธิสัตว์และพระพุทธเจ้าผ่านพระอาจารย์ผู้ทำพิธีผู้ได้รับการถ่ายทอดคำสอนตามสายการปฏิบัติธรรม การเข้าร่วมพิธีนี้จะทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถสวดคาถาหัวใจของพระองค์และนั่งสมาธิถึงพระองค์ได้ อานิสงส์ของการได้รับมนตราภิเษก ทำให้ชีวิตมีความเจริญรุ่งเรือง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และได้บ่มเพาะความเมตตากรุณา
ซึ่งก่อนการเข้าร่วมพิธี ผู้ปฏิบัติธรรมควรตั้งจิตว่าจะเข้าร่วมพิธีเพื่อประโยชน์ของตนเองและสัตว์ทั้งหลาย ให้การได้รับมนตราภิเษกเป็นดังการหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งการตรัสรู้ธรรม เมื่อได้รับมนตราภิเษกพระแม่ตาราแล้ว ผู้ปฏิบัติธรรมควรหมั่นสวดคาถาหัวใจและนั่งสมาธิถึงพระองค์เป็นนิจ หากได้ทำเช่นนี้ ผู้ปฏิบัติธรรมก็จะพบแต่ความสุขในชีวิตและได้รับผลของการปฏิบัติบูชาพระโพธิสัตว์
ในวันนั้นมีผู้สนใจเข้าร่วมพิธีและฟังการแสดงธรรมของ พระอาจารย์กุงกา ซังโป ริมโปเช เนืองแน่น
“มีความปีติยินดีอย่างมากที่ได้มาที่นี่ในวันนี้ พวกเราทุกคนคงได้เคยทำบุญร่วมกันมาก่อนจึงได้มาอยู่พร้อมหน้ากันในวันนี้...สมัยพุทธกาล เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก มีเพียงปัญจวัคคีย์ มีเพียงบุคคลห้าคน แต่วันนี้ธรรมของพระองค์ได้เผยแผ่ไป และมีคนฟังธรรมมากมาย และธรรมที่จะแสดงในวันนี้ยังเป็นธรรมะเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ตารา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น พวกเราจึงมีโอกาสได้ฟังธรรม ธรรมะเผยแผ่มาอย่างไม่ขาดสาย แล้วเราก็มีบุญที่ได้มาฟังธรรมด้วยกัน ซึ่งก็เป็นผลของบุญเก่าที่เราได้ร่วมทำกันมา
“พิธีกรรมที่เรามาทำร่วมกันในวันนี้เรียกว่า พิธีมนตราภิเษก ในภาษาทิเบตเรียกว่า วัง วัง แปลว่า อำนาจ คือขออำนาจ ขอพลัง และพลังที่พูดถึงนี้คือพลังแห่งความกรุณา เราจะขอพลังของพระโพธิสัตว์ สิ่งสำคัญในการปฏิบัติธรรม ไม่ว่าเราจะร่วมพิธีกรรม หรือฟังการบรรยายธรรม หรือปฏิบัติใดๆ ในชีวิตประจำวัน พระพุทธเจ้าทรงสอนเราให้มีทัศนคติที่ถูกต้อง ซึ่งก็คือความกรุณา
เพราะฉะนั้นในการฟังธรรมนั้น เราต้องการภาชนะที่ดีที่จะรองรับพระธรรม และอีกทัศนคติหนึ่งที่เราควรจะมี ซึ่งเป็นทัศนคติสำคัญในพระพุทธศาสนาแบบทิเบตก็ คือการมองตัวเองว่าเป็นคนป่วย พระพุทธเจ้าซึ่งในที่นี้มีอาตมาเป็นผู้ถ่ายทอดคำสอน อาตมาเป็นเหมือนหมอที่จะมารักษาโรค และพระธรรมคือโอสถ เมื่อเราได้พบหมอ แล้วหมอก็เป็นคนที่เก่ง มีความสามารถ เราก็รักษาโรคได้ แต่ถ้าเรามีโรค แล้วเราไม่พบหมอ เราจะไม่รู้ว่าควรใช้ยาขนานไหนในการรักษาโรค ถามว่าเราป่วยเป็นโรคอะไร เราป่วยเป็นโรคแห่งกิเลส ประกอบด้วยโลภะ โทสะ โมหะ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องการยารักษาโรค และเราต้องการหมอ พระพุทธจ้าทรงกล่าวว่า เมื่อเราพบหมอแล้ว เมื่อเราได้ยาแล้ว ยาคือพระธรรมอันประเสริฐ เราต้องหมั่นปฏิบัติให้เป็นนิจศีล เราต้องขวนขวายให้เราหลุดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บนี้ พอเราเข้าใจในเรื่องทัศนคติแล้ว เราก็จะมุ่งสู่ประเด็นเรื่องความกรุณา เพราะพิธีกรรมที่ทำในวันนี้จะเน้นเรื่องความกรุณาเป็นหลัก เพราะสัตว์โลกทั้งหลายมีจริตที่แตกต่างกัน มีความคิดที่แตกต่างกัน มีการมองโลก การรับรู้สิ่งต่างๆ ที่แตกต่างกัน จึงมีพระธรรมขันธ์มากมาย มีมรรควิธีหลายอย่าง เพื่อที่จะนำสัตว์โลกให้ตั้งอยู่ในธรรม
และมรรควิธีหลักที่เราทราบในพระพุทธศาสนาคือเถรวาท มหายาน และวัชรยาน สามประเด็นสำคัญในฝ่ายมหายานและวัชรยานคือ หนึ่ง ความเมตตา การปรารถนาให้สัตว์โลกทั้งหลาย ไม่เว้นแม้แต่หนึ่งเดียว มีแต่ความสุข สอง ความกรุณา คือความกรุณาให้สัตว์ทั้งหลายที่นับจำนวนไม่ถ้วน ปราศจากความทุกข์ และสามประเด็นหลักที่เป็นหัวใจของการปฏิบัติธรรมในสายนี้ ซึ่งจริงๆ ก็เป็นหัวใจของการปฏิบัติธรรมของทุกสายในพระพุทธศาสนา คือความปรารถนาให้ทุกๆ ชีวิตได้เข้าถึงพระสัมมาสัมโพธิญาณ ได้ตรัสรู้ธรรม เพราะการตรัสรู้ธรรมคือการได้ความสุขที่ไม่มีวันเสื่อมสลาย และการปราศจากความทุกข์อันสมบูรณ์ แต่การที่เราจะตั้งจิตให้สัตว์ทั้งหลายได้เข้าถึงการตรัสรู้ เป็นความปรารถนาที่ออกจากก้นบึ้งของหัวใจจริงๆ เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก เพราะเรายังยึดติดกับตัวตนของเราอยู่มาก เรามีอะไรเราก็มักจะบอกว่านี่เป็นของฉัน นี่คือบ้านของฉัน นี่คือเพื่อนของฉัน
แต่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงตัวอย่างอันงดงาม ตัวอย่างอันยิ่งใหญ่ ที่เห็นว่าการตั้งจิตเพื่อผู้อื่นนั้นไม่ได้ยากเกินกว่าจะทำได้ เหมือนกับการเรียนในทางโลก ถ้าเราไม่รู้สิ่งใด แล้วเราขวนขวาย เรามีวิริยะ เราก็จะเรียนได้สำเร็จ การเรียนในทางธรรม โดยเฉพาะการทำสมาธิ เพื่อให้ตัวเราได้เข้าถึงธรรมะชั้นสูงเพื่อที่จะทำประโยชน์ให้ผู้อื่น อาจจะยากลำบากในชั้นต้น แต่ถ้าเราทำจนเป็นนิสัย เป็นเวลานาน สักวันหนึ่งเราก็จะสามารถเข้าถึงพระธรรมอันสูงส่งนั้น แล้วเราก็ทำสามาธิ เน้นความเมตตา เน้นความกรุณา ด้วยจิตใจที่อยากจะให้ทุกๆ ชีวิตได้เข้าถึงพระสัมมาสัมโพธิญาณ หากเราทำได้ดังนี้ เราก็จะปฏิบัติได้เยี่ยงพระพุทธองค์”
คนทุกคนในที่นั้น...ในวันนั้น มิได้พบกันเป็นครั้งแรก เพียงแต่เราระลึกชาติไม่ได้ว่าเราได้พบกันมากี่ชาติแล้ว ฉะนั้นการได้พบกันในชาตินี้น่าจะเป็นพลังที่จะทำให้พวกเราได้ก้าวย่างต่อไปอย่างมีกรุณาแห่งหัวใจในชีวิตของเราที่จะรับใช้ผู้อื่น การมาร่วมพิธีของทุกคนนั้น อาจมาด้วยวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน หากก็ได้มาอยู่ในที่เดียวกัน และมีความตั้งใจที่จะใช้การมาในครั้งนั้นเพื่อจะได้ทำกุศลกรรมร่วมกัน และเดินทางไปด้วยกันด้วยดี...อย่างมีกรุณากันอย่างลึกซึ้ง และพร้อมที่จะอุทิศชีวิตของเราเพื่อรับใช้ผู้อื่นบ้าง
วันนี้จึงนับเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์ของก้าวย่างขึ้นทศวรรษที่สามของเสถียรธรรมสถานที่น่าสนใจอีกวันหนึ่ง
"แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต"
www.satira-dhammasathan.org