
"หนอนหนังสือพิมพ์"รู้ข่าวสาร-ได้บทเรียนชีวิต
"การอ่านหนังสือพิมพ์ หนังสือต่างๆ ทำให้ได้รับความรู้ ความคิด รู้ถึงการกระทำของผู้อื่นผ่านตัวละครของเหตุการณ์ต่างๆ ในข่าว ทำไปแล้วจะมีผลยังไง สอนให้รู้จักชีวิตในหลายแง่มุม เป็นบทเรียนของชีวิต รู้ว่าอะไรควรทำ ไม่ควรทำ"
ข้อสรุปถึงประโยชน์การอ่านของนายธิปกรักอำนวยกิจ หรือ"น้องเบน" วัย16 ปี นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ปทุมวัน หนุ่มน้อยคนนี้เป็นหนึ่งในเด็กหัวกะทิด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของไทย ที่กวาดรางวัลระดับนานาชาติในหลายเวที ช่วงที่เรียนชั้น ป.6 โรงเรียนมารีย์อนุสรณ์ จ.บุรีรัมย์ ได้รางวัล เช่น รางวัลเหรียญทอง ประเภทบุคคลในวิชาวิทยาศาสตร์ ในเวที "International Mathematics and Science Olympiad for Primary Schools (IMSO) ที่อินโดนีเซีย
ถัดมาปี2549 ตอนเรียน ม.ต้น โรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวัน ได้เหรียญทองประเภทบุคคลและประเภททีมในวิชาวิทยาศาสตร์ (ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา) ในการแข่งขัน "International Junior Science Olympiad (IJSO)" ที่เมืองเซาเปาโล บราซิล ต่อมาเดือนสิงหาคม 2550 คว้าเหรียญทองวิชาคณิตศาสตร์ประเภทบุคคลใน "Asia Inter-Cities Teenagers Mathematics Invitation Competition (AITMO)" ที่ฮ่องกง แต่ความโดดเด่นในด้านวิชาการเป็นเพียงส่วนหนึ่งในความเป็นตัวตนของเขาเท่านั้น อีกแง่มุมหนึ่งเขาเป็น "หนอนหนังสือ" ที่ไม่ธรรมดาเพราะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ต้องอ่านเป็นประจำทุกวันตั้งแต่เรียนอนุบาลจนถึงปัจจุบันก็คือ "หนังสือพิมพ์" แม้จะเรียนหนักก็ต้องหาเวลาอ่านหนังสือพิมพ์
"ธิปก" เริ่มหัดอ่านหนังสือพิมพ์ตอนอยู่ชั้นอนุบาล 2 แต่อ่านเป็นประโยคไม่ได้ จึงหัดอ่านพาดหัวข่าวแบบสะกดเป็นคำและออกเสียงเป็นประโยคไปก่อน มาอ่านข่าวรู้เรื่องเมื่อเรียนชั้นประถม จนถึงทุกวันนี้หลังเลิกเรียน เมื่อกลับมาถึงบ้านต้องใช้เวลาวันละครึ่งชั่วโมงนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ ไล่ตั้งแต่หน้า 1, 2, 3 และบทความข่าวที่ชอบอ่านมากเป็นพิเศษคือ ข่าวการเมือง นอกจากหนังสือพิมพ์แล้ว ยังชอบอ่านหนังสือต่างๆ เช่น ความสุขของกะทิ, แฮร์รี่พอตเตอร์, อยู่กับก๋ง, นิยายชุดสามเกลอ พล นิกร กิมหงวน ฯลฯ
"ตอนเรียนอนุบาลที่เริ่มอ่านหนังสือพิมพ์ เพราะเห็นพ่ออ่านก็เลยหยิบมาลองอ่านดูบ้าง จนถึงทุกวันนี้ผมยังอ่านหนังสือพิมพ์ทุกวัน จะได้รู้ข่าวสารบ้านเมือง ตั้งแต่อยู่ชั้นประถมคุณพ่อมักซื้อหนังสือทั่วไป แม่ซื้อตำราวิชาการ ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศมาให้อ่าน" ธิปกเล่าถึงสาเหตุที่รักการอ่าน
"การุญ รักอำนวยกิจ" วัย45 ปี พ่อของ "ธิปก" เล่าว่า ทำธุรกิจโรงน้ำแข็ง มีลูก 3 คน คือ น้องเบน นายธิปก น้องบิวด.ช.อิงครัต ชั้น ม.3 โรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวัน และน้องบีม ด.ญ.ธีมา ชั้น ป.5 โรงเรียนมารีย์อนุสรณ์ จ.บุรีรัมย์ ได้ปลูกฝังให้ลูกทุกคนรักการอ่าน จะคอยซื้อหนังสือให้ลูกอ่านตั้งแต่ยังเล็กๆ เริ่มจากหนังสือที่อ่านง่ายๆก่อน แล้วค่อยยากขึ้นตามวัยของลูก
การุญยกตัวอย่าง"ธิปก" เมื่ออยู่อนุบาลซื้อหนังสือฝึกอ่าน ก ข ค และ A B C มาให้ก่อนลูกตั้งใจหัดอ่าน มีสมาธิดี และชอบอ่านหนังสือพิมพ์ จึงซื้อการ์ตูนโดราเอมอนที่สอดแทรกความรู้วิชาต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์มาให้ลูกอ่าน เมื่ออยู่ชั้นประถมซื้อหนังสือวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และหนังสือทั่วไป เช่น นิยายชุดสามเกลอ พล นิกร กิมหงวนมาให้ลูกอ่าน และสอนให้เพื่อนของลูกๆ เป็นนักอ่าน ด้วยการให้ลูกซื้อหนังสือเป็นของขวัญวันเกิดให้แก่เพื่อน เพราะเชื่อว่า "หนังสือเป็นของขวัญที่มีคุณค่าและมีประโยชน์มากที่สุด"
"ผมนั่งอ่านหนังสือพิมพ์และธิปกอยู่ด้วย แปลกใจมากที่เขานั่งอ่านหนังสือพิมพ์ได้เป็นชั่วโมงทั้งที่อยู่อนุบาลและติดเป็นนิสัยจนโต ก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะลูกได้พัฒนาภาษา ช่วงอนุบาลเขาอ่านหนังสือได้เร็ว ทำข้อสอบเสร็จก่อนเพื่อนๆ การอ่านหนังสือพิมพ์มีประโยชน์ นอกจากรู้ข่าวสารบ้านเมือง ทันโลกแล้ว ลูกยังได้ดึงความรู้มาใช้ในการเรียน รู้จักวิเคราะห์เชื่อมโยงข้อมูล จับประเด็นใจความสำคัญเป็น และเขียนหนังสือได้ดี สั้น กระชับ ได้ใจความ มีความเป็นเหตุเป็นผล"
"การุญ" เชื่อมั่นว่าการเลี้ยงลูกให้เป็นคนเก่งและคนดีนั้น กรรมพันธุ์เป็นเพียงส่วนหนึ่ง สิ่งสำคัญที่สุดพ่อแม่ต้องดูแลเอาใจใส่ลูกตั้งแต่เล็กๆ ต่อเนื่องไปจนโต และไม่ควรให้ลูกพัฒนาด้านวิชาการอย่างเดียว ต้องให้พัฒนาด้านอื่นๆ ด้วย จึงให้ "ธิปก" เล่นกีฬาและเรียนดนตรี เช่น อิเล็กโทน ซออู้ และเรียนศิลปะ
"ผมไม่บังคับให้ลูกเรียนในสิ่งที่ผมต้องการ แต่ให้เขาเรียนในสิ่งที่ชอบ สอนให้ลูกรู้ว่า ชีวิตคนเรามีหลายด้าน เวลาไปแข่งขันในเวทีต่างๆ ก็บอกเสมอ การแพ้ชนะไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด การได้ร่วมแข่งขันต่างหากที่สำคัญ ทำให้เราตื่นตัวและพัฒนาตัวเองตลอดเวลา คนเราต้องรู้จักแพ้ชนะ ชนะคือรางวัล แพ้ให้เป็น ไม่มีใครชนะตลอด"
สอดรับกับ"จารุมาศ รักอำนวยกิจ" วัย41 ปี แม่ของ "ธิปก" อดีตนางพยาบาล บอกว่า ธิปกชอบอ่านหนังสือพิมพ์ และอ่านได้ตั้งแต่อยู่อนุบาล ช่วง ม.ต้นที่เข้าค่ายโอลิมปิกวิชาการ เมื่อเข้าค่ายเสร็จกลับมาถึงบ้านก็ถามหาหนังสือพิมพ์
"เชื่อในหลักการพัฒนาเด็กให้เก่งนั้นอยู่ที่พรแสวง 99% พรสวรรค์ 1% จึงดูแลลูกอย่างเต็มที่และให้เขาได้เรียนในสิ่งชอบ"จารุมาศบอกอย่างเชื่อมั่น
นับเป็นอีกหนึ่งครอบครัวที่มุ่งส่งเสริมลูกให้เป็น"นักอ่าน" กระทั่งเป็นหนอนหนังสือพิมพ์ในยุคดิจิทัล ขณะที่เด็กรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ติดอินเทอร์เน็ตงอมแงม สะท้อนให้เห็นว่า หนังสือพิมพ์ยังคงมีเสน่ห์เฉพาะตัว เป็นแหล่งบ่มเพาะความรู้ ติดอาวุธทางปัญญาให้แก่คนทุกวัยได้เสมอ!!
0ธรรมรัช กิจฉลอง/เรื่อง
อนันต์ จันทรสูตร/ภาพ 0