
หัวใจไทย-ละครนอกศิลปะการแสดงที่หาชมได้ยาก
สำหรับใครที่ได้ไปร่วมงาน แผ่นดินของเรา เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา ระหว่างวันที่ 1-9 ธันวาคม 2553 ณ ลานพระราชวังดุสิต มีกิจกรรมการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยอันตระการตามากมาย
เช่น การแสดงหุ่นละครเล็ก การแสดงโขน กลองมงคลสี่ภาค การแสดงพื้นบ้าน 4 ภาค การแสดงละครชาตรี โดยเฉพาะการแสดงละครนอก เรื่อง สังข์ศิลป์ชัย ของน้องๆ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ นั้นถือเป็นการรวบรวมศิลปะชั้นสูงทั้งนาฏศิลป์ วรรณศิลป์ และดุริยางคศิลป์ ซึ่งหาชมได้ยาก
ศิลปะประเภทละครรำของไทยนั้นมีหลายประเภท ได้แก่ ละครรำ ละครร้อง และละครพูด ละครรำจะแบ่งเป็น 3 แบบ คือ ละครชาตรี ละครใน และละครนอก ละครชาตรี หรือละครโนราชาตรีเป็นละครรำแบบดั้งเดิม มีผู้แสดงสำคัญ 3 คน เรื่องที่แสดงจะมาจากนิทานพื้นเมืองและชาดก ในระยะแรกใช้การท่องจำบทหรือการด้นกลอนสด ต่อมาปรับให้มีการประพันธ์บทกลอนเพื่อให้ไพเราะยิ่งขึ้น เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลง ได้แก่ ปี่ใน กลอง โทน ฆ้องคู่ ฉิ่ง และกรับ ละครในเป็นการแสดงในราชสำนัก จึงมีความงดงามตระการตา ผู้แสดงเป็นหญิงล้วน มีท่ารำที่งดงามและมีดนตรีปี่พาทย์เครื่องใหญ่ประกอบการแสดงจึงถือเป็นนาฏศิลป์ชั้นสูง ละครในจะแสดงเพียง 3 เรื่องเท่านั้น คือ เรื่องรามเกียรติ์ อุณรุท และอิเหนา
ส่วนละครนอกเป็นละครที่แสดงให้ชาวบ้านชม ผู้แสดงมีทั้งชายและหญิง เรื่องที่นำมาแสดงมักจะเป็นนิทานพื้นเมืองและนิทานชาดก บทละครนอกที่สืบทอดมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา คือ เรื่องการะเกด คาวี ไชยทัต พิกุลทอง พิมพ์สวรรค์ พิณสุริวงศ์ นางมโนห์รา โม่งป่า มณีพิไชย สังข์ทอง สังข์ศิลป์ชัย สุวรรณศิลป์ สุวรรณหงส์ โสวัต ส่วนบทละครนอกพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้แก่ ไกรทอง คาวี ไชยเชษฐ์ สังข์ทอง และมณีพิไชย
การชมละครนอก นอกจากความบันเทิงที่จะได้รับแล้ว ยังสะท้อนถึงความสามารถของบรรพบุรุษของเราที่ได้สร้างสรรค์ศิลปะที่งดงามเหล่านี้ และสืบทอดเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ประเมินค่าไม่ได้
ที่มา: สารานุกรมไทยฉบับเยาวชนฯ เล่ม 23 เรื่องวัฒนธรรมทางละครไทย (ละครรำ)