ไลฟ์สไตล์

สพฐ.คลอดเกณฑ์รับม.1สัดส่วน50ต่อ50

สพฐ.คลอดเกณฑ์รับม.1สัดส่วน50ต่อ50

14 ธ.ค. 2553

สพฐ.ประกาศเกณฑ์รับนักเรียนชั้นม.1 โรงเรียนดังใช้สัดส่วนรับนักเรียนเขตพื้นที่บริการร้อยละ50 ให้ใช้ได้ทั้งจับฉลาก-สอบคัดเลือก รับนักเรียนทั่วไปด้วยวิธีสอบคัดเลือกร้อยละ 50 พร้อมให้เลือกโรงเรียนสำรองในเขตพื้นที่บริการ ระดับชั้นม.4รับนักเรียนทั่วไปร้อยละ 80 ด

 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2553 ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิกาคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม2553 ตนได้ลงนามในประกาศสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)เรื่องนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียนสังกัดสพฐ.ปีการศึกษา 2554 โดยมีรายละเอียดดังนี้ ระดับชั้นก่อนประถมศึกษาให้ดำเนินการโดย1. ให้คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจัดหาที่เรียนให้เด็กก่อนประถมศึกษาได้เข้าเรียนตามความเหมาะสม 2. ให้รับเด็กก่อนประถมศึกษาอายุ 4-5 ปีที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนเข้าเรียนโดยไม่มีการสอบวัดความสามารถทางวิชาการ ถ้ายังไม่เต็มให้รับเด็กนอกเขตพื้นที่บริการได้กรณีที่มีผู้สมัครเกินจำนวนที่รับได้ให้ใช้วิธีจับฉลาก 3.สนับสนุนให้สถานศึกษาเอกชน ศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในศาสนสถาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนและศูนย์พัฒนาเด็กต่างๆ รับเด็กอายุไม่ต่ำกว่า 3 ปีเข้าเรียน

 ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ให้ดำเนินการโดย 1 .ให้คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจัดหาที่เรียนให้เด็กที่อยู่ในเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับได้เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ครบทุกคนตามความเหมาะสม 2.ให้รับเด็กที่มีอายุย่างเข้าปีที่ 7 หรือจบการศึกษาชั้นก่อนประถมศึกษาที่อยู่ในเขตพื้นที่บริการของโรงเรียนเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทุกคน โดยไม่มีการสอบวัดความสามารถทางวิชาการ ถ้ายังไม่เต็มให้รับเด็กนอกเขตพื้นที่บริการได้ กรณีที่มีผู้สมัครเกินจำนวนที่รับได้ให้ใช้วิธีการจับฉลากและประสานกับโรงเรียนใกล้เคียง เพื่อจัดหาที่เรียนให้เด็กได้เข้าเรียนทุกคน

 3.ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ให้ดำเนินการโดย3.1.ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสำรวจรายชื่อนักเรียนที่อยู่ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ภายในเขตพื้นที่การศึกษาและจำนวนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนทุกสังกัดในเขตพื้นที่การศึกษาจะประกาศรับในปีการศึกษา 2554 เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาพิจารณาจัดหาที่เรียนที่เหมาะสมให้กับนักเรียนทุกคนในเขตพื้นที่การศึกษาโดยคำนึงหลักการให้นักเรียนได้เรียนใกล้บ้าน

 3.2 .ให้โรงเรียนที่ได้รับการประกาศชื่อในการจัดสรรโอกาสทางการศึกษาของนักเรียนเปิดโอกาสให้นักเรียนและผู้ปกครองเยี่ยมชมโรงเรียน เพื่อประกอบการตัดสินใจและรับนักเรียนทุกคนที่ได้รับการจัดสรรโอกาสโดยไม่มีการคัดเลือก

  3.3 ให้โรงเรียนกำหนดเขตพื้นที่บริการของโรงเรียน สัดส่วนจำนวนนักเรียนในเขตพื้นที่บริการที่จะเปิดโอกาสให้มีการจับฉลาก และสัดส่วนจำนวนนักเรียนที่จะรับจากการคัดเลือก ทั้งนี้ จะต้องเสนอสัดส่วนและวิธีการต่อคณะกรรมการรับนักเรียนของโรงเรียน และคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาให้ความเห็นชอบโดยโรงเรียนทั่วไปให้รับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการที่มาสมัครเข้าเรียนทุกคน ถ้ายังไม่เต็มให้รับเด็กนอกเขตพื้นที่บริการได้ กรณีที่มีผู้สมัครเกินจำนวนที่รับได้ให้ใช้วิธีการจับฉลาก

 สำหรับโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง(มีความจำเป็นต้องสอบคัดเลือก)มีจำนวนผู้สมัครเกินกว่าจำนวนนักเรียนที่โรงเรียนสามารถรับได้จำนวนมากและมีความจำเป็นต้องใช้วิธีการคัดเลือก โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการรับนักเรียนของโรงเรียนและคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหรือคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาให้กำหนดสัดส่วนเป็น50:50 คือ

 1.การรับนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ ให้รับนักเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 หรือหากโรงเรียนใดมีนักเรียนในเขตพื้นที่บริการไม่ถึงร้อยละ 50 ให้นำสัดส่วนที่เหลือไปพิจารณารับนักเรียนได้ตามความเหมาะสมโดยใช้วิธีการจับฉลาก ในกรณีที่คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเห็นชอบให้มีการสอบคัดเลือกนักเรียนในเขตพื้นที่บริการ เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาให้เสนอร้อยละของการสอบคัดเลือก โดยขอความเห็นชอบของคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหรือคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา ทั้งนี้ จะต้องมีโรงเรียนคู่พัฒนาโรงเรียนเครือข่าย โรงเรียนดีประจำตำบลและโรงเรียนดีประจำอำเภอ รองรับนักเรียนที่สอบคัดเลือกไม่ได้อย่างเพียงพอภายในเขตพื้นที่การศึกษา

 2.การรับนักเรียนทั่วไป ให้รับนักเรียนทั่วไปไม่เกินร้อยละ 50 โดยการคัดเลือกจากสอบวัดความพร้อมพื้นฐานทางการเรียนหรือผลการประเมินผู้เรียนด้วยวิธีการอื่นๆตามที่โรงเรียนกำหนด 3.ในกรณีที่คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเห็นชอบให้โรงเรียนรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษให้รับนักเรียนความสามารถพิเศษรวมอยู่ในข้อ 2 ทั้งนี้ ต้องไม่เกินร้อยละ 5

 4.การรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษในการรับเข้าเรียน ในกรณีที่คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเห็นว่าโรงเรียนมีความจำเป็นจะต้องรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษในการรับเข้าเรียน ซึ่งอาจมีได้ในหลายกรณีเช่น ข้อตกลงในการจัดตั้งโรงเรียน ผู้ด้อยโอกาสหรือประสบภัยพิบัติที่ต้องได้รับการสงเคราะห์ดูแลเป็นพิเศษ ให้คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษพร้อมประกาศหลักเกณฑ์ก่อนการพิจารณาและผลหลังการพิจารณาให้สาธารณชนทราบและเมื่อดำเนินการพิจารณากลั่นกรองแล้วให้ประกาศรายชื่อนักเรียนที่ได้รับการพิจารณาตามเงื่อนไขพิเศษ ทั้งนี้ การพิจารณาเพิ่มจำนวนนักเรียนต่อห้องให้พิจารณาตามความจำเป็น ตามแนวทางที่กำหนดไว้ในข้อ 4

 5. การรับนักเรียนของโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงให้รับรอบเดียวตามแผนการรับนักเรียนปีการศึกษา 2554 5.1 กรณีมีการสอบคัดเลือกนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ให้โรงเรียนดำเนินการดังนี้ โรงเรียนต้องออกข้อสอบให้อยู่ในกรอบเนื้อหาของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานช่วงชั้นที่ 2 ใน 4 วิชาหลักคือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทยและสังคมศึกษาโดยมีระดับความยากง่ายพอเหมาะสำหรับเด็กทั่วไปจะสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องกวดวิชาเพิ่มเติม รวมทั้งให้ประกาศผลการคัดเลือกเรียงตามลำดับคะแนนรวมใน 4 วิชาหลัก และโรงเรียนต้องควบคุมดูแลกระบวนการคัดเลือกให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส ถูกต้องและยุติธรรม

 5.2 ตามแนวทางข้างต้นให้ดำเนินการตามขั้นตอนดังนี้ 1.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาแจ้งชื่อโรงเรียนที่ได้จัดที่เรียนให้กับนักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ให้ผู้ปกครองทราบ 2.นักเรียนสามารถเลือกที่จะรายงานตัวเพื่อเรียนที่โรงเรียนที่ได้รับการจัดสรรโอกาส หรือสมัครเรียนที่โรงเรียนอื่นโดยวิธีจับฉลากหรือคัดเลือกจากวิธีการอื่นๆ

 3.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษษพิจารณาจัดระบบให้นักเรียนสามารถยื่นใบสมัครสำหรับทางเลือกทุกทางได้พร้อมกันที่โรงเรียนประถมศึกษาที่นักเรียนศึกษาอยู่ หรือโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ได้รับการจัดสรรโอกาส และในการสมัครเรียนให้นักเรียนระบุชื่อโรงเรียนที่ประสงค์จะเข้าเรียนเป็นการสำรองไว้ด้วย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดสรรโอกาสทางการศึกษา

 4.นักเรียนที่พลาดจากการสอบคัดเลือกหรือการจับฉลากสามารถกลับไปเรียนในโรงเรียนที่ได้รับการประกาศชื่อในการจัดสรรโอกาสของนักเรียนตามข้อ 1 หรือเสนอชื่อให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอำนวยความสะดวกในการจัดหาโรงเรียนอื่นให้ตามความเหมาะสม แต่ไม่ผูกพันที่จะต้องจัดหาที่เรียนเฉพาะในโรงเรียนที่พึงประสงค์เท่านั้น

 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนที่เปิดสอนทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายให้ดำเนินการโดย1.ให้รับนักเรียนเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 จากนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่มีศํกยภาพเหมาะสมของโรงเรียนเข้าเรียน โดยโรงเรียนและคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหรือคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากำหนดเกณฑ์การคัดเลือกที่เป็นธรรมเช่น พิจารณาจากผลการเรียนเฉลี่ย ผลคะแนนการทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ(โอเน็ต) คุณความดี เป็นต้น

 รวมทั้งให้มีโครงการช่วยเหลือนักเรียนให้มีศักยภาพเหมาะสมตามที่กำหนด และเปิดโอกาสให้รับนักเรียนทั่วไปจากโรงเรียนอื่นเข้าเรียนด้วย ตามสัดส่วนที่คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหรือคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากำหนด ทั้งนี้ ต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของแผนการรับนักเรียน

 2.การรับนักเรียนทั่วไปจากโรงเรียนอื่นเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ให้ใช้วิธีการสอบคัดเลือกโดยใช้แบบทดสอบวัดความสามารถทางวิชาการของโรงเรียนหรือให้ใช้ผลคะแนนโอเน็ต 3.ให้คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหรือคณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาจัดหาที่เรียนให้เด็กที่ประสงค์จะเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่4 ได้เข้าเรียนตามความเหมาะสมทั้งสายสามัญและสายอาชีพ โดยวางแผนการรับนักเรียนร่วมกันกับโรงเรียนทุกสังกัด ทั้งนี้ ในการสมัครเรียนให้นักเรียนระบุชื่อโรงเรียนที่ประสงค์จะเข้าเรียนเป็นการสำรองไว้ด้วย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดสรรโอกาสทางการศึกษา

 โรงเรียนที่เปิดเฉพาะระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ให้รับนักเรียนเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยการสอบคัดเลือกจากนักเรียนทั่วไปไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และใช้แบบทดสอบความสามารถทางวิชาการของโรงเรียน นักเรียนโควตาไม่เกินร้อยละ 20 ในกรณีที่คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเห็นชอบให้โรงเรียนรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษให้รับนักเรียนความสามารถพิเศษรวมอยู่ในร้อยละของการสอบคัดเลือกทั้งนี้ ต้องไม่เกินร้อยละ 5 หากโรงเรียนมีความจำเป็นต้องรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษในการรับเข้าเรียนให้ดำเนินการเช่นเดียวกับข้อ3.3

 สำหรับจำนวนการรับนักเรียนต่อห้องนั้นโรงเรียนระดับก่อนประถมศึกษาห้องละ 30 คน หากมีความจำเป็นต้องรับเกินให้รับได้ไม่เกินห้องละ 40 คน ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ห้องละ 40 คน หากมีความจำเป็นต้องรับเกินให้รับได้ไม่เกินห้องละ 50 คน โดยให้เสนอสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอนุมัติตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากำหนด ส่วนโรงเรียนมัธยมห้องละ 40 คนหากมีความจำเป็นต้องรับเกินให้รับไม่เกินห้องละ 50 คน โดยให้เสนอสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหรือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาอนุมัติตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหรือคณะกรรกมารเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากำหนด

 ทั้งนี้ ปฏิทินการรับนักเรียนได้แก่ ระดับชั้นก่อนประถมศึกษารับสมัครวันที่ 29 มกราคม- 2 กุมภาพันธ์ 2554 จับฉลาก ประกาศผลและรายงานตัววันที่ 6 กุมภาพันธ์ มอบตัววันที่ 13 กุมภาพันธ์ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 รับสมัครวันที่ 5-9 กุมภาพันธ์ จับฉลาก ประกาศผลและรายงานตัววันที่ 13 กุมภาพันธ์ มอบตัววันที่ 20 กุมภาพันธ์

 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 นักเรียนในเขตพื้นที่บริการประเภทสอบคัดเลือก(ถ้ามี) รับสมัคร 12-16 มีนาคม สอบคัดเลือกวันที่ 19 มีนาคม ประกาศผลและรายงานตัววันที่ 22 มีนาคม มอบตัววันที่ 2 เมษายน ประเภทจับฉลาก รับสมัครวันที่ 12-16 มีนาคม จับฉลาก ประกาศผลและรายงานตัว วันที่ 27 มีนาคม มอบตัววันที่ 2 เมษายน

 ประเภทนักเรียนทั่วไปที่ใช้คะแนนทดสอบความพร้อมพื้นฐานทางการเรียนหรือผลการประเมินผู้เรียนด้วยวิธีการอื่นๆตามที่โรงเรียนกำหนด รับสมัครวันที่ 12- 16 มีนาคม สอบคัดเลือกวันที่ 19 มีนาคม ประกาศผลและรายงานตัววันที่ 22 มีนาคม มอบตัววันที่ 2 เมษายน ประเภทนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ(ถ้ามี) รับสมัครวันที่ 12-13 มีนาคม คัดเลือก 14 มีนาคม ประกาศผลและรายงานตัววันที่ 15 มีนาคม มอบตัววันที่ 2 เมษายน

 ส่วนนักเรียนที่มีความประสงค์จะให้คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหรือคณะกรรมการเขตพื้นที่การศฯกษามัธยมศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจัดหาที่เรียนให้รับสมัครวันที่ 3-4 เมษายน ปรกาศผลวันที่ 7 เมษายน รายงานตัววันที่ 8 เมษายน ประกาศการจัดหาที่เรียนให้นักเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาทุกคนอีกครั้งในวันที่ 16 พฤษภาคม

 ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนที่เปิดทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายประเภทรับนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่3 เดิมการรับสมัครและประกาศผลให้เป็นไปตามกำหนดการของโรงเรียน รายงานตัววันที่ 27 มีนาคม มอบตัววันที่ 3 เมษายน

 ประเภทนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนอื่นและโรงเรียนเดิมโดยสอบคัดเลือกรับสมัครวันที่ 12- 16 มีนาคม สอบคัดเลือกวันที่ 20 มีนาคม(โดยใช้แบบทดสอบความสามารถพิเศษทางวิชาการของโรงเรียน) ประกาศผลวันที่ 23 มีนาคม รายงานตัววันที่ 27 มีนาคม มอบตัววันที่ 3 เมษายน ประเภทใช้คะแนนผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรม.ปลาย(จีแพ็กซ์)หรือคะแนนโอเน็ตรับสมัครวันที่ 23-27 มีนาคม ประกาศผลและรายงานตัววันที่ 29 มีนาคม มอบตัววันที่ 3 เมษายน

 โรงเรียนที่เปิดเฉพาะระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ประเภทสอบคัดเลือกรับสมัครวันที่ 12- 16 มีนาคม สอบคัดเลือกวันที่ 20 มีนาคม ประกาศผลและรายงานตัววันที่ 23 มีนาคม มอบตัววันที่ 3 เมษายน ประเภทนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษรับสมัครวันที่ 12-13 มีนาคม คัดเลือกวันที่ 14 มีนาคม ประกาศผลและรายงานตัววันที่ 15 มีนาคม มอบตัววันที่ 3 เมษายน ทั้งนี้ สอบถามโทร. 0-2288-5512,www.obec.go.th