
ผิวหนังอักเสบ
ผิวหนังอักเสบ (Eczema ) เป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อยที่สุด ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยจากภายในร่างกายเอง เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis) หรือเกิดจากการสัมผัสกับสารบางอย่าง
ทำให้เกิดการระคายเคือง หรือเกิดการแพ้สารนั้นๆ สารเหล่านั้นมักจะพบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน ควรรับประทานยาเพื่อรักษาโรค หรืออาหารเสริม
ลักษณะของผื่นผิวหนังอักเสบประกอบด้วย รอยแดง ตุ่มแดง มีขุย ผื่นหนา จนผิวหนังแตกหรือเป็นตุ่มน้ำ หากอักเสบเฉียบพลัน จะมีน้ำเหลืองซึมได้ ที่สำคัญคือผู้ป่วยจะมีอาการคันร่วมด้วย และหากสาเหตุที่กระตุ้นให้ผิวหนังอักเสบยังไม่ได้ถูกกำจัดให้หมดไป ผื่นอาจจะขยายกว้างขึ้น และลุกลามไปสู่ส่วนอื่นของร่างกายได้ บางครั้งจะทำให้เกิดผิวหนังแดง และเป็นขุยขาวๆ ทั่วตัว การเกาจะทำให้โรคลุกลามมากขึ้นหากผิวหนังถลอกอาจจะติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนเป็นตุ่มหนองเกิดขึ้นได้
ผิวหนังอักเสบที่เกิดจากสาเหตุภายในร่างกาย เช่น ภูมิแพ้ผิวหนัง หรือ atopic dermatitis พบในเด็กเล็ก เด็กโต หรือผู้ใหญ่ ร้อยละ 9-16 พบในเด็ก ร้อยละ 80 จะมีอาการก่อนอายุ 5 ขวบ ส่วนใหญ่จะมีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว เช่น แพ้อากาศ หอบหืดในเด็กเล็ก ผื่นจะเกิดบริเวณแก้ม 2 ข้าง ศีรษะ แขนและขาด้านนอก เมื่อเด็กโตขึ้นอายุประมาณ 2 ขวบ ผื่นจะเปลี่ยนมาที่บริเวณข้อพับแขนและขา ในเด็กโต และผู้ใหญ่อาจจะพบผื่นที่หน้าอก มือ เท้า และริมฝีปากด้วย
การรักษาที่สำคัญ คือ การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้ผื่นเป็นมากขึ้น เช่น
- อากาศร้อน
- ฝุ่นละออง
- เสื้อผ้าหนา
- ผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นหอม
- ในเด็กบางคน อาหารประเภทไข่ นม ถั่ว อาหารทะเล อาจจะเป็นสาเหตุให้ผื่นเห่อมากขึ้นได้
ผู้ป่วยควรทาครีมบำรุงผิววันละหลายๆ ครั้ง เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนัง โดยทาทันทีหลังอาบน้ำ และเช็ดตัวพอหมาดๆ หลีกเลี่ยงการใช้สบู่ที่เป็นด่างแรง ในเด็กควรให้ยาสเตียรอยด์ชนิดอ่อนตามที่แพทย์สั่ง เพื่อลดการอักเสบของผิวหนัง และไม่ควรรับประทานยานานเกินไป รับประทานยาแก้แพ้เพื่อลดอาการคัน และรับประทานยาปฏิชีวนะหากมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
ผิวหนังอักเสบที่เกิดจากสาเหตุภายนอกร่างกาย เกิดจากการสัมผัสกับสารซึ่งระคายเคืองกับผิวหนังที่มีความเข้มข้นสูงเป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้เกิดผื่นแดง คัน ลอกเป็นขุย พบได้บ่อยในแม่บ้าน แม่ครัว ช่างทำผม การป้องกันโดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเหล่านั้น การทาครีมบำรุงบ่อยๆ ร่วมกับการทายาสเตียรอยด์ และรับประทานยาแก้แพ้ จะทำให้โรคทุเลาลงได้ หากเป็นที่มือควรใส่ถุงมือเพื่อเป็นการป้องกันการการสัมผัสกับสารระคายเคือง
ดังนั้นเมื่อเป็นผิวหนังอักเสบควรหาสาเหตุ หากเป็นผิวหนังอักเสบที่เกิดจากภายในร่างกายอาจจะมีปัจจัยภายนอกบางอย่างกระตุ้นให้อาการกำเริบ ฉะนั้นการได้รับการวินิจฉัย การป้องกันดูแลและรักษาที่ถูกต้องจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และกลับมาเป็นซ้ำน้อยลง
ส่วนผู้ป่วยบางคนที่เป็นผิวหนังอักเสบเรื้อรัง การใช้สเตียรอยด์ ความเข้มข้นสูงและเป็นเวลานานมากๆ อาจจะเกิดผลข้างเคียง เช่น ผิวหนังบาง แตกลาย เส้นเลือดขยาย หรือมีขนบริเวณนั้นยาวขึ้น การใช้ยาทาโคลิมมุส หรือพิมิโคลิมมุส จะช่วยลดอาการอักเสบของผิวหนังได้โดยไม่พบผลข้างเคียงเหมือนการใช้สเตียรอยด์ ดังนั้นยาเหล่านี้จึงเหมาะที่จะนำมาใช้ในการรักษาภูมิแพ้ผิวหนังที่เป็นเรื้อรัง โดยเฉพาะในเด็ก หรือบริเวณผิวที่มีเนื้อบาง เช่น ผิวหน้าและข้อพับและขาหนีบ
นอกจากนั้นแล้วการฉายแสงอัลตร้าไวโอเลตก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการรักษาโรคผิวหนังอักเสบบางชนิด ซึ่งไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาตามปกติ เช่น ภูมิแพ้ผิวหนังในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ ผิวหนังอักเสบที่มือ เท้า ผิวหนังอักเสบเรื้อรังอื่นๆ
หากท่านเป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังเพื่อการวินิจฉัย ให้คำแนะนำดูแลรักษาที่ถูกต้อง
โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร.1719