ไลฟ์สไตล์

พึ่งตนพึ่งธรรม-พ่อปู่ชูชก บูชาเพื่ออะไร

พึ่งตนพึ่งธรรม-พ่อปู่ชูชก บูชาเพื่ออะไร

31 ต.ค. 2553

สุดสัปดาห์ที่แล้ว ผมและภรรยาพากันไปใส่บาตรที่วัดแห่งหนึ่งใกล้บ้าน บังเอิญพบปะกับพระอาจารย์รูปหนึ่งซึ่งสนิทสนมกัน เพราะเคยนิมนต์ท่านมาร่วมผลิตรายการ “ธรรมะ” ซึ่งยังไม่เคยออกอากาศที่ใดมาก่อนเลย ท่านก็ดีใจมาก รับบิณฑบาตแล้ว ฉันเสร็จสรรพ ก็แบ่งอาหารส่วนหนึ่ง

 “คุณมาวันนี้ ไม่ได้บุญนะ เพราะของที่ท่านให้กลับมามากกว่าที่เราถวายท่านไป ถือว่าเป็นหนี้สงฆ์นะ”

 ภรรยาหน้าเจื่อนไปเล็กน้อย เพราะกลัวจะไม่ได้บุญ หารู้ไม่ว่าผมแค่หยอกเล่น

 เสร็จแล้ว เราก็จ้องหาเด็กวัดสักคนหนึ่ง เพื่อแจกขนมและนมกระป๋องนี้ให้เขาไปกิน ระหว่างที่เราเสาะหาเด็กน้อยอยู่นั้น กลุ่มหญิงชาวบ้านข้างเคียงวัด (พวกขาประจำ) ก็จ้องมองมาที่นมกระป๋องของเรา หญิงวัยกลางคนคนหนึ่ง เขยิบเข้ามาหาผม แล้วขอนมกระป๋องนี้ไป เธออ้างว่าจะนำไปให้หลานกิน เธอเพิ่งได้หลานจะไปเยี่ยมพอดี ผมก็มอบให้ไป แถมน้ำเต้าหู้ ปลาท่องโก๋ อีกเซตหนึ่ง เสมือนเป็นฮ่องกงเบรกฟาสต์สำหรับเธอเลยก็ว่าได้ ท่ามกลางสายตาที่ไม่ค่อยพึงพอใจของภรรยาผม เพราะเธอเริ่มรู้สึกไม่ค่อยดีแล้วกับการขอของเธอ

 ปรากฏว่า เธอยังเอ่ยปากก่อนจากอีกว่า

 “มีตังค์สัก ๒๐ บาทไหม จะได้เป็นค่ารถไปเยี่ยมหลานเธอด้วยเลย”

 ภรรยาผมถึงกับเบือนหน้าหนีเลย เธอคงคิดในใจ เจออีกแล้ว พวกขี้ขอ ผมจึงหยิบให้เธอไปด้วยความวางเฉย แม้จะไม่ค่อยเต็มใจนัก

 “ดีใจจัง ตอนนี้ก็มีตังค์ค่ารถแล้ว”

 หญิงคนนั้นพร่ำรำพึง เสียงลอยตามมา

 …
 สังคมไทยมีคนประเภท “ขี้ขอ” อยู่เยอะจริงๆ “ขอ” โดยไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ ไม่เหมือนชาวอินเดียซึ่งสังคมของเขากำหนดบทบาทชัดเจน คนที่จะเที่ยวขอคนอื่นได้นั้น ต้องเป็นวรรณะจัณฑาลเท่านั้น เขาขออย่างมีศักดิ์ศรี เพราะเป็นสายอาชีพของเขา แม้บ่อยครั้ง พวกเขาเหล่านั้นจะเฮโล มะรุมมะตุ้มล้อมขอตังค์จากเราจนดูวุ่นวาย แต่มันก็เป็นพฤติกรรมเฉพาะคนวรรณะนี้เท่านั้น ซึ่งผมถือว่าพวกเขาเหล่านั้นกำลังประกอบสัมมาอาชีโว (อันเป็น ๑ ในมรรคมีองค์ ๘) เพราะวรรณะที่ถูกกดต่ำจมดินเช่นนั้น ไม่อาจประกอบอาชีพอื่นได้ นอกจากขอทาน

 เพื่อนผมคนหนึ่งเป็นดอกเตอร์ ตอนไปอินเดียด้วยกัน แกยังไม่เข้าใจธรรมเนียมนี้ ด้วยความใจดี จึงเที่ยวไล่แจกเงิน แจกของกินไปเรื่อย เผลอแจกแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ ดันไปแจกเด็กวรรณะอื่นเข้า เด็กคนนั้นหันมาต่อว่าเพื่อนผมเป็นภาษาอังกฤษเลยว่า ทำแบบนี้ได้อย่างไร ถือว่าดูถูกเขามาก เกือบจะมีเรื่องมีราวกัน นั่นประเทศอินเดีย ส่วนประเทศไทยนั้น ผมดูไม่ออกจริงๆ ครับ ว่าวรรณะไหน จะไม่ขอ?

 เพราะถ้าเจอคนประเภท “ขี้ขอ” แล้วล่ะก็ มันขอทั้งนั้น เริ่มตั้งแต่ระดับล่างที่เข้ามาขอ นมกระป๋องเอย เศษตังค์ค่ารถเอย ตามที่เล่าให้ฟังไปแล้วข้างต้น รวมไปถึงพวกขอเงินไปซื้อหวยด้วย เขยิบไปถึงคนอีกระดับหนึ่ง สูงขึ้นมาหน่อย พวกนี้มักจะขอยืมเงินบ้าง พันสองพัน ขอยืมของบ้าง ยืมแล้วก็มักไม่ค่อยคืน ทวงถามก็มักจะโกรธใส่เราซะงั้น เขยิบขึ้นมาอีก เป็นคนชั้นกลาง หลายคนก็จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีด้วยซ้ำ แต่อาจจะประสบปัญหาในการบริหารเงิน พวกนี้ขอยืมทีหนึ่ง ๑ หมื่นบ้าง ๕ หมื่นบ้าง บางทีเป็นแสน ครึ่งหนึ่งของพวกเขา คือยืมยาว ยืมชาตินี้ (อาจจะ) คืนชาติหน้า ผมยังจัดคนจำพวกนี้เป็นประเภทขี้ขออยู่เหมือนกัน กระทั่งถึงระดับร่ำรวยขึ้นไป แต่ยังมีนิสัยขี้ขออยู่ อ้างขอโปรเจกต์โน้นบ้าง ค่าคอมมิสชั่นนี้บ้าง ค่าผ่านทาง ค่าต๋ง ค่าอำนวยความสะดวก เป็นน้ำมันหล่อลื่น ส่วนแบ่งกำไร หรือหุ้นส่วนโน่น นี่ นั่น สารพันขอกัน พันตูกันไปหมด

 ด้วยเหตุนี้ และเหตุนี้สังคมไทยจึงนิยมบูชา การพึ่งพาสิ่งภายนอกกันไปหมด มักง่าย อยากได้อะไรมาง่ายๆ สบายๆ แบบไม่ต้องออกแรง หวัง “ผล” แต่ไม่ยอมสร้าง “เหตุ” อยากกินส้ม แต่ไม่ยอมลงทุนปลูก “ต้นส้ม” จึงจบลงที่การขออยู่ร่ำไป และที่ฮือฮากันเมื่อเร็วๆ นี้ ศรัทธามหาชนต่างยกให้เป็นสุดยอดแห่งเทพการขอกัน ก็คือ …

 “พ่อปู่ชูชก”

  ครั้งแรกในชีวิตที่ผมได้ยิน ถึงกับมึนงง ชั่วขณะ มันคล้ายตกอยู่ในภวังค์แห่งมนต์ดำ หรือพลัดหลุดไปอยู่ในหลุมดำแห่งห้วงอวกาศ ราว ๑ นาที หลังจากตั้งสติได้ ผมจึงคิดว่า เดิมทีพวกเราชาวพุทธ กราบไหว้บูชาพระพุทธรูป รูปหล่อเกจิอาจารย์ทั้งหลาย เพื่อเป็นพุทธา-ธัมมา-สังฆานุสติ นั่นถือว่ายังโอเคอยู่ ต่อมาเกิดมงคลตื่นข่าว ด้วยความอยากรวยเร็ว รวบลัด จึงบูชาจตุคามรามเทพกันคึกคัก แทบจะเป็นวาระแห่งชาติเลยก็ว่าได้ ฝ่ายโรงปั๊ม ผลิตขายเป็นกอบเป็นกำอยู่เกือบ ๒ ปี สุดท้ายก็หนีไม่พ้นวงจรแห่งเศรษฐศาสตร์ อุปทาน (Supply) มากกว่า อุปสงค์ (Demand)  เมื่อเกิดสภาวะเหรียญจตุคามฯ ล้นตลาด สุดท้ายกลายเป็นปล่อยเช่าบูชาองค์ละ ๑ บาท คนยังไม่อยากได้กัน ต้องไล่แจกซะงั้น...

 จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ พัฒนา (ความหลงงมงาย) มาเป็นบูชาพ่อปูชูชก?

 ถามว่า บูชาทำไม? เพื่ออะไร? เป็นพุทธจริตตรงไหน? เป็นปัญญาหรือไม่? เกี่ยวอะไรกับคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่ทรงตรัสสอนเพียง ๒ สิ่งเท่านั้น คือ

 ๑.ทุกข์
 ๒.การดับทุกข์

 คนที่ยังแสดงตนว่าเป็นพุทธมามกะ หรือยังคิดว่าตนเป็นหนึ่งในพุทธบริษัท ๔ แล้วยังบูชา “พ่อปู่ชูชก” ที่ว่านี้อยู่ ผมถามว่า ท่านไม่ละอายใจต่อพระพุทธเจ้าบ้างหรือ? สมมติถ้าท่านอยู่ในพุทธกาล แล้วบังเอิญมีบุญไปพบพระพุทธเจ้าจริงๆ ขณะพระองค์ยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะขออะไรกับพระองค์ (ยังไงพระพุทธเจ้าก็มีอิทธิฤทธิ์มากกว่าชูชกอยู่แล้ว) จะกล้าขอไหม? ขอแล้วพระองค์จะตรัสว่าอย่างไร?

 น่าละอายใจสิ้นดี พวกชาวพุทธ “ขี้ขอ” ทั้งหลาย

 มันแย่ยิ่งกว่าหลายสิบปีที่แล้ว สมัยนั้นท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ท่านเจ้าคุณ ป.อ. ปยุตโต) เทศน์ให้ฟังว่า เส้นสังคมไทยเรา อ่อนแอมากด้วยปัจจัยหลัก ๒ ประการนี้ คือ

 ๑.สังคมไทย เป็นสังคมใฝ่เสพ ไม่ผลิต; เงินเดือนยังไม่ถึงหมื่น เคยมีโทรศัพท์มือถือธรรมดา ก็เกิดไม่พอใจ ต้องไปถอยสมาร์ทโฟนออกมา แบล็กเบอรร์รี่, ไอโฟน เอย ของแท้เครื่องหนึ่งตก ๓-๔ หมื่น ก็ยังจะเอา เงินสดไม่พอก็ใช้ระบบเงินผ่อนบ้าง เงินกู้นอกระบบบ้าง เพราะกลัวจะน้อยหน้าเพื่อน เป็นต้น

 ๒.สังคมไทย เป็นลัทธิหวังผล ดลบันดาล; อันนี้ก็เข้าใจได้ไม่ยาก พวกเราทุกคนจะต้องเคยเห็นในข่าวหนังสือพิมพ์ก็ดี โทรทัศน์ก็ดี อย่างน้อยคนละครั้ง ที่ชาวหวยแห่กันไปขูดเลขเด็ด ตามสถานที่แปลกๆ สิ่งมีชีวิตประหลาดๆ (วัว ๕ ขา เป็นต้น) วัตถุพิสดาร (ไม้ตะเคียนทองลอยน้ำมา เป็นต้น) ฯลฯ นี่แหละแสดงวิถีแห่งลัทธินี้ได้เป็นอย่างดี คนพวกนี้จะมีความสามารถพิเศษอีกอย่าง ที่คนอย่างเราๆ ท่านๆ ไม่มีกัน คือ แม้จะถูกหวย ถูกลอตเตอรี่รางวัลใหญ่ ได้เงินที ๑๐ ล้านก็ดี ๕๐ ล้านก็ดี พวกเขาสามารถถลุงเงิน ใช้จนหมดเกลี้ยงได้ในเวลาอันสั้น บางทีก็เพียง ๒-๓ เดือน ก็เกลี้ยงแล้ว

 ไม่น่าเชื่อครับ บทวิเคราะห์ สังเคราะห์ สังคมไทยด้วยความเมตตา แต่ตรงไปตรงมาของท่านพระเดชพระคุณ ปยุตโต ยังเป็นจริง เป็นอมตะนิรันดร์กาล ตราบถึงปี พ.ศ. ปัจจุบันนี้ หนำซ้ำยังหนักหนาสาหัสขึ้นอีก หลายเท่าตัว ด้วยความซับซ้อนของสังคม ความเห็นแก่ตัวอย่างรุนแรงแห่งกระแสทุนนิยม วัตถุนิยม ทุกวันนี้โทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว เขาก็ฆ่ากันตายได้ครับ

 ผมเบรกอารมณ์ “วัตถุนิยม” ลงนิดหนึ่ง นึกถึงเรื่องพระอริยเจ้ารูปหนึ่ง เดินหลงเข้าไปในห้าง สรรพสินค้าแห่งหนึ่ง กว่าจะหาทางออกเจอได้ ก็เดินทั่ว แทบจะทุกชั้น ผัสสะทางตาของท่านก็เห็นสินค้าสวยๆ งามๆ หรูหรามากมาย ผัสสะทางจมูกของท่าน ก็ได้กลิ่นน้ำหอมโชยตลบอบอวลที่ชั้นล่าง ผัสสะทางหู ก็ได้สัมผัสเสียงเพลงดังแว่วมาจากแผนกเครื่องเสียง ฯลฯ กระทั่งได้ความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่พาท่านมาถึงทางออก ในที่สุดเจ้าหน้าที่ถามท่านว่า

 “ท่านประสงค์จะซื้ออะไรเหรอขอรับ?”

 พระท่านตอบ

 “อาตมา เพียงหลงเข้ามา ถึงกระนั้นก็เถอะ อาตมาได้เดินจนทั่วแล้ว ไม่พบสิ่งของอันใดที่น่าสนใจ และจำเป็นต้องซื้อหามาไว้ใช้ในกิจวัตรของอาตมาเลย”
 …
 กรณีพระรูปนี้สิครับ น่าเอาอย่าง คือเมื่อเราไม่มีความต้องการ (อุปสงค์) แล้ว ความโลภ จะน้อยลง เงินทองที่หามาได้โดยสุจริตจากสัมมาอาชีพ ก็ดำรงชีวิตได้อย่างพอเพียงแล้ว ยังมีเหลือเจือทาน ทำบุญตามกำลัง อย่าทำบุญแบบบ้าปริมาณ (ทาน ๑๐๐ บาท มีผลมากกว่า ๑๐ บาท อย่างนี้ไม่ถูกต้อง) อย่าทำบุญแบบผูกพันเป็นตัวกู ของกู เช่นเมื่อศรัทธาต่อพระรูปหนึ่งรูปใด หรือลัทธิหนึ่งลัทธิใดเข้า ก็จะบ้าทำบุญน่าใจหาย เมื่อเสื่อมศรัทธากันไปแล้ว ก็ชักกลับ ทวงถามเงินที่โยมเรี่ยไรถวายไป เมื่อไหร่จะได้คืน?

 เมื่อรู้จัก “พอเพียง” “ไม่โลภ” และ “ไม่โง่” แล้ว ใครก็มาหลอกลวงต้มตุ๋น ให้เราไปกดเอทีเอ็ม โอนเงินไปโน่นไปนี่ไม่ได้ เราก็ดำเนินชีวิตตามพุทธวิถีอย่างสง่างามได้ หากจะมีที่พึ่งก็ขอเพียงที่พึ่งเดียวคือ พระรัตนตรัย ไม่มีความจำเป็นอันใดต้องไปพึ่งพา หรือเป็นภาระผูกพัน กับองค์จตุคามฯ ก็ดี พ่อปู่ชูชก ก็ดี

 มันไม่มีความจำเป็นจริงๆ