
คลื่นน้ำและความเปลี่ยนแปลง
อุทกภัยครั้งนี้กินพื้นที่กว้างขวาง และก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงในหลายจังหวัด ผู้คนเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า เป็นเวลาที่วิกฤติการณ์สำแดงตัวอย่างเด่นชัด และทำให้เราเห็นความจริงของประเทศนี้ที่ว่า เราไม่พร้อมที่จะรับมือภัยพิบัติใดๆ ทั้งย่อหย่อนในการเตรียมแผ
ประชาชนจึงต้องผจญกับภาวะมืดบอด ไม่รู้ว่าน้ำจะไหลไปทางไหน จะท่วมเมื่อไหร่ ท่วมสูงแค่ไหน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือได้ถูกต้อง สุดท้ายก็ต้องมะงุม มะงาหรากันไป บางพื้นที่น้ำท่วมผ่านไป 10 วันแล้วจึงมีเรืออาสาเข้าไปแจกอาหารพอประทัง
อาจารย์ยักษ์ ไม่อยากตอกย้ำท่ามกลางบรรยากาศหดหู่ของประเทศ แต่เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นชัดเจนจนหากดวงตาไม่มืดบอดด้วยอวิชชาก็ต้องเข้าใจได้ว่า เส้นทางที่เดินมานั้นมันผิดพลาด มันคลาดเคลื่อน ไม่ส่งผลเป็นความยั่งยืนดังจะเห็นได้จากผลกระทบที่เป็นความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้าเช่นนี้ หรือหากเป็นยุคสมัยที่ผู้คนยังเชื่อในฟ้าดิน เทพยดา เหตุการณ์รุนแรงเช่นนี้โบราณเขาจะเรียกว่า "ฟ้าดินลงโทษ”
แต่ท่ามกลางวิกฤติที่เกิดขึ้น เราก็ได้เห็นความเข้มแข็งของภาคประชาสังคม ที่ร่วมแรงร่วมใจกัน สละเวลา สละกำลังกาย กำลังทรัพย์เข้าช่วยเหลือ เกาะเกี่ยวกันเป็นเครือข่ายทางสังคมร่วมมือกับพลังของสื่อทำงานอย่างรวดเร็วและตรงจุด ขณะเดียวกันก็ได้เห็นอีกด้านของพลังภาครัฐที่ถึงแม้จะเคลื่อนไหวเชื่องช้าแต่ก็เป็นเครือข่ายที่ได้วางรากแหครอบคลุมทั่วประเทศ สองพลังนี้คือ นิ้วหัวแม่มือ กับนิ้วก้อย ซึ่งประกอบเป็นพลังเบญจภาคี พลังฝ่ามือที่ประกอบด้วย 5 ภาคส่วนของสังคม
ส่วนพลังอีก 3 ภาคส่วน คือ ภาควิชาการที่เปรียบเหมือนนิ้วชี้ พลังประชาชนคือนิ้วกลาง และพลังภาคเอกชนคือนิ้วนาง ล้วนจำเป็นต่อการทำงานในเชิงสังคม โดยเฉพาะภาคเอกชน ที่อาจารย์ยักษ์คุยค้างไว้เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ภาคอุตสาหกรรมหากหันมาเข้าใจในเรื่องของทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ก็จะเป็นพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่ที่สถานการณ์ต่างๆ ในวันนี้แสดงให้เห็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนว่าเราทุกคนจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิด เพื่อเปลี่ยนการกระทำจึงจะนำไปสู่ทางรอด
การจะทำความเข้าใจทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมองให้เห็นถึงความเป็นมาของทฤษฎีนี้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นทฤษฎีที่มีรากฐานความคิดแตกต่างจากทฤษฎีทุนนิยมเสรีซึ่งเป็นฐานความคิดของภาคอุตสาหกรรมแบบคนละขั้ว โดยมีความแตกต่างกันอย่างมาก ทั้งเรื่องหลักคิด ความเชื่อ และสะท้อนเป็นการปฏิบัติ
อาจารย์ยักษ์ขอย้อนกลับไปถึงความเป็นมาของ “อุตสาหกรรม” แต่ครั้งปฏิวัติอุตสาหกรรมที่กินเวลานับร้อยปี จากช่วงศตวรรษที่ 18 ถึงศตวรรษที่ 19 เริ่มจากการคิดค้นเทคโนโลยีเครื่องจักรไอน้ำ ใช้ถ่านหินเป็นพลังงาน การเปลี่ยนแปลงการผลิตเครื่องนุ่งห่มจากการทอผ้าด้วยมือ มาเป็นการทอด้วยเครื่องทอผ้า พัฒนาเป็นอุตสาหกรรมสิ่งทอ เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นจุดเริ่มของการปฏิวัติอุตสาหกรรม เรียกว่า ปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 1 และเมื่อการ “ปฏิวัติ” หมายถึง การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ปฏิวัติอุตสาหกรรมก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบถึงวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมเช่นกัน
จากนั้นเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 มนุษย์สามารถผลิตเหล็กได้ในปริมาณมากๆ และรู้จักนำ “น้ำมัน” มาใช้เป็นพลังงาน วิถีชีวิตของผู้คนยิ่งเปลี่ยนแปลงไป จากสังคมที่พึ่งพาตนเอง หากิน หาใช้ก้าวเข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม โดยมีเงินเป็นตัวกลาง
ระยะเวลา 100 ปีของการปฏิวัติอุตสาหกรรม อยู่ในช่วงเวลาคาบเกี่ยวระหว่างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายจนถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นก็เฉกเช่นเดียวกับการไหลบ่าของคลื่นน้ำ ที่ต้องอาศัยเวลาเดินทางจากที่หนึ่งสู่อีกแห่งหนึ่ง คลื่นจากผลแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมส่งผลอย่างไรกับสยามประเทศ และเกี่ยวพันอย่างไรกับน้ำท่วมประเทศไทยครั้งใหญ่ ที่มีผู้เดือดร้อนแบบพึ่งตนเองไม่ได้กว่า 3 ล้านคนแล้วในปีพุทธศักราช 2553 คงจะต้องบอกเล่ากันในตอนต่อไป
ก่อนจบบทความนี้ อาจารย์ยักษ์ขอย้ำว่า แม้วิกฤติการณ์จะดูหนักหนา แต่ทางออกยังมี หากเราจะเพียงหยุดคิด ทบทวนให้ดี ก็จะมองเห็นและเข้าใจ แน่นอนว่าทางออกสายนี้ย่อมไม่ใช่เส้นทางเดิมที่พาเรามายังจุดนี้ และการเดินบนเส้นทางสายใหม่นี้ ไม่มีอะไรสำเร็จรูป พบกันใหม่วันเสาร์หน้า
"อาจารย์ยักษ์ มหา’ ลัยคอกหมู"