ไลฟ์สไตล์

น้ำกัดเท้า

น้ำกัดเท้า

27 ต.ค. 2553

โรคน้ำกัดเท้า คือการติดเชื้อราที่เท้า มักจะเป็นบริเวณง่ามนิ้วเท้า ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากเชื้อราที่ชื่อ Trichophyton rubrum เชื้อรากลุ่มนี้จะสร้างเอนไซม์ออกมาย่อย keratin ที่ผิวหนัง

 ทำให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังแตกเป็นแผล และมีอาการตามมา
 อาการที่พบได้ คือมีอาการคัน และมีอาการเจ็บบริเวณง่ามนิ้วเท้า บางครั้งจะพบเป็นตุ่มน้ำ หรือพบเป็นแผล ในผู้สูงอายุ อาจพบเป็นสะเก็ด และผิวหนังแห้ง บริเวณง่ามนิ้วเท้า จะแดง ลอก มีรอยแตก หรือมีสะเก็ด พบบ่อยที่สุดที่ระหว่างนิ้วกลาง นิ้วนาง และระหว่างง่ามนิ้วนางกับนิ้วก้อย บางคนที่มีแผล อาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติมได้ โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดในที่มีอากาศร้อนชื้น ภาวะน้ำท่วม แช่น้ำนานๆ หรือการใส่รองเท้าที่อับชื้นเป็นเวลานานๆ จะทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อมากขึ้น
การรักษา
 รักษาได้ด้วยการใช้ยาเชื้อราทั้งชนิดทาและชนิดรับประทาน ชนิดทาควรจะใช้ต่อเนื่องประมาณ 4 สัปดาห์เพื่อให้หายขาด แต่ยาบางชนิดสามารถใช้เพียงสัปดาห์เดียว ขึ้นอยู่กับชนิดยา ถึงแม้ว่า อาการจะดีขึ้นหลังจากใช้ยาไม่กี่วัน ก็ควรจะใช้ยาให้ต่อเนื่องตามที่แนะนำ โดยทายาที่ง่ามนิ้ว และฝ่าเท้า การกลับมาติดเชื้อซ้ำ มักจะเกิดจากการใช้ยาไม่ต่อเนื่อง ในผู้ที่มีการหนาขึ้นของผิวหนังมากกว่าปกติ อาจจะต้องเพิ่มยาที่ช่วยทำให้ผิวหนังบางลงร่วมด้วย เช่น urea cream
กลุ่มยาทาที่ใช้รักษา
 ยากลุ่ม Imidazoles เป็นกลุ่มที่มีประสิทธิภาพดีในการรักษาการติดเชื้อรา ตัวอย่างยาเช่น  Clotrimazole 1% , Econazole 1% cream (Spectazole Topical) , Ketoconazole 1% cream (Nizoral)
 ยากลุ่ม Pyridones เป็นกลุ่มยาที่มีฤทธิ์กว้าง ครอบคลุมการรักษาเชื้อรา เชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้  Ciclopirox 1% cream (Loprox)
 ยาขี้ผึ้ง Whitfield เป็นยาอีกตัวหนึ่งที่มีราคาถูกและสามารถใช้รักษาเชื้อราที่เท้าได้

การดูแล 
 - ทายารักษาเชื้อราอย่างต่อเนื่อง โดยทาที่ง่ามนิ้ว และฝ่าเท้า
 - ทำให้เท้าสะอาดและแห้ง ให้ล้างทำความสะอาดด้วยสบู่
 - ไม่ควรใส่รองเท้าที่อับชื้นนาน ๆ ถ้าเป็นไปได้ให้เอารองเท้าตากแดดให้แห้งด้วย
 - การทาแป้งจะช่วยทำให้แห้งและลดความอับชื้นได้
 - ควรใส่รองเท้าบูท แต่ถ้าน้ำสูง หรือเข้าไปในรองเท้าบูท ควรเทน้ำออก ดีกว่าแช่เท้าไว้ในน้ำ
 - หากมีบาดแผลที่เท้าให้ทำความสะอาดแผล เช็ดแอลกอฮอล์รอบแผล
 - หากมีแผลบวมแดง อักเสบควรพบแพทย์เพื่อดูว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียและอาจจะต้องได้รับยาฆ่าเชื้อโรค
โรงพยาบาลสมิติเวช
โทร. 0-2711-8000