ไลฟ์สไตล์

ละครดึกดำบรรพ์ มหรสพมหัศจรรย์สมัย ร.5

ละครดึกดำบรรพ์ มหรสพมหัศจรรย์สมัย ร.5

28 ต.ค. 2553

ในขณะที่ทุกคนรู้สึกตื่นเต้นกับเทคนิคและความอลังการต่อฉาก แสง สี และเสียงของ "ละครเวที" ในยุคปัจจุบัน น้อยคนนักจะรู้ว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ สมเด็จพระปิยมหาราช "ละครดึกดำบรรพ์" ก็ใช้เทคนิคเดียวกั

  ช่วยไม่ได้ หากหลายคนจะแสดงอาการสงสัยใคร่รู้ว่า "ละครดึกดำบรรพ์" คืออะไร ด้วยว่าเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปวิถีชีวิตย่อมก็เปลี่ยนแปลง ไม่เว้นแม้แต่ศิลปะการแสดงดังกล่าว ซึ่งเคยได้รับการกล่าวขานว่าเป็นการแสดงที่ "เฟื่องฟูสุดขีด" ด้วยว่ามีเสน่ห์ต่างไปจากละครนอก ละครใน ซึ่งมีมาแต่ดั้งเดิม เนื่องจากเป็นการแสดงที่ เจ้าพระยาเทเวศรวงศ์วิวัฒน์ (ม.ร.ว.หลาน กุญชร) นำมาสร้างสรรค์ภายใต้แรงบันดาลใจเมื่อครั้งเดินทางไปยุโรปเมื่อปี พ.ศ.2434 และมีโอกาสได้ชมการแสดง "โอเปร่า" และนำกลับมาประยุกต์ให้เป็นแบบไทย เพื่อสร้างความแปลกใหม่ ร่วมกับสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ทรงเชี่ยวชาญในการดนตรี

 ภายในอาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ ซึ่งใช้เป็นสถานที่จัดงาน ร้อยนิทรรศน์ยลรัตนโกสินทร์ ชุด พระบารมีล้นเกล้า พระพุทธเจ้าหลวง "ครูจุล" จุลชาติ อรัณยะนาค ครูชำนาญการพิเศษ วิทยาลัยนาฏศิลป และผู้กำกับการแสดง ละครดึกดำบรรพ์ เรื่อง อุณรุท ตอน พระจักรกฤษณ์ทรงครุฑ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่จัดแสดงให้ประชาชนได้ร่วมชมในครั้งนี้ เล่าถึงเสน่ห์ของละครดึกดำบรรพ์ว่า หากพูดตามภาษาวัยรุ่นในสมัยก็เรียกได้ว่า "จี๊ดมาก" ด้วยความพิเศษที่ว่า เป็นการผสมผสานระหว่าง ความสวยงามของละครใน ความรวบรัดของละครนอก และความอลังการของโขน ที่ผู้ร้องก็ร้องไปตามบทว่า ผู้รำต้องร้องเองในบทของตัวเอง และใช้ผู้หญิงล้วนในการแสดงเป็นส่วนใหญ่ ผู้แสดงจึงต้องมีคุณสมบัติพิเศษ คือ นอกจากต้องมีเสียงดี ขับร้องเพลงไทยได้ไพเราะ ยังต้องมีรูปร่างงดงาม รำสวย โดยเฉพาะตัวเอกของเรื่อง

 สำหรับการแต่งกายนั้น ก็มีความวิจิตรเฉกเช่นเดียวกับ "ละครใน" ที่เรียกว่า "ยืนเครื่อง" โดยเฉพาะการแต่งหน้าอย่างสวยงามด้วยลายไทยแทนการสวมหัวโขน สิ่งสำคัญคือ "ฉาก" ที่มีการออกแบบตกแต่งให้มีมิติ โดยใช้แสง สี เสียง พร้อมกลไกการ "ชักรอก" ซึ่งนับว่าเป็นเทคนิคใหม่ในยุคนั้น ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในสยามประเทศ เรียกความตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้ชมเป็นอย่างยิ่ง ภาคดนตรีใช้วงปี่พาทย์ดึกดำบรรพ์ โดยเป็นวงปี่พาทย์ไม้นวมเครื่องใหญ่ที่ปรับปรุงให้มีแต่เครื่องดนตรีเสียงทุ้มนุ่ม ไม่แข็งกร้าว ส่วนเรื่องที่ใช้แสดงส่วนใหญ่เป็นบทละครที่คัดเฉพาะบางตอนมาเล่น อาทิ อุณรุท รามเกียรติ์ มณีพิชัย สังข์ศิลป์ชัย สังข์ทอง คาวี อิเหนา เป็นต้น

 "ครูบาอาจารย์เคยบอกว่าละครดึกดำบรรพ์นับว่ายากที่สุดในบรรดาละครทั้งหลาย ทางเพลงก็ยาก ยิ่งเพลงโบราณบางเพลงมีเอื้อนเยอะ ต้องรำด้วย ไหนจะแต่งตัวยืนเครื่องสวยงาม แต่อึดอัด เล่นแล้วเหนื่อยมาก จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะหาผู้เล่นที่มีคุณสมบัติครบถ้วนมาแสดง แล้วไหนจะเรื่องฉาก เรื่องเทคนิคอีก ก็เลยไม่ค่อยมีการจัดละครดึกดำบรรพ์เต็มรูปแบบ เพราะใช้ทุนสูง กรมศิลปากรเคยจัดขึ้นครั้งแรกหลังจากเลิกการจัดแสดงลงภายหลังเมื่อสิ้นเจ้าพระยาเทเวศรฯ เมื่อปี พ.ศ.2491 โดย อ.ส่องชาติ ชื่นศิริ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ไทย)" ผู้กำกับการแสดงละครดึกดำบรรพ์รายล่าสุดกล่าว

 ขณะที่ทายาทวังบ้านหม้อ "อ.โต" ม.ล.จิราธร จิรประวัติ เล่าถึงสีสันอันเกิดจากละครดึกดำบรรพ์ของวังบ้านหม้อให้ฟังว่า ละครดึกดำบรรพ์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากคือ เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน นางศูรปนขาหึงนางสีดา และในสมัยนั้นนางละครส่วนใหญ่เป็นภรรยาของเจ้าพระยาเทเวศรฯ ซึ่งก็มีเขม่นกันบ้างอยู่แล้ว พอถึงฉากที่มีการตบกันตามบทก็มักฉวยโอกาสตบกันจริงๆ รุ่งขึ้นเมื่อเจ้าพระยาเทเวศรฯ ทราบ ก็ลงโทษด้วยการเฆี่ยนเป็นรายตัวไป

 "นอกจากนี้ยังมีช้างแสนรู้ ชื่อ "พลายมงคล" ที่เจ้าเมืองเชียงใหม่น้อมเกล้าฯ ถวายเป็นบรรณาการแด่รัชกาลที่ 5 ซึ่งได้พระราชทานแก่เจ้าพระยาเทเวศรฯ เป็นผู้ดูแล จึงได้นำมาร่วมแสดงเป็นช้างสามเศียรด้วย ทำให้ฉากละครมีความยิ่งใหญ่อลังการสมจริง จนมีผู้ติดตามชมกันมากมาย ว่ากันว่า แม้แต่ขอทานยังรวบรวมเงินที่ได้รับบริจาคมาดูละครและชอบมากถึงขนาดเขียนพินัยกรรมว่า ถ้าตายไปก็ขอให้นำเงินทั้งหมดที่เก็บไว้ มาจ้างให้คณะละครดึกดำบรรพย์ของเจ้าพระยาเทเวศรฯ ไปเล่นหน้าศพ โดยในสมัยนั้นจะได้รับค่าจ้างครั้งละ 400 บาท และหากให้จัดฉากด้วยก็เพิ่มเป็น 450 บาท ซึ่งนับว่าไม่น้อยทีเดียว" ม.ล.จิราธร กล่าว

 ด้าน อ.เปรมใจ เพ็งสุข หรือ นางอุษา ผู้เป็นนางเอกของเรื่อง กล่าวด้วยน้ำเสียงเสียดายว่า หากไม่มีใครอนุรักษ์และสืบทอดละครดึกดำบรรพ์ก็อาจจะเลือนหายไปในที่สุด จึงอยากให้หน่วยงานต่างๆ เห็นความสำคัญเลือกนำมหรสพแบบนี้มาจัดให้ประชาชนได้ชมกันบ่อยๆ เช่นเดียวกับที่ ครูจุลชาติ ได้กล่าวปิดท้ายว่า หากจะฟื้นฟูให้ศิลปะการแสดง "ละครดึกดำบรรพ์" กลับมาอีกครั้งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ตั้งแต่ สื่อมวลชน ภาครัฐ ตลอดจนภาคเอกชน

 "เพราะศิลปวัฒนธรรม...ต้องมีคนชักนำ"