ไลฟ์สไตล์

แก้ปัญหา"ดินเค็ม"ด้วยยูคาฯ

แก้ปัญหา"ดินเค็ม"ด้วยยูคาฯ

26 ต.ค. 2553

พื้นที่ดินเค็มกว่า 8 หมื่นไร่ ในหลายอำเภอของ จ.ขอนแก่น กลายปัญหาหนักอกของชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่มีอาชีพทำนามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้กรมพัฒนาที่ดินจะเข้าไปดูแลเยียวยา แต่ก็แก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น

 เนื่องด้วยงบประมาณและบุคลากรที่จำกัด ทำให้ไม่สามารถขยายพื้นที่ได้ในเวลาอันรวดเร็ว โดยเห็นจากตัวเลขการแก้ไขปัญหาดินเค็มที่ช่วง 10 ปีที่ผ่าน (2543-2553) สามารถแก้ไขปัญหาได้เพียง 1.4 หมื่นไร่เท่านั้น ที่สำคัญเป็นการปรับปรุงดินจากเค็มมากให้เหลือเค็มปานกลางและเค็มน้อยเท่านั้น เพื่อให้ชาวบ้านนำที่ดินมาประกอบอาชีพได้ แต่ไม่สามารถปรับปรุงดินให้อยู่ในสภาพปกติได้

 การแก้ปัญหาของกรมพัฒนาที่ดินที่ผ่านมาทำได้เพียงค้นหาพืชทนเค็มมาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพื่อลดการแพร่กระจายของดินเค็มไปสู่บริเวณข้างเคียง เช่น กระถินออสเตรเลีย หรือหญ้าดิ๊กซี แต่ปัญหาพืชเหล่านี้ก็คือทนดินเค็มได้อย่างเดียว ไม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เมื่อชาวบ้านนำไปปลูกสุดท้ายทำได้แค่ทำฟืนเผาถ่านเท่านั้น จะนำไปขายก็ไม่ได้ราคา

 แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาชาวนาใน 3 อำเภอของ จ.ขอนแก่น ได้แก่ อ.น้ำพอง อ.บ้านแฮด และอ.บ้านไผ่ แหล่งดินเค็มที่สำคัญ เริ่มมองเห็นลู่ทางอันสดใสในอาชีพมากขึ้น หลังกรมพัฒนาที่ดินร่วมกับบริษัท สยามฟอเรสทรี จำกัด ในเครือเอสซีจี เปเปอร์ ทดลองโครงการนำร่องส่งเสริมชาวบ้านปลูกยูคาลิปตัสพันธุ์เอช 4 (H4) ซึ่งได้รับการปรับปรุงสายพันธุ์ให้เป็นพืชที่ทนดินเค็ม (ได้ระดับหนึ่ง) ไปปลูกบนคันนาแทนหญ้าดิ๊กซีและกระถินออสเตรเลีย

 เพราะยูคาลิปตัส เป็นไม้มีรากลึก นอกจากจะช่วยดูดซับความเค็มของดินและลดการแพร่กระจายของดินเค็มแล้ว ยังเป็นไม้เศรษฐกิจ ขายได้ราคา เป็นการเพิ่มรายได้ให้ชาวนาอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่ง คุณจุมพฎ ตันมณี กรรมการผู้จัดการสยามฟอเรสทรี มองว่าภาครัฐอาจจะเน้นเรื่องการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก แต่ขาดมิติทางเศรษฐกิจ เมื่อเอสซีจี เปเปอร์ เข้าไปเสริมตรงนี้จะทำให้ทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมมีความสมบูรณ์มากขึ้น

 "กรมพัฒนาที่ดิน เขามีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและเทคโนโลยีในการปรับปรุงแก้ปัญหาดินเค็ม ส่วนเราก็มีไม้เศรษฐกิจทนเค็มคือ ยูคาลิปตัส ที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ให้ทนดินเค็มได้ดี ซึ่งเราก็เห็นว่าบางแห่งเป็นพื้นที่ว่างเปล่าไม่สามารถปลูกอะไรได้เลย หรือพื้นที่บนคันนาก็ให้ลองนำยูคาลิปตัสไปปลูกดู แต่เท่าที่เราได้ทดลองทำโครงการร่วมกับสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 (ขอนแก่น) ในหลายพื้นที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาปรากฏว่ายูคาลิปตัสก็เจริญเติบโตดี ชาวบ้านก็แฮปปี้นะ เพราะจะได้มีรายได้เสริมจากยูคาลิปตัส ดีกว่าทำนาอย่างเดียว"
  นี่คือเหตผลที่คุณจุมพฎพูดถึงโครงการนำร่องการปลูกยูคาลิปตัสแก้ปัญหาดินเค็มระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดงาน "ยัง ฟอเรสเตอร์ บูธ แคมป์" ซึ่งเอสซีจี เปเปอร์ ร่วมกับกรมพัฒนาที่ดินและศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ จัดขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นการปูพื้นฐานและเผยแพร่องค์ความรู้ในการแก้ปัญหาพื้นที่ดินเค็มแบบบูรณาการในภาคเกษตรกรรมของไทยให้นักศึกษาด้านการเกษตรจาก 5 มหาวิทยาลัยในภาคอีสาน ระหว่างวันที่ 19-23 ตุลาคมที่ผ่านมา

สุรัตน์ อัตตะ
[email protected]