ไลฟ์สไตล์

ภูมิล้านนา"โชคทวีโอสถ"
ชีวิตลงตัว"ทวี ก๋าท้องทุ่ง"

ภูมิล้านนา"โชคทวีโอสถ" ชีวิตลงตัว"ทวี ก๋าท้องทุ่ง"

21 ต.ค. 2553

ความสนใจในภูมิปัญญาท้องถิ่นที่นำเอาสมุนไพรมาทำเป็นยารักษาโรคต่างๆ ของ ทวี ก๋าท้องทุ่ง วัย 47 ปี ชาว ต.แม่ยม อ.เมือง จ.แพร่ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดมาจากรุ่นบรรพบุรุษตั้งแต่เขายังอยู่วัยเด็กได้ซึมซาบต่อเนื่อง กระทั่งได้ถูกนำมาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในการช่วยบรรเ

  "ทวี" สนใจเกี่ยวกับสมุนไพรไทยมาตั้งแต่ยังเด็กจากการถ่ายทอดของปู่ย่าตายาย และในการปรุงยาสมุนไพรโบราณตำรับล้านนา มาจากพระครูถาวรชัยกิจ เจ้าอาวาสวัดปทุม จ.แพร่ เมื่อครั้งบวชเป็นพระปี 2507

 "ที่มาความรู้เกิดจากการสอบถามผู้รู้และได้มาจากตำรายาสมุนไพรโบราณล้านนาจากวัดปทุม เมื่อครั้งที่ผมบวชเป็นพระ ด้วยความตั้งใจที่จะช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย จนปี 2531 ผมลาสิกขาบท จึงได้เริ่มผลิตจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างจริงจัง โดยใช้ชื่อโชคทวีโอสถ ก่อนได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะขึ้นทะเบียนให้เป็นผู้ประกอบการโรคศิลปะแผนโบราณ สาขา เภสัชกรรมในปี 2541" ทวี เล่าถึงที่มา

 ผลิตภัณฑ์สมุนไพร โชคทวีโอสถ วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตส่วนใหญ่ได้จากธรรมชาติในพื้นที่ภาคเหนือ ก่อนนำมาผ่านกระบวนการผลิตตามมาตรฐานการผลิตของกระทรวงสาธารณสุข และมีการควบคุมโดยเภสัชกร ปัจจุบันมียาสมุนไพรที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสำหรับยาแผนโบราณแล้วทั้งสิ้น 6 ชนิด ได้แก่ ยาขับลม ยาแก้ไข ยาว่านชักมดลูก ยาหม่องไพร ยากระษัยเส้น (ชนิดผง) ยากระษัยเส้น (ชนิดชง)

 "จะเน้นผลิตตามสูตรล้านนา โดยใช้สมุนไพรท้องถิ่นที่หาได้ตามธรรมชาติ หรือรับซื้อจากชาวบ้าน อย่างด้านความงาม สมุนไพรที่เรานำมาประยุกต์ใช้ เช่น ขมิ้นชัน ใบมะขาม ใบส้มป่อย ที่มีสรรพคุณลดการอักเสบของผิว อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการบำรุง เมื่อนำมาแปรรูปและบรรจุในผ้าให้ได้รูปทรงกลม เรียกว่าลูกประคบ ก็ใช้เป็นสมุนไพรอบตัวมีสรรพคุณช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ช่วยขับของเสียออกจากร่างกาย ลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อและบรรเทาอาการปวดเมื่อย ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ" ทวี กล่าว

 22 ปี ในการผลิตยาสมุนไพรเพื่อจำหน่ายสิ่งที่ทำให้ธุรกิจคงอยู่ได้ นั่นคือคุณประโยชน์ของสมุนไพรท้องถิ่นที่นำมาใช้ในการผลิตยา ควบคู่กับการรักษามาตรฐานในการผลิต สำหรับในอนาคตทวียอมรับว่ามีแผนจะส่งออกสมุนไพรไปยังต่างประเทศด้วย

 วันนี้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถูกมองข้ามในแง่ความนิยมของคนส่วนใหญ่ในสังคม แต่อีกด้านหนึ่งการเห็นถึงคุณค่าและประโยชน์ที่ได้รับจริงจากคนอีกกลุ่มหนึ่ง ทำให้การรักษาไว้ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวกับสมุนไพรและตำรายาพื้นบ้านล้านนายังคงแทรกตัวอยู่ได้ และยังมีโอกาสที่จะขับเคลื่อนต่อไป ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง

"มัทนา ลัดดาสิริพร"