
ซ้ำลืมเพื่อซ้ำรอย
ความรุนแรงจากเหตุการณ์เดือนตุลามหาวิปโยค เมื่อหลายสิบปีก่อนนั้น ยังได้รับการกล่าวขานทบทวนกันทุกเดือนตุลาคมของทุกปี แต่เหตุการณ์ความรุนแรงในบ้านนี้เมืองนี้ก็ยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่ว่าจะเกิดเดือนไหนก็ตาม ล้วนเป็นข้อบ่งชี้ว่า "วิชาประวัติศาสตร์ สอนเราว
คนไทยมักลืมความรุนแรงที่เกิดขึ้นในอดีตดอกหรือ แท้จริงแล้วเราไม่ลืม เรายังคงจัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในอดีตทุกปี แต่เราไม่ค่อยตระหนักที่จะสร้างสำนึกเพื่อนำอดีตที่เลวมาเป็นบทเรียนเพื่อเสริมสร้างปัจจุบันที่ดี ประวัติศาสตร์จึงมีไว้ซ้ำรอยมากกว่า ที่จะมีไว้เป็นบทเรียน
ข้อเสียของคนไทยคือเรามักกระเดียดไปในทางกระแดะ มักทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ต่อความเป็นจริงที่ไม่เป็นธรรม เราไม่เรียนประวัติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมา ว่าความจริงที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงเลวร้ายที่ผ่านมานั้นเป็นอย่างไรอย่างละเอียดยิบ ในบทเรียนของนักเรียนนั้นไม่ต้องพูดถึง เราไม่กล้านำเรื่องจริงแสลงใจมาสอนให้เด็กไทยของเราเข้าใจความจริงตามความเป็นจริง เด็กของเราจึงเติบโตมาอย่างคนไม่มีรากแก้วทางประวัติศาสตร์ ความสำนึกใหม่เพื่อแก้ไขความผิดพลาดเก่าจึงมีน้อยกว่าน้อยนัก
พระพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมด้วยญาณสามประการ หนึ่งในนั้นคือ "บุพเพนิวาสานุสติญาณ" ได้แก่ญาณหยั่งรู้อดีตกาลและอดีตชาติ โดยเฉพาะในวาระจิตของพระองค์และหมู่สัตว์โลก โยงมาถึงพวกเราชาวพุทธ สมควรที่จะฝึกฝนสร้างญาณอดีตให้แกร่งกล้ามากขึ้นด้วยการให้ความสำคัญในการทบทวนทิศทางของชีวิตตนเอง และชีวิตสังคมประเทศชาติของเรา เพื่อให้เกิดการ "ปรับปรุงสิ่งใหม่ แก้ไขสิ่งผิด เพื่อชีวิตที่ดีกว่า"
ขอให้สถาบันการศึกษาทุกแห่งให้ความสำคัญกับวิชาประวัติศาสตร์มากขึ้น โดยให้เรียนรู้พร้อมกันไปทั้งวิชาประวัติศาสตร์ในและนอกกระแสหลัก ทั้งนี้ ต้องไม่กลัวการกระทบกระทั่งต่อบุคคลในประวัติศาสตร์ รวมไปถึงคนในปัจจุบันที่เข้าข้างหรือต่อต้านบุคคลในประวัติศาสตร์นั้น ดังกรณีการนำเสนอของมติชนสุดสัปดาห์ เรื่อง "กรณีสวรรคต รัชกาลที่แปด" เมื่อเร็วๆ นี้ ก็เป็นแง่มุมทางประวัติศาสตร์ที่ผู้เขียนไม่เห็น ด้วยกับประเด็นดังกล่าว แต่ก็เห็นด้วยว่าควรนำเสนอประเด็นทางประวัติศาสตร์ออกมาให้มากๆ เพื่อให้เกิดความหลากหลายทางเลือกความรู้
อย่าซ้ำลืมซ้ำรอยประวัติศาสตร์ จนลืมชาติญาติมิตรแห่งยุคสมัย
อย่าลืมตนจนลืมตัวลืมหัวใจ หลงของใหม่ลืมของเก่าโง่เง่าจริงเอย
"ท่านจันทร์"
www.prajan.com