ไลฟ์สไตล์

"ชินวรณ์"ถอยประกาศภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่2

"ชินวรณ์"ถอยประกาศภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่2

19 ต.ค. 2553

“ชินวรณ์“ ถอยโปรเจคประกาศให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 ของประเทศ ระบุเป็นเรื่องอ่อนไหว หวั่นทำให้สังคมสับสน ขอลดระดับประกาศแค่ให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศหลักที่รัฐบาลจะทุ่มเทพัฒนาเป็นอันดับต้นๆแทน

เมื่อวันที่ 19 ต.ค.2553 นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ศธ.ได้พิจารณาแนวทางประกาศให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 ของประเทศแล้ว เห็นควรว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องอ่อนไหวต่อความเข้าใจของประชาชน และต่อหน่วยงานต่างๆที่จะรับแนวทางไปปฏิบัติ จึงคิดว่าจะปรับแนวทาง ไม่ประกาศให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 ของประเทศแล้ว จะขอประกาศแค่ให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศหลักที่รัฐบาลจะเอาจริงเอาจังในการพัฒนาเป็นอันดับต้นๆแทน

 “เดิมมีการเสนอจากคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ว่าควรผลักดันให้รัฐบาลประกาศให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 ของประเทศ เพื่อรัฐจะได้ทุ่มพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษอย่างจริงจังเป็นระบบเสียที แต่เมื่อพิจารณาดูดีๆก็พบว่าอาจเป็นปัญหาต่อความเข้าใจ เป็นเรื่องอ่อนไหว เพราะในทางการเมือง การประกาศให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 มักจะนำไปสู่ความเข้าใจว่าประเทศที่ประกาศเช่นนี้เป็นประเทศอาณานิคม เราจึงต้องปรับแนวทางการประกาศเสียใหม่” รมว.ศธ. กล่าว

 นายชินวรณ์ กล่าวอีกว่า แม้จะไม่ประกาศถึงขนาดให้ภาษาอังกษเป็นภาษาที่ 2 แต่ศธ.ยืนยันว่านโยบายการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในยุคปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 จะทุ่มทำอย่างเต็มที่ ทั้งในการพัฒนาบุคลากร การจัดสรรงบประมาณ โดยในวันที่ 22 ต.ค. นี้ กระทรวงศึกษาธิการจะจัดให้มีการประกาศจุดเน้นคุณภาพผู้เรียน จุดเปลี่ยนการศึกษาไทย มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานประกาศจุดเน้นต่างๆด้านการศึกษาด้วยตัวเอง และหนึ่งในจุดเน้นนี้ก็คือการประกาศว่าจะให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศหลักที่รัฐบาลจะเอาจริงเอาจังในการพัฒนาเป็นอันดับต้นๆ

 "ส่วนของรายละเอียดการพัฒนาก็ยังคงยึดเป้าหมายเดิมที่ได้วางกันเอาไว้ คือ พัฒนาให้ร.ร.รัฐและเอกชนที่มีชื่อเสียง ก้าวไปสู่ร.ร.ที่เป็นมาตรฐานสากล ผุ้เรียนที่จบการศึกษาในกลุ่มร.ร.เหล่านี้สามารถพูด สื่อสาร ภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว ขยายจำนวนร.ร.ที่สอน English Program หรือ Bilingual จัดให้นร.ชั้นม.ปลายทุกร.ร.ได้เรียนภาษาอังกฤษกับชาวต่างประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ ประสานกระทรวงการต่างประเทศในการติดต่อหาครูชาวต่างชาติในกลุ่มดังกล่าวเข้ามาส่งเสริมแนวทางนี้ ให้นร.ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นได้เรียนภาษาอังกฤษกับครูผู้สอนที่เรียนจบเอกภาษาอังกษโดยตรง" รมว.ศธ. กล่าว

 นายชินวรณ์ กล่าวว่า นอกจากนายกฯจะประกาศเรื่องที่ว่านี้แล้ว ยังจะประกาศเรื่องการปรับปรุงหลักสูตร วิธีการจัดการเรียนการสอน ที่จะปรับโครงสร้างหลักสูตร ให้มีการเรียนวิชาการในห้องเรียน 70 % เรียนรู้ทำกิจกรรมอื่นๆนอกห้องเรียน 30 % อีกทั้งประกาสจุดเน้นการพัฒนาเยาวชนไทยให้มีความเป็นพลเมืองดี

 ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า ตามหลักวิชาการความสำคัญด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในประเทศต่างๆจะแบ่งเป็น 2 ลักษณะ หลักสูตรการเรียนการสอนก็จะจัดเป็น 2 ลักษณะ คือ ESL ( English as a second language ) กับ EFL ( English as a foreign language ) ในอเมริกาการสอนหลักสูตร ESL จะสอนให้ประชากรต่างชาติที่อพยพเข้ามาแบบ Immigration เพื่อจะพิจารณาให้เป็นประชากรของประเทศ ดังนั้นถ้าไทยประกาศว่าจะให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 ของประเทศ จะอ่อนไหวต่อความเข้าใจ หลายฝ่ายไม่อยากให้การประกาศจุดเน้นพัฒนาภาอังกฤษครั้งนี้มีนัยที่อ่อนไหว