
สมคิด เลิศไพฑูรย์นั่งเก้าอี้อธิการบดีมธ.
สมคิดนั่งเก้าอี้อธิการบดีมธ. เผยคะแนนโหวตลับ 25 ต่อ 5 ขณะที่ว่าที่อธิการมธ. เล็งสานต่อภารกิจสร้างจิตวิญญาณของคนธรรมศาสตร์ สนับสนุนให้อาจารย์ทำวิจัยเพิ่มขึ้น พร้อมเดินหน้าผลักดันม.นอกระบบ เชื่อม.ออกนอกระบบไม่ใช่การแสวงหากำไร แจงผลประโยชน์ตกอยู่กับนักศึกษ
เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2553 นายวิทวัส ศตสุข อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมสรรหาอธิการบดี มธ.กล่าวถึงความคืบหน้าการสรรหาอธิการบดี มธ.แทนศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีปัจจุบันที่จะหมดวาระวันที่ 25 ต.ค. ว่า คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย มีนายสุเมธ ตันติเวชกุล นายกสภามหาวิทยาลัย เป็นประธาน ได้พิจารณารายชื่อที่นายมานุต บุนนาค ประธานคณะกรรมการสรรหา เสนอขึ้นมา 2 รายชื่อ เพื่อรับการคัดเลือกให้เป็นอธิการบดีคนใหม่ ได้แก่ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ รองอธิการบดีฝ่ายการคลัง และม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ อาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี โดยที่ประชุมสภามหาวิทยาลัย ได้ให้ทั้ง 2 ท่านเสนอแนวทางการบริหารมหาวิทยาลัยและตอบข้อซักถาม จากนั้นเป็นการลงคะแนนโหวตลับ ผลปรากฏว่าศ.ดร.สมคิด ได้รับการโหวตให้เป็นอธิการบดีมธ.คนใหม่ด้วยคะแนนเสียง 25 ต่อ 5 จากนี้สภามหาวิทยาลัยจะนำรายชื่อศ.ดร.สมคิด เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป
ศ.ดร.สมคิด กล่าวว่า ตามธรรมเนียมของมธ.ผู้ได้รับคัดเลือกเป็นอธิการบดีต้องเริ่มทำงานทันทีซึ่งตนเริ่มงานในฐานะรักษาการอธิการบดีมธ.ในวันที่ 26 ต.ค.นี้ โดยหลังจากนี้ตั้งใจจะเดินหน้าตามที่ได้แถลงต่อกรรมการสภามหาวิทยาลัยไว้ 2 ประเด็น คือ 1.สร้างจิตวิญญาณของคนธรรมศาสตร์ ต้องมีความแตกต่างกับมหาวิทยาลัยอื่น โดยอยากดึงมธ.กลับมาจุดเริ่มต้นในการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชน ส่วนนักศึกษาเน้นผลิตบัณฑิตที่มีความรู้คู่คุณธรรม ส่งเสริมให้นักศึกษาออกไปทำกิจกรรมร่วมกับคนในชุมชนให้มากขึ้นโดยเริ่มจากโครงการ 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด ส่งนักศึกษาออกไปช่วยเหลือชุมชนเพื่อทำให้มีจิตอาสาจบออกมาเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ 2.สนับสนุนให้อาจารย์ทำวิจัยเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัญหาใหญ่ขณะนี้ไม่ได้อยู่ที่งบประมาณ มธ.สามารถหางบสนับสนุนงานวิจัยได้เองถึง ปีละ 600 ล้านบาท ขณะที่รัฐบาลให้งบวิจัยกับมหาวิทยาลัยปีละ 30 ล้านบาท ดังนั้นมธไม่มีปัญหาเรื่องงบอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เป็นปัญหาใหญ่ คือ ไม่ค่อยมีอาจารย์ทำงานวิจัย โดยขณะนี้มธ.มีอาจารย์ทั้งหมด 1,700 คน แต่มีอาจารย์ทำวิจัยเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น
ว่าที่อธิการบดีมธ.กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องการผลักดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ขณะนี้ร่างพ.ร.บ.มธ.ผ่านการพิจารณาคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และหากผ่านพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)สามารถเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรได้ทันที ต้องถือว่ามธ.ออกนอกระบบช้าเกินไป อย่างไรก็ตาม ตนอยากให้มธ.ออกนอกระบบ เพราะมองในแง่ดี ทำให้การบริหารจัดการคล่องตัวมากขึ้น ทั้งนี้ ต้องสร้างความเข้ากับชาวมธ.ด้วยว่าหากออกนอกระบบไปแล้วมีข้อดี/ข้อเสียอย่างไรบ้าง ที่สำคัญการออกนอกระบบไม่ใช่การแสวงหากำไร หรือกลัวว่าหากมหาวิทยาลัยออกนอกระบบไปแล้วค่าเทอมจะขึ้น ซึ่งไม่เป็นความจริง แต่คิดว่าผลประโยชน์ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับนักศึกษา เพราะมหาวิทยาลัยมีระบบตรวจสอบการทำงานของอาจารย์ที่เข้มมากขึ้น