ไลฟ์สไตล์

ข้าวโพดที่นครไทย

ข้าวโพดที่นครไทย

11 ต.ค. 2553

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้มีโอกาสไปที่ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก เพื่อไปดูผลของการทดสอบการใช้ปุ๋ยในแปลงข้าวโพดของเกษตรกร เนื่องจากว่าเมื่อวิเคราะห์ละเอียดแล้วพบว่าเกษตรกรที่นั่นจ่ายเงินเป็นค่าปุ๋ยประมาณครึ่งหนึ่งของต้นทุนทั้งหมด ดังนั้นทีมงานวิจัยโดยมี ดร.ธนูชัย

เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งได้นำผลงานของ ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ เกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน มาขยายผลจริงในแปลงของเกษตรกร และได้เริ่มลงมือปลูกข้าวโพดเมื่อไม่กี่เดือนมานี้พร้อมทั้งใส่ปุ๋ย 2 แบบ คือแบบแรกตามวิธีการเดิมที่เคยใช้กันมา และเปรียบเทียบกับแบบใหม่ที่มีการวิเคราะห์ดินก่อนว่ามีธาตุอาหารคือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม มากน้อยเพียงใดแล้วจึงใส่ปุ๋ยตามความต้องการที่แท้จริงของข้าวโพดที่ปลูกอยู่ในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งวิธีการแบบหลังนี้เรียกว่าการให้ปุ๋ยแบบ “สั่งตัด”

ที่ต้องนำเรื่องนี้มีเล่ากันอีกก็เพราะว่าเกษตรกรที่นครไทย เมื่อมีการใช้ปุ๋ยตามคำแนะนำแบบใหม่นี้แล้ว ปรากฏว่าต้นทุนค่าปุ๋ยลดลงเห็นได้ชัด คือจากประมาณ 1,500 บาท ลดลงเหลือประมาณ 800-900 บาทเท่านั้น ในขณะที่ผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เพราะตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาเก็บเกี่ยว แต่เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดก็ได้ลองแกะฝักดู และพบว่าฝักมีขนาดใหญ่และสม่ำเสมอมากกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด และได้เล่าลือต่อๆ กันมาถึงประสิทธิภาพของปุ๋ยสั่งตัด จนกระทั่งมีการถามหากันว่า จะหาซื้อปุ๋ยสั่งตัดนั้นได้ที่ไหน แสดงว่าหลายคนยังไม่เข้าใจว่าปุ๋ยสั่งตัดที่นักวิชาการตั้งชื่อเรียกไว้นั้น ยังไม่เป็นที่เข้าใจกัน

ปุ๋ยสั่งตัดไม่ใช่ยี่ห้อของปุ๋ย แต่เป็นเรื่องของวิธีการให้ปุ๋ยมากกว่า เปรียบเทียบได้เหมือนกับการตัดเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับคนแต่ละคน เนื่องจากแต่ละคนมีขนาดตัวไม่เท่ากัน ดังนั้นเพื่อให้เหมาะสมพอดีตัวจึงต้องมีการตัดเย็บให้เหมาะสมสำหรับแต่ละคน เรื่องของดินก็เช่นกัน ดินแต่ละแห่ง แม้แต่อยู่ในตำบลหรือหมู่บ้านเดียวกัน ก็มีความแตกต่างกัน ธาตุอาหารในดินก็แตกต่างกัน และถ้ามีการปลูกพืชต่างชนิดกันก็ยิ่งต้องคำนึงถึงความต้องการธาตุอาหารของพืชแต่ละชนิดอีกด้วย

ขั้นตอนในการทำเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับแต่ละคน กับการใช้ปุ๋ยสั่งตัดมีเหมือนกันเกือบทุกอย่าง เช่นการตัดเสื้อผ้า สิ่งแรกที่ต้องทำคือการ “วัดตัว” ส่วนการใช้ปุ๋ยสั่งตัดขั้นแรกที่ต้องทำคือการ “วัดดิน” หมายความว่าต้องนำดินนั้นไปวิเคราะห์ว่ามีธาตุอาหารมากน้อยเพียงใด เมื่อก่อนนี้ต้องส่งดินไปวิเคราะห์ยังห้องปฏิบัติการของหน่วยราชการ แต่ทีมงานวิจัยของ ดร.ทัศนีย์ อัตตะนันทน์ ได้พัฒนาชุดตรวจสอบดินอย่างง่ายขึ้นมา ซึ่งใช้เวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมงก็รู้ผล จึงสะดวกมากขึ้น

กระบวนการตัดเสื้อผ้าขั้นต่อไปก็คือการหาผ้ามาตัดให้ได้ขนาดตามที่วัดมาได้ ส่วนปุ๋ยสั่งตัดก็คือการหาปุ๋ยหรือแม่ปุ๋ยมาผสมให้ได้เนื้อธาตุอาหารตามที่ต้องการซึ่งเป็นไปตามค่าวิเคราะห์ดินที่ได้ ในกรณีของเสื้อผ้า เมื่อตัดเสร็จแล้วก็นำมาเย็บแล้วสวมใส่ ส่วนปุ๋ยสั่งตัดขั้นต่อไปก็คือนำปุ๋ยที่ผสมขึ้นมาได้ ไปใส่ให้ต้นไม้ เป็นอันเสร็จขั้นตอน

เสื้อผ้าที่ตัดตามสั่งหรือตามค่าที่ได้จากการวัดตัว ย่อมมีความพอดี ไม่ใหญ่หรือเล็กเกินไป ซึ่งก็เหมือนกับการใช้ปุ๋ยสั่งตัด ที่สามารถใช้ปุ๋ยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มากไม่น้อยเกินไป ทั้งหมดนี้จึงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลงและผลผลิตเพิ่มขึ้น คราวหน้าจะมาเล่าให้ฟังว่าการใช้ปุ๋ยข้าวโพดที่นครไทยแต่เดิมนั้นใช้กันผิดอย่างไร และเมื่อปรับปรุงแล้วเกิดอะไรขึ้นบ้าง

รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ