
อริยสัจใส่ใจสุขภาพบูรณาการคิดที่ลงตัว
"โจทย์ใหญ่มากเมื่อได้รับมอบหมายให้สอนวิชาการพัฒนากระบวนการคิดให้กับนักศึกษาพยาบาลปี 1 ไปนั่งคิด นอนคิดอยู่นาน อ่านหนังสือหลายเล่มก็ยังคิดไม่ออกว่าจะเชื่อมโยงได้ยังไง ตัดสินใจไปหาซื้อหนังสือเกี่ยวกับกระบวนการคิดที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ที่ กทม. กระทั่งได้อ่าน
ของ ศ.สุมน อมรวิวัฒน์ ทำให้คิดออกทันทีว่า จะนำเอาอริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มาหลอมรวมกับการสอนกระบวนการคิดนักศึกษาพยาบาลได้อย่างไรทันที" อ.ยุพาวดี เทพมณี วัย 51 ปี ผู้สอนรายวิชา สม.1102 การพัฒนากระบวนการคิด นักศึกษาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ 1 รุ่นที่ 26 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา2553 วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุราษฎร์ธานี ภายใต้การบริหารงานของ ผอ.อุบลรัตน์ โพธิ์พัฒนาชัย กล่าว
พร้อมทั้งอธิบายว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่คนที่สอนภาษาอังกฤษที่วิทยาลัยอาชีวศึกษา มาตลอดเวลา 27 ปี จะเปลี่ยนมาสอนกระบวนการคิดได้ แม้ว่าจะสอนร่วมกับ อ.มัฏฐวรรณ ลี้ยุทธานนท์ ผู้ประสานงานรายวิชาก็ตาม จึงต้องทำการบ้านอย่างหนัก กระทั่งได้สังเคราะห์รูปแบบการสอนขึ้นมาใหม่ภายใต้แนวคิด การบูรณาการคิดแบบอริยสัจในการใส่ใจสุขภาพกับแแนที่ความคิดมายด์แม็พ (Mind Map) โดยนำหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้มาเป็นหลักคิด
"สมุทัยคือเหตุแห่งทุกข์ ทุกข์ คือ ภาวะที่แฝงด้วยความกดดัน ขัดแย้ง ขัดข้องมีความบกพร่องไม่สมบูรณ์ในตัว มรรคคือ วิธีปฏิบัติเพื่อลดสมุทัย หรือวิธีปฏิบัติเพื่อให้เกิดนิโรธ มีมรรค 8 หรือศีล สมาธิปัญญา และนิโรธ สภาวะทุกข์น้อยลงหรือหมดไป เป็นสภาวะสงบ ปลอดโปร่ง ผ่องใส เบิกบาน เมื่อคิดได้ดังนั้นก็นำมาใช้ในการเรียนการสอน เน้นให้นักศึกษาได้พัฒนากระบวนการคิดโดยเชื่อมโยงกับสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว เช่น ปัญหาสุขภาพ การดูแลสุขภาพ โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ในหนังสือพิมพ์รายวัน เป็นต้น
"เวลาสอนจะให้โจทย์นักเรียนไป ให้ค้นคว้ามานำเสนอหน้าชั้น และให้คะแนน ทำให้นักศึกษาได้คิด ค้นคว้า ฝึกกระบวนการคิดตามหลักการคิดแบบอริยสัจ 4 ไปในตัว ทำไม่ได้ก็ไม่ได้คะแนน บางครั้งก็ให้การบ้านในห้องเรียน ไม่มีการบอกล่วงหน้า ทำให้เด็กสนุก ตื่นเต้นที่ได้เรียน ไม่น่าเบื่อ เกิดการเรียนรู้ร่วมกันทั้งผู้เรียนและผู้สอน ซึ่งนักศึกษาสามารถนำหลักคิดนี้ไปเรียนในวิชาอื่นๆได้ด้วย ทำให้พวกเขาจำได้แม่นยำ รู้ว่าควรอ่านหนังสืออย่างไรถึงจะจดจำได้ดีขึ้น" อ.ยุพาวดีกล่าว
"สุฑิตรา ราชสำเนา" นักศึกษาปี 1 สาวน้อยจากกาฬสินธุ์ เล่าว่า ตอนแรกที่รู้ว่าอาจารย์จะสอนเรื่องอริยสัจ 4 บูรณาการเข้ากับวิชาพยาบาล งงว่าจะเรียนด้วยกันได้อย่างไร คนละเรื่องกัน ไม่น่าจะโยงกันได้ แต่เมื่ออาจารย์นำคอลัมน์สุขภาพในหนังสือพิมพ์มาให้ดู ถามถึงปัญหาทุกข์ที่เกิดโรค สาเหตุของการเกิดโรค หนทางที่จะรักษาโรค และแนวทางในการปฏิบัติที่จะทำให้ไม่เป็นโรค เป็นองค์ประกอบของอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค ทำให้เกิดความเข้าใจ อยากเรียนรู้ ค้นคว้าหาคำตอบด้วยตนเอง มีความกระตือรือร้นมากขึ้น
หลังจากการเรียนในแต่ละคาบ อาจารย์จะให้นักศึกษาตอบคำถามในสิ่งที่ได้เรียนมา โดยไม่ได้เรียกตามเลขที่ แต่จะเรียกชื่อให้นักศึกษาตอบ ทำให้ทุกคนต้องสนใจเรียนตลอดเวลา เพราะไม่มีใครรู้ว่าอาจารย์จะเรียกให้คนไหนตอบ หรือโจทย์ของอาจารย์มีว่าอย่างไร แถมยังทำให้ต้องสนใจเรื่องราวข่าวสารต่างๆ ทางด้านการรักษาพยาบาล เนื่องจากอาจารย์จะนำเรื่องราวตามหน้าหนังสือพิมพ์ หนังสือ หรือสื่อต่างๆ มาใช้ในการเรียนการสอน
"เป็นครั้งแรกที่ได้มีโอกาสเรียนรู้โดยการทำมายด์แม็พ และเรียนแบบบูรณาการ เรื่องของคุณธรรมจริยธรรมกับวิชาชีพ ตอนแรกแม้รู้สึกสับสน แต่เมื่อได้เรียนรู้วิธีการใหม่ๆ ที่อาจารย์นำมาเสนอ ทำให้เข้าใจสิ่งที่เรียนมากขึ้น สนุก และสามารถต่อยอดในสิ่งที่เรียนได้ เพราะการเรียนพยาบาล บางครั้งเมื่อมีการเรียนเนื้อหาเยอะๆ อาจทำให้รู้สึกเครียด เบื่อ แต่พอได้เรียนรู้โดยต้องคิด ลงมือค้นหาคำตอบด้วยตนเอง ทำให้เกิดความตื่นตัว และนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น" สุฑิตรา กล่าว
เช่นเดียวกับ "อาตี้" อังคณา มาโนชน์ นักศึกษาปี 1 ที่นำเสนอภาวะเลือดคั่ง นำเนื้อหาจากคอลัมน์สุขภาพในหนังสือพิมพ์มาวิเคราะห์ตามหลักการคิดแบบอริยสัจ 4 กับการใส่ใจสุขภาพ ได้แก่ ทุกข์ หรือความวิตกกังวลที่เป็นโรค ทำให้รู้สึกอย่างไร เช่น เส้นเลือดใต้ผิวหนังบางจุดทำให้รู้สึกร้อนวูบวาบในทรวงอก, สมุทัย สาเหตุเกิดโรค คือเกิดจากการไหลเวียนของเลือดช้าลงทำให้เซลล์ในร่างกายได้รับออกซิเจนและสารอาหาร, นิโรธ หนทางในการรักษาโรค ผู้ป่วยได้รับการรักษาโดยการบำบัดภาวะเลือดคั่ง และมรรค หนทางในการนำไปสู่การรักษาโรค บำบัดด้วยการสลายลิ่มและวิธีบำรุงเลือด ทะลวงเส้นลมปราณ เป็นต้น
"เป๊ปซี่" วรากรณ์ ใจสว่าง ช่วยเสริมว่า เมื่อนำเนื้อหามาแจกแจงตามหัวข้อต่างๆนอกจากทำให้เกิดความเข้าใจเนื้อหาสาระมากขึ้น ยังทำให้ได้แลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนๆ เพราะแต่ละคนต่างทำคนละเรื่องกัน แต่ทุกคนต้องมานำเสนอ และอธิบายให้เพื่อนฟัง ทำให้ทุกคนกล้าแสดงออก หากใครไม่รู้เรื่องสามารถสอบถามเพื่อนคนที่ทำได้
การเรียนรู้แบบอริยสัจ 4 หลักคุณธรรมจริยธรรมเข้ากับหลักอริยสัจ 4 เป็นการเรียนการสอนอีกรูปแบบหนึ่ง นอกจากจะทำให้เกิดความเข้าใจ ยังส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนสิ่งกันและกัน อาจารย์ท่านใดสนใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ อ.ยุพาวดี ได้ที่ 08-3105-4197 หรือ 0-7728-7816 ดูรายละเอียดได้ที่ www.bcnsurat.ac.th
0 หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ 0