
ทำนะคุณ(คุณธรรม)บ้านมั่นคงแบบ"บางบัว"
เช้าวันอาทิตย์ที่ 5 กันยายน ที่ผ่านมา ฉันได้รับการชักชวนจาก พี่ภาส" ประภาส แสงประดับ ประธานชุมชนบางบัว ย่านบางเขน กรุงเทพมหานคร ให้ไปเยี่ยมเยียนน้องๆ ชุมชนบางบัวที่วันนี้กลายเป็น ผู้นำ
ชักชวนน้องๆ อีก 9 ชุมชนใกล้เคียงมารวมตัวกันทำกิจกรรมต้านภัยยาเสพติด เมื่อเลี้ยวรถเลาะไปในซอยพหลโยธิน 49/2 ตามแผนที่ที่พี่ภาสส่งมาให้ ไม่นานก็ได้พบกับลานกว้างหน้าบ้านหลังเล็กๆ ที่ร่มครึ้มไปด้วยแมกไม้ คิดว่าน่าจะใช่สถานที่ที่นัดไว้เพราะเริ่มได้ยินเสียงเด็กๆ ดังเจื้อยแจ้วออกมาต้อนรับ
ขณะที่เด็กๆ กำลังเข้ากิจกรรมละลายพฤติกรรมและเริ่มบทเรียนความรู้ต้านภัยยาเสพติดนั้น พี่ภาส ในฐานะเจ้าบ้านเริ่มเล่าความเป็นมาของชุมชนแห่งนี้ว่า ตั้งอยู่บนที่ดินธนารักษ์ริมคลองบางบัว จดทะเบียนอย่างเป็นทางการจากกรุงเทพมหานครเมื่อปี 2535 สมัยก่อนมีชาวบ้านมาอาศัยอยู่ไม่กี่หลัง ยึดอาชีพทำนา ทำไร่ ต่อมาคนเริ่มอพยพมาอยู่หนาแน่น ปลูกบ้านสะเปะสะปะ เกิดปัญหาน้ำเน่ากลายเป็นชุมชนแออัด หรือที่เราเรียกกันว่า “สลัม” เกิดปัญหายาเสพติด เด็กทะเลาะกัน จนไม่มีใครกล้าเดินเข้ามา พร้อมๆ กับปัญหาสุขลักษณะอื่นๆ ตามมา
“คนอื่นมองว่าเราเป็นพวกมีปัญหา ขายยาเสพติด ปิดทางเข้าออกชุมชนเรา ญาติพี่น้องเพื่อนฝูงจะมาเยี่ยม ก็ไม่กล้าให้เขาเข้ามา เพราะอายตัวเอง ภาพที่เราเห็นคือเด็กเดินดมกาว ขายยาม้า ไล่ตีไล่ฟันแทงกัน เรียกได้ว่า บางบัวขึ้นชื่อมาก ต่อมาในปี 2546 คนในชุมชนจึงหันมาร่วมมือทำเรื่องบ้านมั่นคง เอาเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องเด็กไม่สบาย เรื่องยาเสพติดเรื่องสังคมมาคุยกัน เราอยากจะเปลี่ยนแปลง เราใช้เวลาอยู่นาน 4 ปีขยับสู่การจัดการเรื่องที่อยู่อาศัย สร้างความรู้ผ่านกลุ่มออมทรัพย์ขับเคลื่อน 6 กิจกรรมการมีส่วนร่วม ได้แก่เรื่องการจัดการที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม บริหารจัดการ ข้อมูลและแผนชุมชน สวัสดิการและเศรษฐกิจ อาชีพชุมชน”
พี่ภาส เปิดการสนทนาได้อย่างตรงประเด็น พร้อมกับแนะนำ “ผู้นำ” เยาวชน 2 สาวพี่น้องหน้าตาจิ้มลิ้มของชุมชนบางบัว น้องอาย น.ส.นิสา ลื่นภูเขียว นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วัย 19 ปี และ น้องอ้อ น.ส.รุ่งทิวา ลื่นภูเขียว นักเรียนชั้นม.6 โรงเรียนดอนเมืองจาตุรจินดา วัย 18 ปี มาเล่าถึงกิจกรรมที่น้องๆ ช่วยกันทำให้เกิดบ้านมั่นคง จากนั้นพี่ภาสก็ขอตัวไปดูแลน้องๆ ที่กำลังร่วมกิจกรรมกันอย่างสนุกสนาน โดยมีคุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย พี่ป้าน้าอา คอยดูแลอย่างใกล้ชิด
น้องอาย เล่าว่า พวกเราเยาวชนบางบัวได้รวมกลุ่มกันตั้งชมรม “ทูบีนัมเบอร์วัน” ทำกิจกรรมต่อต้านยาเสพติด พร้อมเปิดรับสมาชิกทำกิจกรรมร่วมกัน ผู้หญิงทำการแสดงในงานต่างๆ ส่วนเด็กผู้ชายมาแข่งขันกีฬากัน อย่างวันนี้ทางสำนักงานเขตบางเขนมาจัดกิจกรรมให้ความรู้วิธีป้องกันยาเสพติดให้น้องๆ ตัวเล็กๆ จาก 9 ชุมชน เช่น ชุมชนร่วมใจพัฒนาเหนือ ร่วมใจพัฒนาใต้ รุ่นใหม่พัฒนา ร้องกรอง สามัคคีร่วมใจ โดยมีเด็กจากชุมชนบางบัวเป็นแกนนำ เพราะเขาเล็งเห็นแล้วว่า พวกเราพร้อมจะก้าวออกจากปัญหายาเสพติดแล้ว
“เมื่อก่อนเราไม่รู้ว่าเด็กในชุมชนติดยาเสพติดมากแค่ไหน แต่พอเราทำบ้านมั่นคงขึ้นมาทั้งหมด 229 ครัวเรือน เราก็เริ่มรู้จักกันมากขึ้น ถ้าเราเห็นความผิดปกติบ้านนี้แปลกๆ มีวัยรุ่นเยอะ ก็เข้าไปพูดคุยและบอกว่ายาเสพติดเป็นสิ่งที่ไม่ดีนะ อายอยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิด รู้สึกว่าเดี๋ยวนี้บรรยากาศในชุมชนดีกว่าเมื่อก่อนมาก จนรู้สึกว่าเรากล้าเปลี่ยนแปลงกันขนาดนั้นเลยเหรอ เราทำได้ขนาดนี้เลยเหรอ คนข้างนอกเขายังไม่เชื่อว่าที่นี่เคยเป็นสลัมมาก่อน แม้ปัญหายาเสพติดจะยังไม่หมดไปเสียทีเดียว แต่เราก็อยู่กันได้ ไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร”
คำว่า “บ้านมั่นคง” ในมุมมองของน้องอาย คือการมีบ้านอยู่โดยที่ไม่มีใครมาไล่ที่ เป็นบ้านที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น ช่วยเหลือกันและกัน ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่มียาเสพติด น้ำเน่าเสีย เรามีกิจกรรมทำร่วมกันตลอดทั้งวันสำคัญทางศาสนา วันเด็ก วันสงกรานต์ ที่ชอบที่สุดคือศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) ที่มาช่วยให้พวกเราค้นหาคุณธรรมในชุมชน พบว่า คนในชุมชนยังมีคุณธรรมเรื่องเสียสละ แบ่งปัน มีน้ำใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีความซื่อสัตย์ ยุติธรรมช่วยกันพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้น และพวกเราต้องการแกนนำคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีปลูกฝังเยาวชนให้เป็นคนดีมีศีลธรรม ซึ่งอายมองว่านี่แหละคือสิ่งเล็กๆ ที่พวกเราชาวบางบัวกำลังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ถ้าครอบครัวแข็งแรง ครอบครัวมั่นคง การปฏิรูปประเทศไทยคงไม่ใช่เรื่องยาก
“น้องอายมาทางนี้หน่อย” เสียงเรียกจากผู้ชายคนหนึ่งดังขึ้น เมื่อมองตามเสียงไปเห็นวงเสวนาเล็กๆ ใต้เงาไม้ ระหว่างอดีตท่านผู้พิพากษา ผู้แทนทหารจากกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ผู้แทนเขตบางเขน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ล้อมวงหารือหากิจกรรมให้แก่ลูกหลานชาวบางบัวทำในโอกาสต่อไป ข้างๆ มี คุณยายเผื่อน จันทร์เดช วัย 74 ปีกำลังนั่งป้อนไอศกรีมให้ น้องอันอัน หลานที่มาร่วมกิจกรรม ยายบอกว่า "รู้สึกดีใจมากได้เห็นลูกหลานช่วยกันดูแลชุมชน" วันนั้นเราจึงอำลาชาวบางบัวด้วยภาพใบหน้าเปื้อนยิ้มของยายเผื่อน ที่ดูสงบนิ่งเป็นสุขแบบที่ไม่ต้องการอะไรไปมากกว่านี้อีกแล้ว
0 ผกามาศ ใจฉลาด 0 รายงาน