ไลฟ์สไตล์

ไฮโปไกลซีเมีย....โรคฮิตของคนเมือง

ไฮโปไกลซีเมีย....โรคฮิตของคนเมือง

01 ต.ค. 2553

คุณเคยมีอาการแบบนี้หรือไม่ เวลาหิวมักจะมีอาการมือสั่น เหงื่อออกมาก มือเย็น เวียนศีรษะหน้ามืด ตาลาย มองเห็นภาพซ้อน เวลากลางคืนฝันร้าย ปวดศีรษะ เหงื่อออกมากขณะหลับ

 ถ้าตอบว่า "ใช่มากกว่าครึ่ง" นั้นหมายความว่า คุณมีภาวะเสี่ยงเป็น "โรคไฮโปไกลซีเมีย" โรคฮิตของคนเมือง
กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงต่อภาวะไฮโปไกลซีเมีย
 1.ผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับยาฉีดอินซูลิน โดยเฉพาะภายหลังจากการออกกำลังกาย
 2.ผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับยารับประทาน โดยเฉพาะยากลุ่ม sulfonylurea ที่ออกฤทธิ์ยาว
 3.การออกกำลังกายหักโหม หรือทำงานหนักมากกว่าปกติ
 4.การงดเว้นอาหาร หรือรับประทานอาหารน้อยลง
 5.ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ขณะท้องว่าง
 6.ผู้ป่วยสูงอายุ
 7.ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับวาย หรือไตวาย
 8.คนที่ได้รับยาบางชนิด       
 9.ผู้ป่วยมีก้อนที่ผลิตอินซูลินมากผิดปกติ
 ภาวะไฮโปไกลซีเมีย มีตั้งแต่ไม่มีอาการจนหมดสติ หรือชักได้ ขึ้นกับระดับน้ำตาลที่ลดลง และอัตราความเร็วในการลดลงของระดับน้ำตาล เริ่มต้นจะมีอาการใจสั่น ตัวสั่นหน้าซีด มือสั่น คล้ายจะเป็นลม ตามัวลง หิว ปวดศีรษะ เหงื่อออก สูญเสียสมาธิ สับสน ซึม หมดสติ หรือชัก ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้
 อาการที่พบได้บ่อย ได้แก่ รู้สึกไม่สบายเฉียบพลัน หิวมากมือสั่น เหงื่อออกมาก ตัวเย็น ใจสั่นหัวใจเต้นแรงและเร็ว ปวดศีรษะมึนงง เวียนศีรษะ หน้ามืด มีพฤติกรรมหงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย ตาลาย ตาพร่ามัว มองเห็นภาพซ้อน ความรู้สึกนึกคิดผิดไป สับสน เลอะเลือน พูดไม่ชัด กรณีรุนแรงมากอาจจะมีอาการชัก ถ้าเกิดเวลากลางคืน ผู้ป่วยอาจจะฝันร้าย ปวดศีรษะ เหงื่อออกมากขณะหลับ
การปฏิบัติตัวเมื่อเกิดภาวะไฮโปไกลซีเมีย
 1.ในกรณีที่ผู้ป่วยรู้สึกตัวดี ควรได้กลูโคสในปริมาณ 15 กรัม เช่น น้ำหวาน 100-200 ซีซี (1/2-1 แก้ว) หรือน้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะละลายน้ำ 100 ซีซี  หรือลูกอม 2 เม็ด หรือน้ำตาลทราย 2 ก้อน
 2.ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ต้องให้กลูโคสทางเส้นเลือดดำ ห้ามให้อาหารทางปาก เพราะจะทำให้สำลักได้ ห้ามใส่นิ้วเข้าปากผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยอาจชักและกัดนิ้วได้
การป้องกันภาวะไฮโปไกลซีเมีย
 1.ควบคุมอาหารตามที่แพทย์แนะนำอย่างสม่ำเสมอ และจำกัดอาหารแต่ละมื้อให้พอเหมาะไม่มากหรือน้อยเกินไป
 2.รับประทานอาหารให้ตรงเวลา และเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ไม่ควรงดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่ง
 3.รับประทานยา หรือฉีดยาตามแพทย์สั่ง
 4.หากออกกำลังกายมากกว่าครึ่งชั่วโมง ต้องได้รับอาหารว่างเสริม เช่น นมหนึ่งแก้ว หรือขนมแคร็กเกอร์ 1 แผ่นก่อนออกกำลังกาย และควรตรวจเช็กน้ำตาลในเลือดก่อนและหลังออกกำลังกาย
 5.ผู้ป่วยเบาหวาน ควรตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ
 6.ผู้ป่วยเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ ในกรณีที่ต้องรับประทานยารักษาโรคอื่นๆ ร่วมด้วย
 7.ควรบอกเพื่อนร่วมงานและครอบครัวว่าเป็นเบาหวาน พร้อมทั้งวิธีช่วยเหลือเมื่อเกิดอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ
 8.ควรมีลูกอมพกติดตัว
 9.พกบัตรเบาหวานประจำตัว
โรงพยาบาลปิยะเวท
โทร.0-2625-6555