
พระชีทึ้งเงินเรี่ยไรชิงโบราณสถานวัดวรเชษฐ์อยุธยา
เหลือบรุมทึ้งสมบัติชาติ อ้างวิญญาณสมเด็จพระนเรศวร ยึดวัดวรเชษฐ์เรี่ยไรเงิน ผลประโยชน์ไม่ลงตัว เปิดศึกแย่งชิงพื้นที่โบราณสถาน ชาวบ้านเอือม "พระ-ชี" ทะเลาะกัน เลี่ยงไปทำบุญวัดอื่น ด้านกรมศิลป์สั่งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่ แต่ยังยื้อ อ้างเหตุครอบครองพื้นท
หลังจากวัดวรเชษฐ์ (นอกเกาะ) ได้รับการยกฐานะจากวัดร้างมาเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษา ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพระสงฆ์ไปจนถึงชีที่อาศัยอยู่ในวัด เกี่ยวกับผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว จนชาวบ้านทนเห็นพฤติกรรมไม่ไหว แจ้งมายัง "คม ชัด ลึก" ให้ช่วยตรวจสอบ
ทันทีที่เดินทางถึงวัดวรเชษฐ์ ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ได้ยินเสียงพระสงฆ์สวดมนต์ผ่านเครื่องขยายเสียง ขณะเดียวกันก็มีเสียงเพลงลูกทุ่งดังกลบบริเวณตีกันยุ่งอีนุงตุงนัง จนแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไร เหมือนกับมีงานวัดก็ไม่ปาน จนคนที่แวะเวียนเข้าไปอดแปลกใจไม่ได้ว่า เกิดอะไรขึ้นที่วัดแห่งนี้
จากการสอบถาม ดร.พระอาจารย์สิงห์ทน นราสโภ ซึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดวรเชษฐ์ และเป็นผู้สวดมนต์ผ่านเครื่องขยายเสียง ทราบว่า เสียงเพลงลูกทุ่งที่ดังกลบเสียงสวดมนต์นั้น เกิดจากการกระทำของพระสงฆ์รูปหนึ่งที่ไม่ลงรอยกัน โดยความขัดแย้งลักษณะนี้เกิดขึ้นมาได้ระยะหนึ่งแล้ว เพื่อสร้างความเข้าใจผิดให้แก่ประชาชนที่ผ่านไปมาเข้าใจว่าตนเป็นคนเปิดเพลงลูกทุ่งขณะสวดมนต์ จะได้รวมตัวกันขับไล่ออกจากวัด เนื่องจากมีคนกลุ่มหนึ่งต้องการเข้ามาประกอบธุรกิจนวดแผนโบราณในวัด แต่ถูกขัดขวาง
ก่อนหน้านี้วัดวรเชษฐ์เป็นเพียงวัดร้าง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน มีกรมศิลปากรดูแล กระทั่งปี 2551 ได้รับการประกาศจากมหาเถรสมาคมให้ยกฐานะขึ้นเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษา ตามมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงเกิดความขัดแย้งขึ้นภายในวัด โดย ดร.พระอาจารย์สิงทน บอกสาเหตุว่า เกิดจากคนกลุ่มหนึ่งต้องการนำพื้นที่วัดไปทำธุรกิจท่องเที่ยว มีการก่อสร้างอาคารรุกเข้าไปในเขตโบราณสถาน
"ความขัดแย้งในวัดมีมานาน เพราะคนกลุ่มหนึ่งเห็นว่า ปัจจุบันวัดเจริญแล้ว มีถนนหลักตัดผ่าน ทั้งที่ก่อนหน้านี้เป็นวัดร้าง เคยเป็นที่ทิ้งขยะมาก่อน ประกอบกับกระแสสมเด็จพระนเรศวรมาแรง เชื่อกันว่าวัดวรเชษฐ์เป็นสถานที่เก็บพระศพและสถานที่เผาพระศพของท่าน แต่ละวันจะมีผู้แสวงบุญจำนวนหนึ่งเดินทางมาทำบุญที่วัดเป็นประจำ ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องการยึดครองวัดไปทำธุรกิจบุญ รวมถึงนวดแผนไทย" ดร.พระอาจารย์สิงทน กล่าวและว่า ปัจจุบันมีแม่ชีรายหนึ่งอ้างสิทธิ์ในการครอบครองพื้นที่วัดวรเชษฐ์ โดยยืนยันว่ามีเอกสารสิทธิถูกต้องตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ระดมทุนก่อสร้างอุโบสถ ซึ่งขณะนี้สร้างเสร็จแล้ว แต่เปิดใช้งานไม่ได้ เนื่องจากไม่ได้ขออนุญาตอย่างถูกต้องตามขั้นตอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในอาณาบริเวณวัดวรเชษฐ์มีสิ่งปลูกสร้างสมัยใหม่หลายหลัง โดยปลูกติดชิดกับตัวปราสาทเก่าแก่ บางส่วนก่อสร้างแล้วเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะที่บางส่วนอยู่ระหว่างการรื้อถอน จากการพูดคุยกับแม่ชีจรี ดุษณี ซึ่งอาศัยอยู่ในบ้านพักข้างตัวปราสาทเก่าหน้าวัดทราบว่า บ้านพักที่อาศัยอยู่ก่อสร้างรุกล้ำพื้นที่โบราณสถานราวเมตรเศษ กรมศิลปากรได้สั่งให้รื้อถอนออกแล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ
แม่ชีจรีมองว่า การจะกล่าวหาว่าเป็นการบุกรุกโบราณสถานคงไม่ถูกต้องนัก เพราะชาวบ้านในพื้นที่ต่างรู้กันดีว่า ตนเป็นผู้บุกเบิกวัดวรเชษฐ์ตั้งแต่ปี 2520 บริเวณนี้ยังเป็นป่ารกชัฏ พระปรางค์ เจดีย์ ถูกทิ้งร้างปรักหักพัง พอเข้ามาอยู่ก็ได้พัฒนาไปมากพอสมควร ก่อนหน้านี้ก็เพิ่งระดมทุนก่อสร้างอุโบสถได้สำเร็จ แต่ก็มีปัญหาเกิดขึ้น ปี 2525 จ.พระนครศรีอยุธยา ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก วัดวรเชษฐ์เองก็ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน ต่อมาปี 2528 มีถนนสายพระนครศรีอยุธยา-สุพรรณบุรีตัดผ่านข้างวัด การเดินทางสะดวกขึ้น มีนักท่องเที่ยวเข้ามาที่วัดมากขึ้น กระทั่งปี 2542 กรมศิลปากรจึงเข้ามาดูแลพระปรางค์ อุโบสถ รวมถึงเจดีย์เก่า
"พูดแล้วก็รู้สึกน้อยใจ ฉันดูแลวัดมาก่อน กรมศิลปากรเพิ่งเข้ามาภายหลัง อาคารที่ฉันพักก็สร้างก่อนที่กรมศิลปากรจะเข้ามา ไม่ทันไรก็ให้รื้อออก ความขัดแย้งในวัดวรเชษฐ์เริ่มเกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2551 หลังยกฐานะเป็นวัดมีพระสงฆ์จำพรรษา กรมศิลปากรสั่งให้รื้อถอนพลับพลาสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสิ่งปลูกสร้างอีกหลายหลังออก ส่วนที่มีการกล่าวหาว่านำพื้นที่วัดไปทำโรงนวดนั้น ไม่เป็นความจริง คนที่เข้ามารับนวดแผนโบราณเป็นลูกศิษย์ฉันทั้งนั้น เวลานี้ก็หยุดทำแล้ว" แม่ชีจรี กล่าว
ด้าน พระครูสุทธิปัญญาโสภณ (ประยูร) เจ้าอาวาสวัดท่าการ้อง เจ้าคณะตำบลภูเขาทอง ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากคณะสงฆ์ใน จ.พระนครศรีอยุธยา ให้มารักษาการเจ้าอาวาสวัดวรเชษฐ์ เปิดเผยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในวัดวรเชษฐ์เวลานี้ เกิดจากพระสงฆ์บางรูปอาศัยความไม่ชัดเจนของประวัติศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มาสร้างความเชื่อถือศรัทธาให้แก่ตัวเอง
พระครูสุทธิปัญญาโสภณแจกแจงว่า ภายในวัดแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มของพระรูปหนึ่งกับแม่ชี โดยแม่ชีผู้นี้อาศัยอยู่ก่อน เป็นที่รู้กันทั่วว่าเป็นผู้ดูแลวัดมานาน ส่วนพระเพิ่งเข้ามาอยู่ที่วัดได้เพียง 2 ปี ต่อมามีการแอบอ้างวิญญาณสมเด็จพระนเรศวรเรี่ยไรเงินจากผู้มีจิตศรัทธา โดยอ้างว่าวัดวรเชษฐ์เป็นวัดที่สมเด็จพระเอกาทศรถ พระอนุชา ทรงสร้างขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานที่เผาพระศพและเก็บพระอัฐิของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ โดยก่อนหน้านี้นักโบราณคดีต่างก็เชื่อกันว่า สถานที่เผาพระศพสมเด็จพระนเรศวรมหาราชคือวัดใหญ่ชัยมงคล และเก็บอัฐิไว้ที่วัดวรเชษฐาราม (ในเกาะ) ติดกับวัดวรโพธิ์ในเขตเกาะอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา
"อาตมาเข้าไปจัดการที่นั่นลำบาก เพราะลูกศิษย์ของพระเป็นคนใหญ่คนโต ที่ผ่านมาได้ออกหนังสือขับไล่พระสงฆ์รูปนั้นแล้ว แต่เขาก็ไม่ไป แค่ออกจากบริเวณวัดไปอยู่ตรงเนินดินที่เขาอ้างว่าเป็นสถานที่เผาพระศพสมเด็จพระนเรศวร ปัจจุบันเนินดินนี้เป็นพื้นที่ของทหาร อาตมาจึงไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้" พระครูสุทธิปัญญาโสภณกล่าว
ส่วนข้อครหาที่ว่าคณะสงฆ์ใน จ.พระนครศรีอยุธยา ต้องการใช้วัดวรเชษฐ์เป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ และเป็นแหล่งจำหน่ายวัตถุมงคลที่เกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระนเรศวรนั้น รักษาการเจ้าอาวาสวัดวรเชษฐ์ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เพราะวัดวรเชษฐ์เป็นวัดที่เพิ่งได้รับการยกฐานะให้เป็นวัดที่มีพระสงฆ์จำพรรษา มีพระจำวัดอยู่เพียง 4-5 รูป ยังไม่เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ประกอบกับเนื้อที่ของวัดตามโฉนดที่ดินมีเพียง 33 ไร่ 2 งาน ในจำนวนนี้อยู่ในความครอบครองของกรมศิลปากร เนื่องจากได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานไว้ 9 ไร่
ขณะที่ชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่ภายในหมู่บ้านวรเชษฐ์ ต.บ้านป้อม อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งอยู่คนละฝั่งถนนกับวัดวรเชษฐ์ ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ปกติจะไม่เข้าไปทำบุญที่วัดวรเชษฐ์ เพราะทราบมาว่า ภายในวัดมีการทะเลาะกันอย่างรุนแรงระหว่างพระสงฆ์กับแม่ชี มีการกล่าวอ้างถึงพระวิญญาณสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และวันดีคืนดีก็มีการทำพิธีบวงสรวง
"ผมอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสะสางประวัติศาสตร์ให้มีความชัดเจน อยากให้ตรวจสอบให้แน่ชัดว่าวัดวรเชษฐ์ (นอกเกาะ) เป็นสถานที่เผาพระศพและเก็บพระอัฐิสมเด็จพระนเรศวรจริงหรือไม่ หากเป็นจริงก็ควรจะดำเนินการให้ถูกต้อง แต่หากไม่ใช่เรื่องจริงก็จะได้บอกให้คนทั่วไปได้รับทราบ จะได้ไม่ถูกคนไม่หวังดีหลอกลวง" นายนิรุติ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านวรเชษฐ์กล่าว