ไลฟ์สไตล์

ผลิตเนื้อโคขุนแช่แข็ง "พันธุ์ตาก"
เน้นจุดขาย "ทุกที่ราคาเดียวกัน"

ผลิตเนื้อโคขุนแช่แข็ง "พันธุ์ตาก" เน้นจุดขาย "ทุกที่ราคาเดียวกัน"

02 ต.ค. 2553

ดูเหมือนว่า "โคขุนพันธุ์ตาก" ซึ่งมีสายเลือดพันธุ์ชาโรเล่ส์ถึง 62.5% ทำให้เนื้อนุ่ม รสชาติอร่อย แต่ปรากฏว่าไม่เป็นที่รู้จักในแวดวงผู้บริโภคเนื้อโคขุนมากนัก ทั้งที่มีการพัฒนาสายพันธุ์มายาวนานถึง 24 ปี ทำให้กรมปศุสัตว์ผนึกกำลังเกษตรกรในพื้นที่ เดินหน้าผลิตเน

    นายชนินทร์ ทรงเมฆ ผู้จัดการสหกรณ์ตากบีฟ จำกัด บอกว่า ในพื้นที่ จ.ตาก มีการเลี้ยงโคจำนวนมาก ส่วนหนึ่งที่เลี้ยงโคธรรมชาติเหนือเขื่อน ส่วนหนึ่งเป็นฟาร์มที่ได้รับการส่งเสริมจากกรมปศุสัตว์เลี้ยงโคพันธุ์ตาก ซึ่งจะเป็นโคขุนที่มีคุณภาพสูง แต่คนยังรู้จักน้อย กรมปศุสัตว์จึงมีโครงการส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคอินทรีย์ใน จ.ตาก ให้เลี้ยงโคพันธุ์ตากครบวงจร จึงทำให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน เกษตรกร มีการหารือกันแล้วตกลงกันว่าน่าจะตั้งสหกรณ์เพื่อดำเนินกิจการผลิตเนื้อโคที่เป็นแบรนด์ของตากขึ้นมา ในที่สุดทุกฝ่ายได้มีการระดมทุนคิดเป็นหุ้นในราคาหุ้นละ 10 บาท ปรากฏว่ามีผู้สนใจเป็นสมาชิกทั้งเกษตรกร และอาชีพอื่นๆ 74 ราย ได้เงินทุน 3 ล้านบาท จึงตั้งสหกรณ์ตากบีฟ จำกัด เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2553 เพื่อดำเนินกิจการรับซื้อโคพันธุ์ตากจากเกษตรกรมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อโคขุนพันธุ์ตากแช่แข็ง โดยเช่าโรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐานของเทศบาลตำบลบ้านตาก อ.เมือง จ.ตาก และอาคารสถานที่ตัดแต่งซากสัตว์ของกรมศปุสัตว์ที่ ต.ระแหง อ.เมือง จ.ตาก ซึ่งส่วนหนึ่งแบ่งพื้นที่เป็นที่ทำการสหกรณ์ด้วย

 "เรารับซื้อโคขุนพันธุ์ตาก ที่ขุนมาอย่างน้อย 4 เดือน มีน้ำหนักอย่างน้อย 550 กิโลกรัม อายุระหว่าง 2.6-3 ปี ทุกวันนี้เรามีการชำแหละโคขุนพันธุ์ตากวันละ 6 ตัว เพื่อไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อโคขุนแช่แข็งบรรจุแพ็กมีตั้งแต่ขนาด 300 กรัม จนถึงขนาด 5 กิโลกรัม ติดเครื่องหมายการค้า "ตากบีฟ" จะแบ่งเนื้อเป็น 2 ส่วนหลักคือสำหรับทำสเต๊ก อาทิ สันนอก สันใน ทีโบน เนื้อสะโพกใน และอีส่วนหนึ่งขายเป็นแดงทั่วไปที่ใช้สำหรับทำแกง ย่าง ตุ่น ทอด เนื้อกระทะเป็นต้น" นายชนินทร์ กล่าว 

 ส่วนตลาดหลักของเนื้อโคขุนตากบีฟ นายชนินทร์ บอกว่า ในพื้นที่ จ.ตาก มีจุดจำหน่ายเนื้อสัตว์ทั้ง 44 แห่ง ส่วนหนึ่งส่งไปเชียงใหม่ กรุงเทพฯ และในจังหวัดภาคเหนือตอนล่างอีกหลายจังหวัด ขายในราคาที่ต่ำสุด พวกเศษเนื้ออยู่ที่ กิโลกรัมละ 80 บาท และสูงสุดเป็นทีโบน กิโลกรัมละ 800 บาท แต่ขายส่ง กิโลกรัมละ 600 บาท ส่วนเนื้อแดงทั่วไป กิโลกรัมละ 120 บาท ขณะที่ซื้อโคเป็นๆ จากเกษตรกรช่างทั้งตัวในราคา กิโลกรัมละ 55 บาท

 ด้าน น.สพ.ทฤษฎี ชาวสวนเจริญ กล่าวในฐานะรองอธิบดีกรมปศุสัตว์ (ก่อนดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์) บอกว่า ขณะนี้กรมปศุสัตว์เข้าไปขยายการส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคอินทรีย์ใน จ.ตาก ให้เลี้ยงโคพันธุ์ตากบริเวณเหนือเขื่อนภูมิพล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อครบวงจร คือ ตั้งแต่ขั้นตอนการผสมพันธุ์จนแปรรูป เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกของผู้บริโภคเนื้อโคปลอดภัยและต้องการอุบัติการณ์การเกิดโรคระบาดในสัตว์ด้วย เพราะเป็นการเลี้ยงโคแบบปล่อยให้โคหากินบนที่ราบสูง ซึ่งมีแหล่งอาหารและแหล่งน้ำที่ปราศจากสารพิษปนเปื้อน ทำให้เนื้อโคจะปลอดเชื้อจุลินทรีย์ โดยจะมีเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์คอยควบคุมดูแลการเลี้ยงตั้งแต่ต้นน้ำยังถึงปลายน้ำ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เนื้อโคพันธุ์ตากที่ออกสู่ตลาดมีคุณภาพ ได้มาตรฐานเทียบเท่ายุโรป

 ขณะที่ นายธีระ อนันต์วรปัญญา ปศุสัตว์จังหวัดตาก บอกว่า กว่าจะได้ผลิตภัณฑ์เนื้อโคขุนพันธุ์ตาก "ตากบีฟ" ต้องผ่านการคัดเนื้อถึง 3 ส่วนคือ ต้องเลือกโคขุนพันธุ์ก่อนเข้าโรงฆ่าสัตว์ที่เป็นโคอินทรีย์ ไม่มีการใช้สารเคมีในการเลี้ยง และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ เนื้อโคต้องมีคุณภาพสูง ที่ได้มาจากการคัดเลือกจากฟาร์มย่อยและฟาร์มโคขุนที่มีการขึ้นทะเบียน มีระบบการทำเครื่องหมายของกรมปศุสัตว์และดูแลสุขภาพสัตว์ที่เหมาะสม เมื่อผ่านขบวนการจากโรงฆ่าสัตว์และโรงตัดแต่งที่ได้มาตรฐานแล้ว จึงเข้าสู่กระบวนการบรรจุผลิตภัณฑ์แช่แข็ง จากนั้นตรวจรับรองสินค้าติดฉลากรายละเอียดที่ตรวจสอบย้อนกลับได้

 "เนื้อโคขุนพันธุ์ตากถือเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพ เพราะเราควบคุมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งผู้สนใจสามารถหาซื้อที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัด และตามร้านที่กรมปศุสัตว์ได้สนับสนุนตู้แช่ทั่วไปโดยเฉพาะใน จ.ตาก มี 44 จุดทุกตำบล คนบนดอยกับที่ราบ หรือคนในเมืองกินเนื้อตากในราคาเดียวกันหมด" ปศุสัตว์จังหวัดตาก กล่าว

 ผลิตภัณฑ์เนื้อโคขุนพันธุ์ตาก "ตากบีฟ" ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภคเนื้อขุน ที่สามารถหาซื้อได้ในท้องตลาด หากต้องการทราบรายละเอียดสอบถามได้ที่สหกรณ์ตากบีฟ จำกัด โทร.0-5551-1934
 
กว่าจะได้โคพันธุ์ตาก

    นายไพโรจน์ ศิริสม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ตาก บอกว่า ความจริงการพัฒนาโคพันธุ์ตาก กรมปศุสัตว์ได้มอบหมายให้ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ตากศึกษาวิจัย พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์โคเนื้อพันธุ์ใหม่ ตาม “โครงการสร้างโคเนื้อพันธุ์ตาก” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 เริ่มจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างโคพันธุ์ชาโรเลส์ กับโคพันธุ์บราห์มัน จนได้โคพันธุ์ตาก 1 มีระดับสายเลือดพันธุ์ชาโรเลส์ 50% พันธุ์บราห์มัน 50% แล้วมาผสมแม่โคเพศเมียชั่วที่ 1 ด้วยน้ำเชื้อหรือพ่อบราห์มันพันธุ์แท้ได้ลูกโคชั่วที่ 2 หรือโคพันธุ์ตาก 2 มีเลือดชาโรเลส์ 25% และบราห์มัน 75% จากนั้นผสมแม่โคเพศเมียชั่วที่ 2 ด้วยน้ำเชื้อโคพันธุ์ชาโรเลส์คุณภาพสูง ได้ลูกโคชั่วที่ 3 หรือโคพันธุ์ตาก 3 ซึ่งมีเลือดชาโรเลส์ถึง  62.5% และบราห์มัน 37.5% แล้วนำโคชั่วที่ 3 ผสมกัน คัดเลือกปรับปรุงพันธุ์ให้เป็นโคเนื้อพันธุ์ใหม่ เรียกว่าโคพันธุ์ตาก มีคุณสมบัติพิเศษเลี้ยงง่าย เติบโตเร็ว เนื้อนุ่ม เนื้อสันมีไขมันแทรก

 "ผมกล้าการันตีว่า ของเรามีเลือดชาโรเลส์ถึง  62.5% มากกว่าโคขุนอื่นๆ ที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นโพนยางคำ และกำแพงแสน ซึ่งเขามีเลือดชาโรเลส์เพียง 50 % จากเลือดชาโรเลส์ถึง 62.5% ทำให้เนื้อโคขุนพันธุ์ตากนุ่ม รสชาติอร่อย ย่อยง่าย เหมาะกับการทำสเต๊ก ราคาถูกกว่าโคขุนรายอื่น แต่เราไม่ประชาสัมพันธ์ ตอนนี้เราจึงเดินหน้าสร้างแบรนด์พันธุ์ตากของเราเองให้ผู้บริโภคได้รู้จัก และมีโอกาสบริโภคเนื้อโคขุนพันธุ์ตากมากขึ้น" นายไพโรจน์ กล่าว

"ดลมนัส  กาเจ"