
"ยีน"ทำมนุษย์เป็น"อมตะ"ได้จริงหรือ!!
ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ยุคของวิทยาศาสตร์การแพทย์อย่างแท้จริง
4 ปีมาแล้วที่เกิดความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน รัฐ และนักวิชาการ ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า เป็นการลงทุนทั้งเม็ดเงินและเชิงวิชาการผ่านงานค้นคว้าวิจัย ที่สถาบันราชานุกูลร่วมมือกับศูนย์วิจัยพันธุกรรมมนุษย์ มหาวิทยาลัยโตเกียว
โดยเฉพาะการวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับยีนของมนุษย์ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงสาเหตุของโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ
เป้าหมายในอนาคตหากนักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างเกราะคุ้มกันยีนไม่ให้ไปกระตุ้นสารก่อโรคหรือควบคุมธรรมชาติได้แล้วละก็
มนุษยชาติอาจมีอายุยืนยาวนับร้อยปี หรือ "ความเป็นอมตะ" อาจไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป
นายกำจร พลางกูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โลกวิทยาศาสตร์ไปไกลมากทั้งงานวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ สิ่งสำคัญเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศ งานวิจัยต้องมีเงินทุน เมื่อค้นคว้าสำเร็จก็นำไปพัฒนาเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน
"วิทยาศาสตร์กับงานวิจัย มีความสลับซับซ้อน แต่สุดท้ายชาวบ้านจะได้ประโยชน์จากงานวิจัยหรือการผลิตนวัตกรรมใหม่ มาสู่โลก สู่สังคม จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีภาคเอกชนเข้ามารองรับ รัฐให้การสนับสนุน โอกาสทางการค้าเพื่อนำไปสู่อุตสาหกรรม นักวิจัยช่วยกันค้นคิด สุดท้ายผลงานต่างๆ ก็จะกลับมาสู่ประชาชนในด้านสุขภาพ" นายกำจรอธิบาย
นายกำจรกล่าวด้วยว่า ขณะนี้เราสามารถหาความบกพร่องหรือสาเหตุการเกิดโรคต่างๆ ได้จากยีนในร่างกาย อนาคตหากศึกษาวิจัยจนพบวิธีการล็อกยีนที่เป็นตัวกำเนิดโรคได้แล้วละก็ มนุษย์จะมีอายุยืนยาวขึ้น การทดลองกำลังเดินหน้าไปโดยความร่วมมือกับห้องทดลองของประเทศญี่ปุ่นที่มีเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่ง
โดยก่อนหน้านี้ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ ได้ค้นพบยีนที่แพ้ยาต้านไวรัชเอชไอวีเป็นครั้งแรกของโลกมาแล้ว
โครงการที่สถาบันราชานุกูล ได้หารือร่วมกับศูนย์วิจัยพันธุกรรมมนุษย์ มหาวิทยาลัยโตเกียว เพื่อวิเคราะห์ยีนในร่างกายมนุษย์ร่วมกัน ผลที่ได้ก็เพื่อนำงานวิจัยไปต่อยอดเชิงอุตสาหกรรมในอนาคต
ดร.นาโยกิ คามาตานิ ผู้อำนวยการศูนย์พันธุกรรมมนุษย์ (Riken) มหาวิทยาลัยโตเกียว มองว่า โลกอนาคตถ้าเราค้นคว้าจนพบวิธีการล็อกยีนไม่ให้ไปก่อโรคได้แล้วละก็มนุษย์จะได้ประโยชน์ โรคภัยต่างๆ จะลดน้อยลงไป แม้ขณะนี้ยังก้าวไปถึงก็ตาม แต่อนาคตเมื่อความรู้และเทคโนโลยีก้าวหน้าก็อาจเป็นไปได้
"ศูนย์ให้ความสนใจโครงการศึกษาโรคซึมเศร้า เนื่องจากญี่ปุ่นเองก็มีกรณีการฆ่าตัวตายถึงปีละกว่า 3 หมื่นคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง จิตแพทย์ของญี่ปุ่นก็พยายามเก็บข้อมูลคนไข้และตัวอย่างเลือดเพื่อทดสอบว่าเกิดจากสาเหตุอะไร และเชื่อว่าพันธุกรรมหรือยีนอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรค หากทราบแต่เนิ่นๆ ก็วางแผนป้องกันได้ นักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จจากการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ (Human Genome) เมื่อ 8 ปี ก่อน อนาคตประชากรโลกจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การจัดยาตามยีน เมื่อเรารู้ว่าใครมียีนแพ้ยาชนิดใด และเสี่ยงต่อโรคไหน ซึ่งจะสามารถวางแผนการใช้ยาเพื่อลดความเสี่ยงให้กับคนไข้ได้" นาโยกิกล่าว
ความก้าวหน้าล่าสุด นพ.วีรยุทธ ประพันธ์พจน์ หัวหน้าศูนย์วิจัยพันธุศาสตร์การแพทย์ สถาบันราชานุกูลเปิดเผยว่า งานวิจัยเรื่องยีนมนุษย์มีความก้าวหน้าไปอีกระดับ หลังจากศึกษาพบว่า โรคภัยไข้เจ็บส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องกับยีนผิดปกติในร่างกาย รวมทั้งการค้นพบยีนสายพันธุ์ไทยแท้ที่จะมีผลต่อการจ่ายยาให้ถูกกับคนไข้แต่ละคน
"ผลการค้นคว้าพบว่ายีนเป็นส่วนสำคัญที่บอกได้ว่า ใครมีโอกาสเป็นโรคอะไรเพราะยีนบกพร่องแต่ละตัวจะไปสร้างสารกระตุ้นการเกิดโรค หากเรารู้ว่าใครคนไหนมียีนที่ส่อทำให้เกิดโรคอะไรก็สามารถรักษาหรือป้องกันโรคชนิดนั้นได้ ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์รุดหน้าไปมาก การสร้างเกราะล้อมยีนกันไม่ให้เกิดโรคอาจทำได้ในเร็ววันนี้ แต่มนุษย์ยังควบคุมธรรมชาติไม่ได้ ขั้นตอนก็ยังไม่สมบูรณ์ หากสถาบันได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่มีความพร้อมทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงงบประมาณที่มากพอ เรามีห้องวิจัยได้เองและนั่นจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการผลิตนวัตกรรมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ตั้งแต่ขั้นตอนการตรวจ การป้องกันดูแลรักษาโรค" นพ.วีรยุทธอธิบายถึงความเป็นไปได้ในอนาคต
มีนักวิจัยไทยที่ นพ.วีรยุทธ ส่งไปร่วมงานกับศูนย์พันธุกรรมมนุษย์ มหาวิทยาลัยโตเกียวคือ นายธันยภัทร วณิชชานนท์ จากศูนย์วิจัยพันธุศาสตร์การแพทย์ เพื่อศึกษายีนของโรคซึมเศร้า และภาวะปัญญาอ่อนในเด็ก ซึ่งพบว่าร่างกายคนเราก็มียีนเพี้ยนเช่นกัน
"เราได้วิจัยและค้นคว้าเด็กออทิสติกในวัยตั้งแต่ 13 เดือนถึง 4 ขวบเศษ พบว่า 30% เด็กจะแสดงอาการสะบัดมือ 15% เด็กจะเงยหน้ามองทุกอย่างรอบๆ ตัว อีก 25% เด็กจะเดินบนนิ้วเท้า ซึ่งในระยะดังกล่าวผู้ปกครองสามารถสังเกตได้เพื่อหาวิธีการรักษา นี่เป็นการค้นพบจากยีนเช่นกัน" นพ.วีรยุทธกล่าว
งานวิจัยและพัฒนาด้านชีววิทยาศาสตร์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ" ก็เป็นหนึ่งในหัวข้อของการประชุมเอเปค 2003 (APEC Life Sciences Innovation Forum) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ และมีการต่อยอดกระทั่งนานาประเทศให้ความสนใจอย่างจริงจัง
การประชุมเอเปคที่เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเร็วๆ นี้ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานการประชุมชีววิทยาศาสตร์ กล่าวว่า รัฐบาลไทยจะให้การสนับสนุนด้านงบประมาณอย่างเต็มที่ในงานวิจัย ค้นคว้า ด้านนวัตกรรม ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาประเทศ รวมถึงการประสานงานระหว่างภาคเอกชน รัฐ และนักวิชาการ เพื่อระดมสมองและเงินทุนในการพัฒนาทั้งระยะสั้นและระยะยาว
"ก่อนมาประชุมเอเปคผมได้หารือกับท่านนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แล้วท่านก็สนับสนุนเต็มที่รวมถึงความชัดเจนเกี่ยวกับองค์กรและระเบียบกฏหมายทางด้านนี้ด้วย ประชากรในภูมิภาคนี้มีกว่า 600 ล้านคน การลงทุนเพื่อผลิตนวัตกรรมถือว่าคุ้มค่า บีโอไอก็พิจารณาเพื่อเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมในอนาคต" นายสุวิทย์กล่าว