ไลฟ์สไตล์

เก่งไอที-มีคุณธรรม-ทำงานได้"เสริมสิน"ชูธงปั้นบัณฑิตม.เอเชียอาคเนย์

เก่งไอที-มีคุณธรรม-ทำงานได้"เสริมสิน"ชูธงปั้นบัณฑิตม.เอเชียอาคเนย์

27 ก.ย. 2553

หากเอ่ยชื่อ "เสริมสิน สมะลาภา" ลูกชายคนเล็กของอดีตปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) “ประเสริฐ สมะลาภา” หลายคนคงนึกถึงหนุ่มใหญ่ มาดสุขุมลุ่มลึกวัย 42 ปี คนนี้ในภาพลักษณ์ของซีอีโอ หรือกรรมการผู้จัดการบริษัท แนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในวง

 "เสริมสิน" หล่อรวยครบสูตรไฮโซพันล้าน จัดได้ว่า "เขา" เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยที่หนุ่มที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย ทั้งในแง่ความรู้และประสบการณ์ไม่ได้ห่างไกลจากแวดวงการศึกษาเลย เขาจบปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์   จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท สาขาการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที) สหรัฐอเมริกา 

 หลังเรียนจบ "เสริมสิน" นั่งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท ดิจิตอล แอสเซ็ท จำกัด เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอเดียล อาคิเทค จำกัด กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทย พอร์ทัล จำกัด และผู้บริหารเว็บพอร์ทัลชั้นนำของไทยภายใต้ชื่อ Thailand.com อีกบทบาทหนึ่ง "เสริมสิน" เป็นอาจารย์สอนวิชาบริหารการเงินภาคอสังหาริมทรัพย์ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ

 "เสริมสิน" เปิดใจกับหนังสือพิมพ์ "คม ชัด ลึก" ว่า มารับตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์เมื่อเดือนมกราคม 2553 ทำให้พบคำตอบว่าการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญของเมืองไทยเพราะการศึกษาทำให้คนมีความคิดและตัดสินใจเรื่องต่างๆ ในอนาคตได้ดีขึ้น เพราะมีความรู้และรอบคอบมากขึ้น ซึ่งจากการไปดูงานมหาวิทยาลัยในต่างประเทศพบว่าเน้นไฮเทคดิจิทัลมากขึ้น ใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไอทีใหม่ๆ ตั้งแต่การลงทะเบียน เลือกวิชาเรียนไปจนถึงการสอน จึงเตรียมจะนำระบบอีเลิร์นนิ่งและไอทีมาช่วยเสริมการสอน เพื่อให้อาจารย์เก่งๆ สอนนักศึกษาได้เพิ่มขึ้น โดยให้สอนและทำเป็นคอร์สอัดวิดีโอไว้ หรือทำหลักสูตรอีเลิร์นนิ่งเรียนผ่านอินเทอร์เน็ต อาจจะมีการบ้าน สอบถามอาจารย์ผ่านระบบออนไลน์ แต่จะผสมผสานกับการเรียนในห้องเรียน  

 "คนส่วนใหญ่ฝันว่า  เรียนออนไลน์แบบ 100 เปอร์เซ็นต์  จะไม่มีมหาวิทยาลัยแล้ว  ทุกคนเรียนจากคอมพิวเตอร์ ไอแพดได้ และไม่ต้องมาเข้าห้องเรียนอีกแล้ว  เมืองนอกมีแบบนี้ แต่เมืองไทยยังไม่ถึงขั้นนั้น   มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์จะไม่ได้สอนผ่านระบบอีเลิร์นนิ่งทั้งหมด เพราะนักศึกษาจะขาดสีสันชีวิต นักศึกษายังต้องมาพบปะกับเพื่อนๆ  อาจารย์ จะได้มีความสามัคคีและความอบอุ่น" 

 เช่นเดียวกับหลักสูตรซึ่ง "เสริมสิน" มองว่ามหาวิทยาลัยมีรากฐานที่แข็งแกร่งด้านวิศวะเพราะคุณพ่อของเขาและคณะผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยล้วนจบด้านนี้ ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยส่งผลงานเข้าประกวดและมีชื่อเสียง อนาคตจะเปิดหลักสูตรวิศวะด้านไอทีและนิเทศศาสตร์เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ ในโลกที่ใช้กัน เช่น โทรศัพท์มือถือระบบ 3จี ไอแพด ส่วนมากเป็นเทคโนโลยีเพื่อการสื่อสาร

 "ทั่วโลกและไทยขาดแคลนวิศวะด้านไอทีอย่างมาก เช่น อเมริกาไปหาวิศวะด้านไอทีที่จีนหรืออินเดีย  สาขาวิศวะด้านไอทีที่จะเปิดนั้นคงเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ใหม่ๆ เช่น ซอฟต์แวร์มือถือ อี-บุ๊กโดยเฉพาะการศึกษา  ที่ผ่านมาเราใช้ซอฟต์แวร์ของเมืองนอกเยอะ แต่ถ้าธุรกิจเอสเอ็มอีมีซอฟต์แวร์ถูกๆ ใช้ก็น่าจะดี นิเทศศาสตร์จะเป็นนิวมีเดีย แต่เมืองไทยจะไม่เป็นของใหม่ 100 เปอร์เซ็นต์เหมือนเมืองนอกทั้งวิศวะ นิเทศ จะต้องมีของเก่าและของใหม่ผสมผสานกัน ขณะนี้กำลังหาพันธมิตร จะใช้เวลาเตรียมการ 1 ปีคาดว่าปีการศึกษา 2555  เปิดสอนได้"

 นอกจากหลักสูตรแล้ว "การพัฒนาคุณภาพอาจารย์" ก็เป็นเป้าหมายสำคัญ อย่าง บิล เกตส์ มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกที่ตั้งมูลนิธิขึ้นมาและเน้นการศึกษาเป็นหลักได้เริ่มภารกิจอันดับแรกคือ "การวัดคุณภาพอาจารย์" เพราะทำให้เกิดการตื่นตัวและแข่งขันกัน  ดังนั้น การสอนในห้องเรียนหรือระบบออนไลน์ สุดท้ายอยู่ที่คุณภาพอาจารย์ หากอาจารย์เก่ง จะทำให้นักศึกษาเก่ง ซึ่งมหาวิทยาลัยจะใช้ระบบไอทีช่วยประเมินอาจารย์โดยอัดวิดีโอการสอนไว้และให้นักศึกษาให้คะแนน ซึ่งจะพัฒนาอาจารย์ทั้งวุฒิการศึกษาและความรู้ใหม่ๆ โดยใช้ระบบโซเซียลเน็ตเวิร์กการศึกษาและการดูงาน แลกเปลี่ยนความรู้กับสถาบันการศึกษาต่างประเทศและพันธมิตร

 "คุณภาพบัณฑิต" เป็นอีกเรื่องที่ "เสริมสิน" ให้ความสำคัญอย่างมากเพราะประสบการณ์ส่วนตัวและการสำรวจบริษัท สถานประกอบการต่างๆ ระบุว่า ต้องการบัณฑิตจบแล้วทำงานได้ทันที จึงมีนโยบายให้นักศึกษาทุกคนทุกสาขาเช่น วิศวะ บริหารธุรกิจ นิเทศ ได้เรียนทฤษฎีควบคู่กับการฝึกงานเป็นระบบ "เลิร์นนิ่งบายดูอิ้ง" ทำให้รู้ทฤษฎีและปฏิบัติได้จริง เมื่อเรียนจบแล้วก็ทำงานได้เลย ซึ่งตลาดแรงงานต้องการบัณฑิตกลุ่มนี้มากที่สุด   

 "ผมเคยเห็นคนเรียนเก่งๆ หลายคนแต่ใช้ความเก่งไปในทางที่ผิด จึงต้องปลูกฝังนักศึกษาให้รู้จักผิดชอบชั่วดีตั้งแต่เริ่มเรียน ไม่ใช่เรียนเก่งอย่างเดียว ซึ่งไม่มีอะไรดีไปกว่าการให้เรียนควบคู่ไปกับการศึกษาธรรมะ เพราะมหาวิทยาลัยต้องสอนทั้งความรู้และการเป็นคนดี  ผมได้มอบนโยบายให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเน้นกิจกรรมศีลธรรม  ความดีในมหาวิทยาลัยให้มากขึ้น เช่น  ตั้งศูนย์อบรมจริยธรรมขึ้นภายในมหาวิทยาลัยเพื่อให้อยู่ใกล้ตัวนักศึกษา  มีกิจกรรม เช่น นั่งสมาธิ  ฟังธรรมะและสนับสนุนกิจกรรมนักศึกษา  เช่น ค่ายบำเพ็ญประโยชน์" เสริมสิน กล่าวทิ้งท้าย

 0 ธรรมรัช  กิจฉลอง 0