ไลฟ์สไตล์

โพลชี้ชัดปฎิรูปการศึกษารอบแรก-สองเดินผิดทาง

โพลชี้ชัดปฎิรูปการศึกษารอบแรก-สองเดินผิดทาง

20 ก.ย. 2553

ครุศาสตร์โพลชี้ชัดปฎิรูปการศึกษารอบแรก/รอบสอง เดินผิดทาง ระบุประชาชนมีส่วนร่วมน้อยมาก โดยเฉพาะกลุ่มกทม.ไม่มีส่วนร่วม ถึง 60.17 % คาดเน้นคุณภาพผู้เรียนให้มีการพัฒนาสามารถในการคิดวิเคราะห์ มีทักษะชีวิต และสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิต "ชินวรณ์"ยืนยันหลักปฏิรูปรอ

เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2553 ที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะครุศาสตร์ จุฬาฯร่วมกับคณะกรรมการเครือข่ายปฎิรูปการศึกษา และเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา แถลงข่าว ครุศาสตร์โพล ครั้งที่1 สำรวจการจับกระแสปฎิรูปการศึกษารอบที่ 2 โดยมีศ.ดร.ศิริชัย กาญจนวาสี คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าจากการสำรวจความคิดเห็นของนักวิชาการ ผู้บริหาร ครู/อาจารย์ ผู้ปกครอง/ประชาชน นักเรียน/นิสิต นักศึกษาจาก 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 2,115 คน ระหว่างวันที่ 13-17 ก.ย.2553 เกี่ยวกับความคาดหวังและความเชื่อมั่นต่อการปฎิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง (พ.ศ.2552-2561) พบว่า การปฎิรูปการศึกษารอบแรก(พ.ศ.2542-2551 )10ปีที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่างมีความคิดเห็นว่าได้ผลระดับ 4.83 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน กลุ่มผู้ปกครองและประชาชนส่วนใหญ่ ระบุว่าไม่มีส่วนร่วม 60.71 % มีส่วนร่วมปฎิบัติ 29.51% ร่วมคิด5.40%และร่วมรับผิดชอบ 4.38% ส่วนการขับเคลื่อนปฎิรูปการศึกษาในรอบที่สอง (พ.ศ.2552-2561)ซึ่งผ่านมา 1 ปี นั้น กลุ่มตัวอย่างคาดหวังว่าผลสำเร็จจะอยู่ในระดับ 6.07 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน และเชื่อว่ากระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)สามารถขับเคลื่อนให้ประสบความสำเร็จได้ในระดับ 5.61 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน การได้รับข่าวสารอยู่ในระดับปานกลาง40.14% ระดับน้อย 24.73% ระดับมาก 18.82%

ทั้งนี้ สำหรับการปฎิรูปการศึกษาในรอบที่สอง ควรเน้นการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา 33.81% ประถมศึกษา 31.30 % ปฐมวัย 12.74% อุดมศึกษา 12.70% และอาชีวะศึกษา 9.44% โดยควรเน้นเกี่ยวกับเรื่องการเรียนการสอน 32.67% หลักสูตร 17.94% โครงสร้างของระบบการศึกษา 17.40% โอกาสทางการศึกษา 14.13% การประกันคุณภาพ 9.17% และการบริหารการศึกษา 8.70% ขณะที่ควรเน้นคุณภาพผู้เรียน 37.41% เป็นอันดับแรก รองลงมาได้แก่ คุณภาพครู 33.78% และครูภาพสถานศึกษา 10.91% ซึ่งผู้เรียนควรจะต้องได้รับการพัฒนาด้านความสามารถในการคิดวิเคราะห์ 32.21% เป็นอันดับแรก รองลงมาได้แก่ การพัฒนาทักษะชีวิต และความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิต 22.79%

ศ.ดร.ศิริชัย กล่าวอีกว่า ส่วนผลการเปรียบเทียบระหว่างกรุงเทพฯและภูมิภาค พบว่า กลุ่มตัวอย่างจากทม.และภูมิภาค เห็นสอดคล้องกันว่าการปฎิรูปการศึกษารอบสอง ควรเน้นคุณภาพผู้เรียน ครู และผู้บริหารสถานศึกษา ส่วนสิ่งที่เด็กผู้เรียนควรจะได้รับนั้น ได้แก่การพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ มีทักษะชีวิต และสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งควรเน้นการเรียนการสอนเป็นลำดับแรก รองลงมา ได้แก่ หลักสูตร และโครงสร้างของระบบ ส่วนเรื่องการปฎิรูปรอบสองกลุ่มตัวอย่างจากกทม. และภูมิภาคอื่นๆ ยกเว้น ภาคใต้ เห็นตรงกันว่าควรเน้นระดับมัธยมศึกษา อันดับแรก รองลงมาได้แก่ ประถมศึกษา อุดมศึกษา ปฐมวัย และอาชีวะศึกษา แต่ส่วนภาคใต้ เห็นว่าควรเน้นระดับประถมศึกษา รองลงมาได้แก่ มัธยมศึกษา ปฐมวัย อุดมศึกษา และอาชีวะ การมีส่วนร่วม กลุ่มตัวอย่างจากกทม.ส่วนใหญ่ระบุว่า ไม่มีส่วนร่วม 52.22 % รองลงมาได้แก่ มีส่วนร่วมปฎิบัติ 38.10 % ร่วมคิด 4.84 % และร่วมรับผิดชอบ 4.84 % ขณะที่กลุ่มตัวอย่างจาก 4 ภูมิภาค ส่วนใหญ่ระบุว่ามีส่วนร่วมปฎิบัติ 45.16% -51.04% รองลงมาได้แก่ ไม่มีส่วนร่วมเลย 28.64%-43.37% ร่วมรับผิดชอบ 5.72% -13.84% และร่วมคิด 5.72%-9.93%

คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬา กล่าวอีกว่า การสำรวจในครั้งนี้เป็นการสะท้อนถึงการปฎิรูปการศึกษาที่ผ่านมา เพื่อให้รัฐบาลได้นำข้อมูลดังกล่าวไปวิเคราะห์ และปรับแก้ให้ตรงกับเป้าหมาย ความต้องการของประชาชน ซึ่งจากผลสำรวจ พบว่า ประชาชนต้องการให้เน้นคุณภาพครูเป็นหลัก รองลงมาคุณภาพผู้เรียน ส่วนนักวิชาการ นิสิตนักศึกษา ผู้บริหารมหาวิทยาลัย กลับต้องการเน้นคุณภาพผู้เรียน เป็นหลัก รองลงมาคุณภาพครู อีกทั้งการมีส่วนร่วมในกลุ่มของประชาชนนั้นมีน้อยมาก เพราะยังมีประชาชนที่ไม่ได้มีส่วนร่วม ถึง 60.71 % ส่วนในอนาคตจะมีการปฎิรูปรอบ3 เพิ่มเติมหรือไม่นั้น โดยส่วนตัวมองว่าการปฎิรูปการศึกษาจริงๆ แล้วต้องไปตลอดและต่อเนื่อง เพราะเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อย่างไรก็ตามในการสำรวจการจับกระแสปฎิรูปการศึกษารอบที่สองนั้น ทางคณะ และเครือข่ายจะร่วมกันสำรวจ เดือนเว้นเดือน เพื่อให้เห็นถึงการทำงาน การขับเคลื่อน ทิศทางของปฎิรูปรอบสอง

ด้าน รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่าโพลครั้งนี้ เป็นการสะท้อนถึงความผิดหวังของประชาชาชนต่อการปฎิรูปการศึกษาได้ดี ทำให้เห็นถึงความต้องการของประชาชน ที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ อย่างผลคะแนนเต็ม 10 รอบแรก กับรอบสองที่ผ่านไปเพียง 1 ปี เห็นได้ว่าผลคะแนนไม่ได้แตกต่างกัน อยู่ระดับ 3-5 ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าตกใจ แถมผลที่ประชาชนต้องบการ อย่างเรื่องคุณภาพผู้เรียน ครู ก็ยังเป็นปัญหา ดังนั้น ปฎิรูปการศึกษา อย่าไปมะรุมมะตุ้มอยู่เรื่องโครงสร้าง การแก้ตำแหน่งทางวิชาการ เพียงอย่างเดียว แต่ขอให้สะท้อนความต้องการ คุณภาพผู้เรียน ครู และสถานศึกษา ซึ่งในช่วงบ่าย(20 ก.ย.) นี้ ตนจะนำข้อมูลเสนอนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ เผยภายหลังทราบผลสำรวจนี้ว่า ยอมรับผลโพลนี้ เพราะเห็นได้ชัดว่าการปฏิรูปรอบแรกการมีส่วนร่วมของประชาชนน้อยมาก เพราะเน้นที่โครงสร้าง ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษาในรอบที่สอง การมีส่วนร่วมของประชาชนจะดีขึ้น เพราะผลโพลก็ชี้ออกมาเช่นนั้น สิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องคือ การพัฒนาคุณภาพ โอกาสและความเสมอภาค สำหรับการมีส่วนร่วมนั้น ศธ.ได้ตั้งกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาและสมัชชาการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งมีจุดเน้นคือการกระจายอำนาจให้กับสถานศึกษาและเขตพื้นที่ และในเดือน ต.ค. ซึ่งรัฐบาลจะประกาศคิกออฟจุดเน้นการปฏิรูปการศึกษา ก็เชื่อว่าการปฏิรูปการศึกษารอบสองนี้จะเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น อย่างไรก็ตามส่วนที่ตกค้างจากการปฏิรูปรอบแรก คือ การปรับโครงสร้าง การแยกเขตพื้นที่ประถมและมัธยมนั้น ก็ยังต้องดูแลจัดการด้านระเบียบ แต่ไม่ใช่เรื่องหลัก ขอยืนยันว่าจุดเน้นหลักของการปฏิรูปรอบสองคือ คุณภาพของผู้เรียนและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเป็นหลัก