
เส้นทางชีวิต"เชษฐ์ ตันสกุล" ผู้เปิดตำนานโรงงานปุ๋ยไทย
หากพูดถึงวงการปุ๋ยไทย ไม่มีใครไม่รู้จัก "เชษฐ ตันสกุล" อดีตนายกสมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย และประธานกรรมการบริษัท เอเชียอุตสาหกรรมปุ๋ยและโรงสีข้าว จำกัด และบริษัทในเครือเอเชียแลนด์ ผู้ผลิตและจำหน่ายปุ๋ยตราคู่หูและไก่ในดาว ตลอดจนเคมีภัณฑ์ทางการเกษตรมากกว่า 3
แต่กว่าจะถึงวันนี้เส้นทางลูกเถ้าแก่โรงสีข้าวแห่งลุ่มน้ำปากพนังก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หลังเรียนจบม.3 ก็มุ่งสู่เมืองหลวงเพื่อหางานทำตามความฝัน เมื่อปี 2502 โดยมีเงินติดตัวแค่ 265 บาท เริ่มต้นทำงานรับจ้างทั่วไป จากนั้นก็หันมาเป็นตัวแทนขายปุ๋ย ช่วงนี้เอาที่ทำให้เขาเริ่มเห็นช่องทางทำธุรกิจปุ๋ย
เมื่อเห็นว่าค้าปุ๋ยทำรายได้ดี ก็เลยมีความคิดอยากจะมีโรงงานผลิตปุ๋ยเป็นของตัวเอง โดยยึดแนวคิดที่ว่าต้องใช้เกษตรกรชาวนาเข้ามามีส่วนร่วม จากนั้นจึงได้รวบรวมชาวนามาถือหุ้นโรงงานปุ๋ยได้ประมาณ 2,000 คน ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรในพื้นภาคกลาง ก่อนจะเปิดเป็นโรงงานปุ๋ยเล็กๆ แถวคลองสี่ (รังสิต-นครนายก) ในปี 2512 โดยมีเป้าหมายเพื่อผลิตปุ๋ยขายให้สมาชิกเป็นหลัก
หลังกิจการได้เติบโตก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้สถานที่เดิมคับแคบ และมีกำลังการผลิตน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการ เขาจึงได้ย้ายโรงงานมาอยู่ที่แห่งใหม่บริเวณริมคลองรังสิต-นครนายก (คลองสอง) ในเวลาต่อมา จนปัจจุบันนี้ จากนั้นก็ได้สร้างโรงสีข้าวเพิ่มเติมเพื่อให้บริการแก่เกษตรกรอย่างครบวงจรยิ่งขึ้น พร้อมสร้างโรงสีข้าวแห่งใหม่ที่อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราชเพื่อรองรับผลผลิตข้าวในพื้นที่ภาคใต้
"สมัยนั้นการขออนุญาตเปิดโรงงานปุ๋ยยากมาก ของผมเป็นโรงงานแรกที่เปิดทำการอย่างถูกต้อง โดยขออนุญาตจากรัฐบาลตั้งแต่ปี 2516 ในปี 2517 ดร.ป๋วย (อึ้งภากรณ์) ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีในตอนนั้น เป็นผู้เซ็นอนุมัติให้ พอปีถัดมาปุ๋ยตราหัววัวฯ ก็เปิดโรงงานขึ้นมา" เชษฐ์ ย้อนอดีตให้ฟัง
แม้กว่า 30 ปีที่คุณเชษฐ์ดำเนินธุรกิจค้าปุ๋ย โดยยึดหลักปุ๋ยต้องดี มีคุณภาพ และซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ภายใต้ตราสัญลักษณ์คู่หูอยู่ในเมืองหลวง แต่เขาก็ไม่เคยลืมบ้านเกิด โดยเขาในฐานะเลขาธิการมูลนิธิร่วมพัฒนาแผ่นดินเกิดลุ่มน้ำปากพนัง จึงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการรวบรวมเงินจากชาวบ้านเพื่อสร้างพระตำหนักปากพนัง พระราชวังไทยถิ่นใต้ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ชาวปากพนังรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงพัฒนาลุ่มน้ำแห่งนี้ จนชาวบ้านในพื้นที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นตามลำดับ
จึงไม่แปลกใจที่ชายในวัย 80 เศษ จากลุ่มน้ำปากพนัง ผู้เปิดตำนานโรงงานปุ๋ยเคมีไทย ที่วันนี้ได้สลัดคราบนักธุรกิจ หลังผ่องถ่ายกิจการให้ทายาทดูแล มีความสุขอยู่กับงานเพื่อสังคมในฐานะประธานชมรมรักษ์ลุ่มน้ำปากพนัง สนองพระราชดำริ
"สุรัตน์ อัตตะ"