โรคหน้าเบี้ยว
โรคหน้าเบี้ยว (Bell palsy) เป็นอาการกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง ที่เกิดจากเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 (facial nerve) อักเสบ หรือได้รับบาดเจ็บ
ซึ่งทางเดินของเส้นประสาทสมองคู่นี้ ออกจากก้านสมอง ผ่านใต้กะโหลกศีรษะ ไปโผล่ที่หน้าหู แล้วแยกเป็น 2 แขนง ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้าด้านเดียวกัน แขนงบนช่วยในการหลับตา แขนงล่างช่วยดึงกล้ามเนื้อมุมปาก เช่น การยิ้ม การห่อปาก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีแขนงย่อยๆ ไปเลี้ยงที่เยื่อแก้วหู และรับรสที่ลิ้นอีกด้วย
เหตุที่เรียก Bell palsy เพื่อเป็นเกียรติแก่ นายแพทย์ Charles Bell ศัลยแพทย์ชาวสกอต ที่เป็นผู้บรรยายอาการของโรคนี้เป็นคนแรกตั้งแต่ศตวรรษที่ 19
อาการ
อาการของโรคหน้าเบี้ยว จะเกิดขึ้นเร็วใน 24-48 ชั่วโมง ถ้าตื่นเช้ามา รู้สึกหน้าหนักๆ หลับตาไม่สนิท ตาแห้ง มีน้ำไหลจากมุมปากเวลาดื่มน้ำ บางรายมีลิ้นชา หรือหูอื้อร่วมด้วย ผู้ป่วยจะรีบไปแพทย์เพราะกลัวเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต อาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมองอุดตัน แต่โรคหลอดเลือดสมองอุดตันมักจะมีอาการทางระบบประสาทอื่นร่วมด้วย เช่น แขน-ขาอ่อนแรงข้างเดียวกับที่มีปากเบี้ยว ตาเห็นภาพซ้อน เดินเซ หรือมีอาการบ้านหมุน เป็นต้น
สาเหตุ
โรคหน้าเบี้ยว พบได้ทุกเพศ ทุกวัย มักเกิดขณะที่เส้นประสาทมีอาการอักเสบ บวม หรือถูกกดทับ ซึ่งในคนที่แข็งแรงดีมาก่อน เชื่อว่าอาจเกิดในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ พักผ่อนน้อย จนทำให้มีการติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสเริม ไวรัสไข้หวัดใหญ่ นอกจากนี้ยังพบบ่อยในสตรีตั้งครรภ์ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือต่อมน้ำเหลือง ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี และกลุ่มผู้ได้รับอุบัติเหตุทางสมอง เป็นต้น
การวินิจฉัย
ได้จากประวัติ และอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก การตรวจร่างกายโดยแพทย์ทางระบบประสาท บางรายอาจจำเป็นต้องตรวจเลือด หรือเอกซเรย์ทางสมองเพิ่มเติม
วิธีการรักษา
อันดับแรกต้องทราบก่อนว่า อาการหน้าเบี้ยวในแต่ละราย ไม่เท่ากัน สาเหตุ หรือการบวมอักเสบของเส้นประสาทก็ต่างกัน ในบางรายที่มีอาการน้อย อาจไม่ต้องทำอะไรก็หายเองได้ใน 2-3 สัปดาห์ จากการศึกษาในปัจจุบัน พบว่า ยากลุ่มสเตียรอยด์ ช่วยลดการบวมและอักเสบของเส้นประสาท ทำให้หายเร็วขึ้น โดยให้ในวันแรกๆ ที่เริ่มมีอาการ จะให้ผลในการรักษาค่อนข้างดี นอกจากนี้ยังมียาต้านไวรัสเริม และยาวิตามินบี ซึ่งจะช่วยทำให้อาการดีขึ้นได้ เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถหลับตาได้สนิท หรือกะพริบตาน้อยลง ทำให้กระจกตาแห้ง
สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาโรคหน้าเบี้ยว คือ ป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบ หรือแผลที่กระจกตา ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้โดยการปิดตา และให้หยอดน้ำตาเทียม นอกจากนี้ ยังมีการรักษาด้วยการทำกายภาพ การใช้ไฟฟ้ากระตุ้น หรือการแพทย์ทางเลือก เช่น ฝังเข็ม มีรายงานว่า ช่วยได้ในบางรายเท่านั้น
ระยะเวลาในการรักษา
ส่วนใหญ่จะดีขึ้นมากใน 2-3 อาทิตย์แรก และประมาณ 50% ของผู้ป่วยจะหายสนิท ที่เหลืออาการจะค่อยๆ ดีขึ้นใน 3-6 เดือน แต่ในรายที่เส้นประสาทมีปัญหาอยู่เดิม เช่น เบาหวาน หรือเกิดจากเชื้องูสวัด มักจะไม่หายสนิท โอกาสที่เป็นซ้ำอีกพบน้อยมาก ถ้าเกิดเป็นซ้ำหลายครั้ง ควรไปพบประสาทแพทย์เพื่อหาสาเหตุอื่นๆ เพิ่มเติม
นพ.วัชรพงศ์ ชูศรี
อายุรแพทย์ระบบประสาทและสมอง
ศูนย์สมองและระบบประสาทกรุงเทพ
โรงพยาบาลกรุงเทพ โทร.1719