ไลฟ์สไตล์

ศิวิไลซ์งานศิลป์ "ช่างพื้นถิ่น" ไทย

ศิวิไลซ์งานศิลป์ "ช่างพื้นถิ่น" ไทย

02 ก.ย. 2553


 ประเทศไทยมิได้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยข้าว ปลา อาหาร เท่านั้น ทว่ายังศิวิไลซ์ไปด้วยงานศิลป์ โดยเฉพาะ "งานช่างพื้นถิ่น" อันเกิดจากภูมิปัญญาและฝีมือของบรรพบุรุษในสาขาต่างๆ ของแต่ละภูมิภาค ซึ่งนับเป็นรากฐานของงานช่างศิลปกรรมไทยที่สืบทอดกันมาแต่อดีต ดังนั้นเนื่องใน "วันอนุรักษ์มรดกไทย" ผนวกกับในวาระ "ครบรอบ 99 ปี แห่งการสถาปนากรมศิลปากร" จึงก่อเกิดนิทรรศการ "งานช่างพื้นบ้าน" ขึ้น ด้วยวัตถุประสงค์หลักๆ คือ ต้องการเปิดม่านตาให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้เรื่องราวความหลากหลายทางศิลปวัฒนธรรม อันเป็นมรดกศิลปะการช่างไทยและรากฐานความเป็นชาติ ซึ่งรุ่นปู่ย่าได้ร่วมสร้างสรรค์ขึ้นตามปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิต แต่แฝงได้ด้วยแนวคิด เทคนิควิธีการ และความประณีตงดงาม

 ภายในบริเวณพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ซึ่งเป็นสถานที่จัดนิทรรศการดังกล่าว กลายเป็นแหล่งรวมปราชญ์ชาวบ้านจากทั่วประเทศชั่วคราว ไล่เรียงตั้งแต่หัวเมืองจากภาคเหนือ อาทิ ช่างทำเครื่องเงินบ้านวัวลาย หัตถกรรมพื้นบ้านที่ขึ้นชื่อของ จ.เชียงใหม่ ว่ากันว่าสืบทอดมาแต่ครั้งก่อนตั้งเมืองเชียงใหม่ พระเจ้ากรุงอังวะได้ถวายช่างฝีมือด้านต่างๆ แด่พญามังราย เพื่อผูกมิตรไมตรีต่อกัน ในระยะแรกๆ เน้นที่เครื่องอุปโภคและเครื่องประดับสำหรับเจ้าเมืองเท่านั้น ต่อมามีการสืบทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น มีการพัฒนากรรมวิธีการผลิตให้ทันสมัยแต่ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์เฉพาะตัว

 ถัดมาก็เป็น งานเครื่องทองสุโขทัย หรือ ทองโบราณ จุดกำเนิดเริ่มจากช่างทองตระกูล "วงศ์ใหญ่" เมื่อกว่า 80 ปีที่แล้ว เล่าสืบต่อกันมาว่า "นายเชื้อ วงศ์ใหญ่" เป็นผู้บุกเบิกงานช่างทองพื้นถิ่น โดยได้รับการถ่ายทอดวิชาช่างทองมาจากชาวจีน ที่ผลิตด้วยกรรมวิธีแบบโบราณ ใช้มือและเครื่องมือที่ผลิตใช้เองอย่างง่ายๆ มีจุดเด่นที่การสานและถักทอเส้นทองด้วยลวดลายประณีต 

 ขณะที่ภาคกลางก็มี ศิลปะการแทงหยวกเมืองเพชร ซึ่งได้ ครูประสม สุสุทธิ วัย 90 ปี และลูกๆ หลานๆ นำโดย อาจารย์วิริยา สุสุทธิ ช่วยกันสืบสานศิลป์ในการจรดปลายมีดเล่มเล็กๆ ค่อยบรรจงแทงจนได้ลวดลายวิจิตรสวยงามต่างๆ มากมาย จวบจนถึงทุกวันนี้มีจำนวนผู้สนใจเข้าเรียนรู้ได้รับการบรรจุให้เป็นหนึ่งหลักสูตรท้องถิ่นภูมิปัญญาพื้นบ้านไปเรียบร้อยแล้ว โดย อาจารย์วิริยา เล่าว่าศิลปะการแทงหยวกกล้วยหนึ่งในงานสกุลช่างเมืองเพชรนี้ มีหลักฐานบันทึกว่า สืบทอดต่อๆ กันมาแต่เมื่อครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย โดยจะมีใช้เฉพาะเพื่อการประดับเมรุในงานศพ ประณีตงดงามไม่น้อยไปกว่า งานปูนปั้นสกุลช่างเมืองเพชรบุรี ที่สืบทอดมาแต่โบราณ ซึ่งพบเห็นได้ตามวัดต่างๆ ทั่วเพชรบุรี เช่น หน้าบันวิหาร ซุ้มประตูอุโบสถ เป็นต้น

 อีกหนึ่งงานช่างพื้นถิ่นภาคกลางที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้ นั่นคือ งานช่างทำหัวโขน โดย ครูสำเนียง ผดุงศิลป์ วัย 80 ชาว จ.อ่างทอง หนึ่งในช่างพื้นถิ่นผู้สืบสานงานช่างทำหัวโขนจากรุ่นบิดามาตลอดทั้งชีวิตของตัวเอง เล่าว่า การสร้างหัวโขนต้องอาศัยฝีมือและความชำนาญของช่างหลายๆ สกุลเข้าด้วยกันทั้งช่างเขียนแบบ ช่างปั้น ช่างแกะสลักหนัง ช่างกลึง ช่างปั้น ช่างลงรัก ช่างลงทอง ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันถึงจะมีแต่ก็ลดน้อยลงจนน่าใจหาย

 ส่วนภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสานนอกจากการปลูกม่อนเลี้ยงไหม จนเป็นที่มาของ งานช่างทอผ้า ก็ยังมี งานช่างทำเทียน และ งานช่างทำเครื่องทองเหลือง บ้านปะอาว จ.อุบลราชธานี ซึ่งยังคงสืบทอดการผลิตและรูปแบบผลิตภัณฑ์แบบดั้งเดิมมาจวบจนถึงปัจจุบัน เช่นเดียวกับงานช่างศิลป์พื้นถิ่นทางใต้ อย่าง ช่างสลักหนังตะลุง ว่ากันว่าหนังตะลุงเข้ามามีบทบาทสมัยอาณาจักรศรีวิชัย หรือราว 1,200 ปีที่แล้ว กลุ่มช่างจาก จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นจังหวัดที่นอกจากจะมีคณะหนังตะลุงมากที่สุดแล้ว ยังมีช่างสลักหนังตะลุงที่มีฝีมือประณีตงดงามยังคงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดดเด่นต่างจากช่างหนังตะลุงจากพื้นที่อื่นๆ แม้ว่าปัจจุบันจะมีผู้คนให้ความสนใจงานช่างสลักหนังตะลุงมากขึ้น แต่กระนั้น อาจารย์วาที ทรัพย์สิน หนึ่งในศิลปินที่ตั้งใจสานต่อศิลปะประจำถิ่นเกิด อดแสดงความกังวลไม่ได้ว่าทุกวันนี้แม้มีจะการสอนให้รู้จักงานแกะสลักหนังตะลุงได้ แต่สอนให้คนอดทนไม่ได้ จึงทำให้ช่างสลักหนังตะลุงฝีมือดีลดน้อยลงทุกที

 นิทรรศการพิเศษอันเนื่องมาจากวันอนุรักษ์มรดกไทย "งานช่างพื้นถิ่น" ที่น่าสนใจยังมีมากกว่าเล่ามา หากอยากร่วมสัมผัสกับช่างในพื้นถิ่นที่สืบสานความรู้จากรุ่นสู่รุ่น รวมถึงผลงานหัตถกรรมพื้นบ้านและศิลปหัตถกรรมชาวบ้านที่คนเมืองไม่ค่อยมีโอกาสจะได้ชม แวะไปได้ทุกวันพุธ-อาทิตย์ (ปิดจันทร์-อังคาร) เวลา 09.00-16.00 น.ระหว่างวันที่ 26 สิงหาคม-31 ตุลาคม 2553 ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย