
อภิสิทธิ์ดึง สสส.บรรเทาวิกฤตเศรษฐกิจเดินหน้า6ยุทธ์ศาสตร์
อภิสิทธิ์ ดึง สสส. บรรเทาวิกฤตเศรษฐกิจเดินหน้า 6 ยุทธ์ศาสตร์ พร้อมสั่งเดินหน้า โรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบล ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ประเดิมปีแรก 500 แห่ง แถมตั้ง หมอบรรลุ เป็นประธาน กก.สรรหา ผจก.สสส. จะหมดวาระ กพ. 53 แจงกรณี สตง.ตรวจสอบใช้งบ ระบุ สสส
ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) – เมื่อเวลา 17.30 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุน สสส.ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติแนวทางรองรับผลกระทบทางสุขภาวะจากวิกฤตเศรษฐกิจ โดยได้มีการประเมินว่า วิกฤตทางเศรษฐกิจในครั้งนี้รุนแรงกว่าครั้งก่อน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ว่างงาน ในปี 2552 กว่า 1.3 ล้านคน แม้รัฐบาลจะวางมาตรการกระตุ้นทางเศรษฐกิจแล้ว แต่ต้องมีมาตรการรองรับเพื่อไม่ให้วิกฤตในครั้งนี้ส่งผลกระทบจนกลายเป็นวิกฤตทางสังคม และควรพลิกวิกฤตสู่โอกาส โดยการพัฒนา“ดัชนีวัดความก้าวหน้าของประเทศ” (National Progress Index-NPI) ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดความก้าวหน้าของประเทศ ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เพราะการวัดผลจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP เป็นเพียงการวัดผลการใช้จ่ายทางเศรษฐกิจ แต่ขาดการสะท้อนในภาพรวมของการพัฒนา จึงให้สสส. ทำหน้าที่เชื่อมประสานกับทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาดัชนีวัดนี้
“สำหรับยุทธศาสตร์สร้างความสุขของคนในประเทศ ตามแนวทางรองรับผลกระทบทางสุขภาวะจากวิกฤตเศรษฐกิจ จะประกอบด้วย 6 ด้าน คือ 1. การจัดหน่วยเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจต่อสุขภาวะคนไทย เพื่อติดตามสถานการณ์ในกลุ่มเฝ้าระวังที่ได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งวางแผนและกำหนดมาตรการรองรับ 2. การสร้างทักษะในการเผชิญวิกฤต และการตั้งศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ผู้ถูกเลิกจ้าง 3. การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง 4. การส่งเสริมสถานประกอบการและชุมชนเข้มแข็ง โดยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทำงานและคนในชุมชน 5. การแก้ไขผลกระทบทางสังคมที่ร้ายแรงเพื่อตัดวงจรไม่ให้คนส่วนหนึ่งเข้าสู่วังวนของเหล้า ยาเสพติด เพศ และการพนัน และ 6. การนำประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านตัวชี้วัดความสุขของคนในประเทศ”นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประชุมได้พิจารณาโครงการโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบลเพื่อยกระดับสถานีอนามัยและศูนย์สุขภาพชุมชนให้เป็นหน่วยบริการสุขภาพเชิงรุกในทุกอำเภอ เพื่อเชื่อมโยงระบบบริการสาธารณสุขสู่ชุมชน ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล 1.5 ล้านล้านบาท โดยในปีแรกกำหนดเป้าหมายดำเนินการ 500 แห่ง เพิ่มเป็น 1,000 แห่งในปีถัดไป และภายใน 4 ปี คาดว่าจะมีโครงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบลถึง 3,000-4,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจำนวนนี้เป็นครึ่งหนึ่งของสถานีอนามัยที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 9,000 แห่ง
นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีการพิจารณาการสรรหาผู้จัดการ สสส.คนใหม่ ซึ่งจะหมดวาระลงในเดือนกุภาพันธ์ 2553 นี้ โดยได้มีการตั้งคณะกรรมการสรรหาดำเนินการ มอบให้ นพ.บรรลุ ศิริพานิช อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในการพิจารณา ร่วมกับอดีตรองประธาน สสส.
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในที่ประชุมมีการรายงานกรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง) เข้าตรวจสอบการทำงานของ สสส.หรือไม่ ทั้งกรณีการใช้งบประมาณที่ซ้ำซ้อนและการให้งบประมาณดำเนินงานในกลุ่มเครือข่ายเดียวกัน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า เมื่อ สตง.มีการตรวจสอบการดำเนินงานและตั้งข้อสังเกตมา ซึ่งส่วนใหญ่เท่าที่รับทราบเป็นเรื่องเอกสารหลักฐาน โดยตนก็ให้ สสส. ดำเนินการให้เรียบร้อยรวมถึงข้อสังเกตการตั้งงบประมาณที่ซ้ำซ้อนด้วย
ต่อข้อซักถามว่า เท่าที่ดูการใช้งบประมาณของ สสส. ที่ผ่านมาในแต่ละปีดูแล้วคุ้มค่าหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนอยากเรียนว่า ในฐานะที่ตนเป็นคนอยู่ในกระบวนการเริ่มต้นจัดตั้ง สสส. ต้องเข้าใจว่าการทำงาน สสส. เราต้องไม่จัดให้อยู่ในระบบเดียวกับราชการ เพราะหลักตรงนี้คือการระดมเครือข่ายต่างๆ เข้ามาร่วมทำงาน ซึ่งในแง่ผลของงานจึงเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น เช่น การลดจำนวนความสูญเสียอุบัติเหตุ รายจ่ายประชาชนที่ลดลงในส่วนเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้เทียบเคียงผลงานได้ยาก ต่างจากระบบราชการ ซึ่งถ้าเราเข้าใจจะเห็นได้ว่า ในหลายปี ที่ผ่านมา สสส.ได้ทำงานตามวัตถุประสงค์และเห็นได้ชัด ทั้งในระดับภาพกว้างและการลงทำงานในพื้นที่ แต่ไม่ได้หมายความว่าการทำงานไม่มีข้อบกพร่อง และจากประสบการณ์ที่ตนทำงานในสภาผู้แทนราษฎร์และดูการตรวจสอบ สสส. จะมีตั้งข้อสังเกตการอนุมัติโครงการ ซึ่งตรงนี้ สสส. ต้องรับฟังและไปพิจารณาว่าต้องแก้ไขอย่างไรต่อไป