
สัตว์ศก.ตัวใหม่เลี้ยง "ไก่คอล่อน"
เมื่อวันก่อน ผมมีโอกาสไปร่วมงานในพิธีเปิดงาน "ทักษิณวิชาการ-เกษตรแฟร์" ครั้งที่ 6 และมหกรรมนิทรรศการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ 14 จังหวัดภาคใต้ ภายใต้แนวคิด "เกษตรยั่งยืน ฟื้นฟูภูมิปัญญา พัฒนาสู่สากล" ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พัทลุง ร่วม
ยอมรับว่าเป็นงานใหญ่แห่งปีและเป็นประวัติศาสตร์ของ จ.พัทลุง ก็ว่าได้ เพราะพัทลุงไม่เคยจัดงานได้อย่างยิ่งใหญ่แบบนี้มาก่อน แต่ด้วยบารมีของนายก อบจ.พัทลุง "สานันท์ สุพรรณชนะบุรี" ในฐานะนายกสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทย ตลอดจนความร่วมแรงร่วมใจของพี่น้องประชาชนชาวพัทลุง ทำให้มหกรรมครั้งนี้ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง
แว่วว่าจากการหารือในเบื้องต้นระหว่างคุณสานันท์ สุพรรณชนะบุรี นายกอบจ.พัทลุง และนายกสมาคม อบจ.แห่งประเทศไทยกับ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ อาจจะยกงานนี้ให้เป็นงานประจำปีของพัทลุง ในฐานะจังหวัดนำร่องต้นแบบโครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้
เท่าที่ผมเดินสำรวจดูภายในงาน นอกจากนิทรรศการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรมาจัดแสดงแล้ว ยังมีของดีเมืองพัทลุงที่หลากหลายมาจัดแสดงโชว์แก่ผู้ชมงานจากต่างถิ่นอีกด้วย หนึ่งในนั้นก็คือ ไก่คอล่อน ที่เลี้ยงกันอย่างเป็นล่ำเป็นสันของชาวบ้านใน จ.พัทลุง และยังเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด เพราะเลี้ยงง่าย น้ำหนักมาก ช่วยเพิ่มรายได้แก่ประชาชนเป็นอย่างดี
ไก่คอล่อนที่ว่านี้ เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างไก่คอล่อนกับไก่พื้นเมืองของ จ.พัทลุง ไก่คอล่อนนี้ เชื่อกันว่าเป็นไก่ที่มีสายพันธุ์มาจากไก่ของฝรั่งเศส ที่นำมาเลี้ยงในประเทศเวียดนามและกัมพูชา เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยทหารญี่ปุ่นนำไก่คอล่อนจากประเทศเวียดนามและกัมพูชามาเป็นอาหารในกองทัพ ซึ่งได้ยกพลขึ้นบกที่ จ.นครศรีธรรมราช และสงขลา มีการจัดสร้างถนนยุทธศาสตร์สายสงขลา-พัทลุง ทำให้ไก่คอล่อนแพร่หลายในพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะ จ.พัทลุง และได้คัดเลือกปรับปรุงสายพันธุ์จนเรียกว่าไก่คอล่อนพัทลุงในเวลาต่อมา
เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาดสูงมาก ปัจจุบันปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง โดย ไพโรจน์ อินทรศรี ปศุสัตว์จังหวัด แนะนำส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงไก่คอล่อนพัทลุงในลักษณะปลอดสารพิษให้เป็นอาชีพเสริมอย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยจะประสานงานกับจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่ให้ความรู้ในด้านต่างๆ ด้วยลักษณะเด่นของไก่คอล่อนพัทลุง คาดว่าจะสามารถผลักดันให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจได้ในอนาคต
"สุรัตน์ อัตตะ"