
ฝ่าม่านหมอกสู่ห้วยเขย่งยุคใหม่แหล่งเที่ยวเชิงเกษตรในหุบเขา
พื้นที่เวิ้งแคบๆ อยู่ท่ามกลางโอบล้อมของขุนเขาน้อยใหญ่ ที่แยกย่อยสาขาจากเทือกเขาตะนาวศรี ด้านตะวันตกของประเทศไทย ที่เป็นรอยตะเข็บแนวชายแดนไทย-พม่า
เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งทำมากินของผู้คนหลายกลุ่มหลากหลายเผ่าพันธุ์ทั้งที่เป็นคนไทยแต่กำเนิด คนไทยเชี้อสายลาว มอญ กะเหรี่ยง และพม่า อยู่ภายใต้การปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี มีทั้งหมด 8 หมู่บ้าน มีประชากรทั้งกว่า 5,000 คน จาก 3,102 หลังคาเรือน
แม้ห้วยเขย่งจะเป็นตำบลเล็กๆ ที่เต็มไปด้วยละอองหมอกสีขาวโพนในยามเช้า และในอดีตชาวบ้านส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ยึดอาชีพด้านการเกษตรปลูกพืชผักเล็กๆ น้อยๆ รับจ้างทำงานด้านการเกษตร และหาของป่ามาขาย แต่วันนี้ห้วยเขย่งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและท่องเที่ยวการเกษตรที่น่าสนใจอีกแห่งของ จ.กาญจนบุรี จุดขายและเสน่ห์ของการท่องเที่ยวห้วยเขย่งคือ ภูสูง หมอกขาว ป่าเขียว เที่ยวผจญภัย ธารน้ำใส ผลไม้อร่อย คอยท่านอยู่ที่นั่น
การพัฒนาห้วยเขย่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและเชิงนิเวศ เกิขึ้นหลังจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มูลนิธิโครงการหลวง เข้าไปดำเนินโครงการขยายผลโครงการหลวงห้วยเขย่ง โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือให้คนในชุมชนมีรายได้เพียงพอ ชุมชนเข้มแข็ง มีสิ่งแวดล้อมที่ดีและยั่งยืน และการท่องเที่ยวถือเป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชนอีกทางหนึ่ง โดยมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่น่าสนใจ คือบริเวณที่ทำการโครงการขยายผลโครงการหลวงห้วยเขย่ง ที่บ้านไร่ หมู่ 6 มีพื้นที่ซึ่งเป็นแปลงทดลองด้านการเกษตร 7 ไร่
น้ำทิพย์ กัณทะวงค์ เจ้าหน้าที่ประจำโครงการ บอกว่า บริเวณที่ทำการโครงการเป็นศูนย์ต้นแบบอาชีพด้านการเกษตรอินทรีย์ ที่เปิดให้ชาวบ้านที่สนใจไปเรียนรู้ ทดสอบผลิตข้าวนาและข้าวไร่ พริกกะเหรี่ยง มะเขือพม่า แปลงทดลองปลูกน้อยหน่าพันธุ์ปากช่อง แปลงปลูกเสาวรส พริกกะเหรี่ยง ส่งเสริมให้เกษตรกรที่ร่วมโครงการปลูกไม้ดอกไม้ประดับอีกด้วย อาทิ เยอบีร่า เบญจมาศ และดอกหน้าวัว ส่วนด้านปศุสัตว์ มีการทดลองการเลี้ยงกระต่ายพันธุ์เนื้อจากสวิตเซอร์แลนด์ และการเลี้ยงหมู นอกจากนี้ยังทดสอบการใช้เทคโนโลยีในการทำปุ๋ยหมักจากไส้เดือนแดงด้วย
"ตอนนี้อาชีพเกษตรที่น่าสนใจสำหรับชาวบ้านใน ต.ห้วยเขย่ง ที่เห็นตลาดชัดเจนคือพริกกะเหรี่ยง และมะเขือพม่า ถือเป็นพืชเศรษฐกิจในท้องอีกชนิดหนึ่ง อย่าง พริกกะเหรี่ยง ปีนี้ราคาดีมาก บางช่วงราคากิโลกรัมละเป็นหลักร้อยบาท ส่วนมะเขือพม่าก็น่าสนใจ หายาก มีลักษณะผลโต 3 ผลต่อ 1 กิโลกรัม รสชาติออกหวานแต่ไม่กรอบ คล้ายมะเขือยาว เหมาะสำหรับแกงเขียวหวานผสมเนื้อสัตว์ ลวกจิ้มน้ำพริก หรือผัดก็ได้ ตอนนี้จะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ มีเท่าไรซื้อหมด อย่างที่แปลงทดลองปลูกในพื้นที่ 2 งานมี 300 ต้น ได้ผลผลิตอาทิตย์ละเพียง 80-100 กิโลกรัมเท่านั้น ทั้งที่พ่อค้าเจ้าเดียวต้องการวันละ 300 กิโลกรัม ขายราคากิโลกรัมละ 8-10 บาท" น้ำทิพย์ กล่าว
ส่วนด้านการปศุสัตว์ที่น่าสนใจ น้ำทิพย์ บอกว่า กระต่ายพันธุ์เนื้อ เป็นพันธุ์จากสวิตเซอร์แลนด์ สามารถเลี้ยงเพื่อชำแหละขายเนื้อ เพาะขายลูกก็ได้ มีตลาดรองรับอยู่แล้ว หรือจะเลี้ยงเป็นสัตว์ไว้ดูเล่นในบ้านก็ได้ เพราะรูปร่างน่ารัก ส่วนการชำแหละขายเนื้อราคากิโลกรัมละ 130 บาท ส่งตามร้านอาหาร โรงแรม ภัตตาคาร มีตลาดทั้งใน อ.ทองผาภูมิ และตัวเมืองกาญจนบุรี ยังไม่ขยายตลาดถึงกรุงเทพฯ เนื่องจากปริมาณที่เลี้ยงไม่มากนัก หรือหากจะขายเป็นตัวก็ได้กิโลกรัมละ 50-65 บาท และเพาะลูกขายราคาตัวละ 150 บาท นอกจากนี้หากเป็นฤดูผลไม้ยังมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้อีกรูปแบบหนึ่ง คือเข้าสวนชิมผลไม้สดๆ จากต้น อาทิ เงาะทองผาภูมิที่ขึ้นชื่อ ทุเรียน มังคุดสด และลองกอง เป็นต้น
ส่วนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศนั้นมีหลากหลาย ที่น่าสนใจ ชัยภัทร ประดิษฐค่าย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 รองประธานกลุ่มท่องเที่ยวเชิงนิเวศ บอกว่า ตอนนี้ห้วยเขย่งเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของ จ.กาญจนบุรี โดยเฉพาะช่วงหน้าฝนตั้งแต่เดือนกรกฎาคม มีกิจกรรมท่องเที่ยว “เทศกาลดูปู เที่ยวพุ ถ่อแพ ที่ห้วยเขย่ง” คือนักท่องเที่ยวไปห้วยเขย่งที่ขาดไม่ได้คือต้องนั่งรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ หรือโฟร์วีลส์ ผ่านเส้นทางอันหฤโหด ทั้งขึ้นเนินเขา ผ่านห้วยน้อย ตามทางที่ขรุขระ เฉอะแฉะ เพื่อไปสัมผัสบรรยากาศที่ป่าพุปูราชินี ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปูราชินี เป็นปูน้ำจืดที่อาศัยอยู่ในเขตป่าเขาตะนาวศรีเท่านั้น มีลักษณะสวยงามมี 3 สีสุดสวย คือที่ขามีสีแดง โคนขากล้ามหนีบ ขอบกระดองสีขาว ส่วนกลางกระดองมีสีน้ำเงิน ยาวราว 5-7 เซนติเมตร ภายในป่าพุแห่งนี้ได้สร้างสะพานไม้ให้นักท่องเที่ยวเดินชมปูราชินีฝ่ากลางป่าที่มีแม็กไม้นานาพรรณที่อุดมสมบูรณ์ราว 400 เมตร
ร่นถอยกลับมาอีก 2 กิโลเมตร เป็นพุหนองปลิง เป็นลักษณะป่าดิบชื้น ตรงกลางหนองน้ำขนาดใหญ่ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายชนิด โดยเฉพาะนกป่าชนิดต่างๆ ส่งเสียงร้องต้อนรับผู้ไปเยือนไม่ขาดระยะ และสิ่งที่ขาดไม่ได้อีกกิจกรรมหนึ่งที่สร้างความตื่นเต้น นั่นคือ การล่องแก่งด้วยแพไม่ไผ่ ที่ล่องไปตามกระแสน้ำไหล ตามลำธารที่คดเคี้ยว สลับกับโขดหิน ตลอดแนวทางกว่า 4 กิโเมตร และแน่อนที่สุดเมื่อไปห้วยเขย่งแล้วค่ำคืนก็ต้องสัมผัสกับครอบครัวชาวบ้าน ด้วยการไปนอนที่โฮมสเตย์ แต่ก่อนเข้านอนระหว่างรับประทานอาหารเย็นต้องเป็นข้าวกล้อง และระหว่างนั้นจะได้ชมการแสดงศิลปะพื้นบ้านของชาวเผ่าต่างๆ เช่น การรำมอญ รำพม่า เต๊ะหน่า รำตง รำกระทบไม้ และพิธีบายศรีสู่ขวัญ ฯลฯ
ด้าน คำแสง มีทา กำนันตำบลห้วยเขย่ง บอกว่า การพัฒนาห้วยเขย่งให้เป็นแหล่งท่องเที่เชิงนิเวศ และท่องเที่ยวเชิงเกษตรนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการขยายผลโครงการหลวงห้วยเขย่ง โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือให้คนในชุมชนมีรายได้เพียงพอ ชุมชนเข้มแข็ง มีสิ่งแวดล้อมที่ดีและยั่งยืน ขณะนี้มีชาวบ้านที่ร่วมมืออย่างจริงจัง โดยเฉพาะความพร้อมการบริการที่นอนในรูปแบบของโฮมสเตย์ มีกว่า 10 ครอบครัว สามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่ค้างคืนได้ราว 50 คน แต่ยังมีรีสอร์ทของเอกชนอีกที่รับได้นับร้อยคน
ขณะที่ ยุพา มีทา ภรรยาของคำแสง ซึ่งร่วมกลุ่มทำโฮมสเตย์ บอกว่า ร่วมโครงการตั้งแต่แรกปี 2551 เนื่องจากมีคำแสง ซึ่งเป็นสามีเป็นตัวตั้งตัวตีของโครงการนี้ โดยที่บ้านพักได้ 3 ห้อง สามารถนอนได้ให้สบายๆ ไม่เกิน 10 คน แต่บางครั้งลูกค้าไม่ต้องการนอกแยกกันสามารถนอนได้ 20 คน เนื่องจากมีห้อง 3 ห้องเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาจะมีลูกค้าส่วนใหญ่จะมาดูงานทั้งข้าราชการ กลุ่มแม่บ้าน ในแต่ละปีไม่มากนัก อย่างปีที่แล้วมาราว 5 กลุ่มเท่านั้น แต่ที่บ้านไม่เน้นที่รายได้แต่จะเน้นในการมีส่วนร่วมเพื่อให้โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวบรรลุเป้าหมายมากกว่า
ก็นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกรูปแบบหนึ่ง หากใครสนใจสัมผัสบรรยากาศของห้วยเขย่ง สอบถามได้ที่ศูนย์บริการท่องเที่ยวชุมชนห้วยเขย่ง 08-0068-6086, 08-4723-6063
ดลมนัส กาเจ