
พระเทพฯทรงเป็นประธานพิธีไหว้ครูกรมศิลปากร
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานพิธีไหว้ครูและพิธีสืบทอดผู้ประกอบพิธีไหว้ครูโขน - ละคร ครูดนตรี และครูช่างของกรมศิลปากร และทรงเป็นประธานพิธีเปิดนิทรรศการพิเศษ เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พุทธศักราช ๒๕๕๓ เรื่อง ง
กรมศิลปากร เป็นสถาบันหลักในการอนุรักษ์ พัฒนา และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยเฉพาะงานด้านนาฏศิลป์ ดนตรี และงานช่างศิลป์ทั้งปวง ที่จะต้องได้รับการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อคงความเป็นมรดกไทยตลอดไป ซึ่งการสืบทอดผู้ประกอบพิธีไหว้ครูโขน - ละคร ครูดนตรี ครูช่าง เป็นขนบ ธรรมเนียมมาแต่โบราณ กรมศิลปากรจึงได้จัดพิธีไหว้ครูและพิธีสืบทอดผู้ประกอบพิธีไหว้ครูโขน - ละคร ครูดนตรี และครูช่างของกรมศิลปากร ขึ้น
เพื่อสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน เป็นการปฏิบัติตามขนบธรรมเนียม ประเพณี และจารีตของโบราณาจารย์ สร้างให้เกิดองค์ความรู้ เสริมความเป็นสถาบันหลักทางวิชาการ ตลอดจนความเป็นสิริมงคลแก่หน่วยงาน ผู้ปฏิบัติและผู้ร่วมงาน โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ๓ ท่าน มาประกอบพิธีไหว้ครู ดังนี้
นายสมบัติ แก้วสุจริต เป็นประธานผู้ประกอบพิธีไหว้ครูโขน-ละคร ผู้รับการสืบทอด ได้แก่ นายปกรณ์ พรพิสุทธิ์ นายสมรัตน์ ทองแท้ และนายรักชาติ ตุงคะบูรณะ นายสิริชัยชาญ ฟักจำรูญ เป็นประธานผู้ประกอบพิธีไหว้ครูดนตรี ผู้รับการสืบทอด ได้แก่ นายไพฑูรย์ เฉยเจริญ นายลำยอง โสวัตร นายปี๊บ คงลายทอง นายดุษฎี มีป้อม และนายอเนก อาจมังกร พลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น เป็นประธานผู้ประกอบพิธีไหว้ครูช่าง ผู้รับการสืบทอด ได้แก่ นายนิยม กลิ่นบุบผา นายอำพล สัมมาวุฒธิ นายสตวัน ฮ่มซ้าย และนายสาคร โสภา
การจัดพิธีไหว้ครูในครั้งนี้ นับเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดจารีตประเพณี คุณค่าของศิลปวัฒนธรรมล้ำค่าของชาติไทย ทั้งยังเป็นการพัฒนาความรู้และคุณค่าของมรดกวัฒนธรรมให้สังคมตระหนักรู้ ซึมซับสู่บุคลากรรุ่นต่อๆ ไป อันเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งของกรมศิลปากรตลอดมานับแต่อดีตถึงปัจจุบัน
นิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๓ เรื่อง “งานช่างพื้นบ้าน” จัดขึ้นเพื่อสืบสานและเผยแพร่ศิลปวิทยาการและมรดกทางศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับงานช่างพื้นถิ่นอันเป็นรากฐานทางภูมิปัญญาด้านงานช่าง เนื้อหานิทรรศการเกี่ยวเนื่องกับงานช่างพื้นถิ่นของแต่ละภูมิภาคในประเทศไทย งานช่างพื้นถิ่นส่วนใหญ่เป็นงานศิลปหัตถกรรมซึ่งในอดีตได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวันของมนุษย์ หรือเพื่อแลกเปลี่ยนกับปัจจัยการดำรงชีวิตที่ตนผลิตไม่ได้ หรือเพื่อสนองตอบตามความเชื่อ ขนบประเพณี สภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของกลุ่มชน ตลอดจนกรรมวิธีในการผลิตหรือจัดทำประกอบกับการถ่ายทอดความรู้ความสามารถจะเป็นไปในหมู่วงศาคณาญาติที่ใกล้ชิดอาศัยแรงงานสร้างด้วยมือเป็นหลัก เรียกกันว่า งานหัตถกรรมพื้นบ้าน หรือศิลปหัตถกรรมชาวบ้าน นิทรรศการนี้นำเสนองานช่างพื้นถิ่นของแต่ละภาคที่โดดเด่นมีเอกลักษณ์ อันได้แก่
งานช่างพื้นถิ่นภาคเหนือ ช่างทำเครื่องทองสุโขทัย ช่างทำเครื่องเงินบ้านวัวลาย จังหวัดเชียงใหม่ งานช่างแกะสลักไม้ งานช่างพื้นถิ่นภาคกลาง งานช่างจักสาน งานช่างทำหัวโขน ช่างแทงหยวกเมืองเพชร งานช่างปูนปั้น งานช่างพื้นถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ช่างทอผ้า งานช่างทำเครื่องทองเหลืองบ้านปะอาว ช่างทำเทียน จังหวัดอุบลราชธานี งานช่างพื้นถิ่นภาคใต้ ได้แก่ งานช่างทำตัวหนังตะลุง งานช่างทำเครื่องถม และช่างจักสานย่านลิเภา
ช่างพื้นถิ่นแต่ละภูมิภาคที่ได้สร้างสรรค์งานศิลปกรรมและศิลปหัตถกรรมซึ่งเกิดจากการสั่งสมภูมิปัญญา เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติอันทรงคุณค่า นำไปสู่การพัฒนาจากรากฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น บางแขนงอยู่ในงานช่างสิบหมู่สู่งานช่างหลวงในระดับราชสำนัก ซึ่งกระบวนการผลิตแบบดั้งเดิมนับวันยิ่งสูญหาย จึงเป็นหน้าที่ของกรมศิลปากรที่จะต้องปกป้องคุ้มครอง อนุรักษ์ ฟื้นฟู สืบทอด เผยแพร่และสร้างสรรค์ พัฒนามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทย เพื่อความมั่นคงของชาติและเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศสืบต่อไป นิทรรศการนี้จัดแสดงระหว่างวันที่ ๒๖ สิงหาคม - ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ ณ พระที่นั่ง อิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร
ผู้สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการได้ทุกวันพุธ-อาทิตย์ (ปิดจันทร์-อังคาร) เวลา ๐๙.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. ๐ ๒๒๒๔ ๑๓๓๓, ๐ ๒๒๒๔ ๑๔๐๒