ไลฟ์สไตล์

เปลี่ยนกากอ้อยเป็น"ปุ๋ยหมัก”
เพิ่มค่าวัสดุเหลือใช้รง.น้ำตาล

เปลี่ยนกากอ้อยเป็น"ปุ๋ยหมัก” เพิ่มค่าวัสดุเหลือใช้รง.น้ำตาล

24 ส.ค. 2553

แม้จะทำงานเป็นที่ปรึกษาบริษัทผลิตน้ำตาลรายใหญ่ แต่ก็ไม่ทิ้งกลิ่นอายความเป็นเกษตรกรในฐานะหมอดินอาสา จนสามารถคว้ารางวัลหมอดินอาสาดีเด่น สาขาการผลิตและการใช้ปุ๋ยหมัก ประจำปี 2551 ของกรมพัฒนาที่ดิน สำหรับ "สุริวงค์ แห้วเพ็ชร" เกษตรกรหนุ่มไฟแรง แถมควบตำแหน่งก

 สุริวงศ์ เล่าว่า หลังเรียนจบด้านวิศวกรรมศาสตร์ก็ใช้ความรู้ที่เล่าเรียนมามาทำงานอยู่ในโรงงานที่กรุงเทพฯพักใหญ่ ก่อนหันมาสวมหมวกเกษตรกรเต็มขั้น หลังตัดสินใจกลับสู่บ้านเกิดเพื่อยึดอาชีพปลูกอ้อยส่งโรงงานอ้อย บนเนื้อที่กว่า 20 ไร่ ซึ่งเป็นอาชีพหลักของครอบครัวที่ทำกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่ด้วยพื้นฐานความรู้ดีกรีวิศวะ จึงมองเห็นมูลค่าของกากตะกอนอ้อยหรือที่เรียกว่า “ฟินเตอร์เค้ก" ซึ่งเป็นวัตถุเหลือใช้มีอยู่เป็นจำนวนมาก น่าจะนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ จึงทดลองนำมาใส่ในไร่อ้อย ปรากฏว่าดินดีขึ้น จากนั้นจึงได้นำความคิดนี้มาต่อยอด โดยปรึกษากับสถานีพัฒนาที่ดินอุทัยธานี เพื่อนำมาเป็นวัสดุหลักในการผลิตเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพ

 "หลังทดลองใช้แล้วได้ผล ผมจึงได้แนะนำให้เกษตรกรทดลองใช้บ้าง ซึ่งก็ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี จากนั้นจึงได้จัดตั้งกลุ่มขึ้นภายในหมู่บ้านเมื่อปี 2547 ชื่อว่า “กลุ่มเกษตรกรทำสวนทัพหลวง" ตอนนั้นมีสมาชิกเริ่มแรก 50 คน ทำปุ๋ยหมักเพื่อใช้กันเองในกลุ่ม ต่อมาทางจังหวัดอุทัยธานีให้งบประมาณสนับสนุนในรูปของวัตถุดิบและเครื่องจักร"

 สุริวงศ์อธิบายถึงกระบวนการผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพจากกากอ้อยว่า มีส่วนผสมที่สำคัญ ได้แก่ กากตะกอนอ้อยหรือเศษใบอ้อยจำนวน 1,000 กก. มูลสัตว์จำนวน 200 กก. สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ของกรมพัฒนาที่ดิน 1 ซอง ส่วนวิธีการกองปุ๋ยหมัก ขั้นตอนแรก นำเศษวัสดุที่จะใช้ทำปุ๋ยหมัก (กากตะกอนอ้อยหรือเศษใบอ้อย) มากองเป็นชั้นแรกขนาดกว้าง 2-3 เมตร สูงประมาณ 30-40 ซม. ย่ำให้แน่นและรดน้ำให้ชุ่ม ขั้นตอนที่สอง นำมูลสัตว์ประมาณ 50 กก. มาโรยบนชั้นของวัตถุดิบให้ทั่วแล้วรดน้ำให้ชุ่ม ขั้นตอนที่สาม นำสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 ละลายน้ำ รดให้ทั่วกองและขั้นตอนสุดท้าย นำเศษวัสดุที่ใช้ทำปุ๋ยหมักมากองทับแล้วนำมูลสัตว์โรยทับให้ทั่วทั้งผิวหน้าเป็นอันเสร็จเรียบร้อย

 การดูแลกองปุ๋ยหมัก ควรรดน้ำสม่ำเสมอไม่ให้กองปุ๋ยแห้งและแฉะจนเกินไป กลับกองปุ๋ยหมักประมาณ 7-10 วันต่อครั้ง เพื่อเป็นการระบายอากาศและลดความร้อนภายในกองปุ๋ย ทำให้การย่อยสลายเป็นไปด้วยดี ส่วนปุ๋ยหมักที่เสร็จและนำไปใช้ปรับปรุงดินได้ สีของเศษวัสดุจะมีสีน้ำตาลเข้มจนถึงสีดำ ลักษณะของวัสดุจะอ่อนนุ่มและเปื่อยยุ่ย ไม่มีกลิ่นเหม็นหรือกลิ่นฉุน ความร้อนภายในกองปุ๋ยจะใกล้เคียงกับอุณหภูมิภายนอก

 "ขณะนี้กำลังการผลิตอยู่ที่ครั้งละ 100 ตัน โดยใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน ที่ผ่านมาปุ๋ยหมักจากกากอ้อยช่วยสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและสมาชิกไม่น้อยกว่าปีละ 1.5 ล้านบาท ส่วนปีนี้คาดว่ามีรายได้อยู่ประมาณ 1.2 ล้านบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับราคาปุ๋ยเคมีเป็นหลัก หากปุ๋ยเคมีแพงปริมาณการซื้อปุ๋ยหมักก็จะมากขึ้น" หมอดินอาสาดีเด่นกล่าวทิ้งท้าย

 จากความสำเร็จในการถ่ายทอดความรู้สู่เกษตรกรในฐานะหมอดินอาสา ทำให้ สุริวงศ์ แห้วเพ็ชร คว้ารางวัลหมอดินอาสาดีเด่น สาขาการผลิตและการใช้ปุ๋ยหมัก ประจำปี 2551 ของกรมพัฒนาที่ดิน  สำหรับเกษตรกรหรือผู้สนใจทั่วไปต้องการความรู้เพิ่มเติมหรือทดลองนำปุ๋ยหมักไปใช้โทร.0-5659-6525 หรือ 08-1953-0188 ได้ตลอดเวลา

"สุรัตน์ อัตตะ"