ไลฟ์สไตล์

กยศ.วางยุทธศาสตร์4ปีให้กู้เรียนเพิ่มสัดส่วนสายอาชีพ-จ่อฟ้องเบี้ยวหนี้ 8 หมื่นราย

กยศ.วางยุทธศาสตร์4ปีให้กู้เรียนเพิ่มสัดส่วนสายอาชีพ-จ่อฟ้องเบี้ยวหนี้ 8 หมื่นราย

23 ส.ค. 2553

กยศ.วางยุทธศาสตร์ 4 ปี เพิ่มสัดส่วนเงินกู้ยืมแก่การศึกษาสายอาชีพมากขึ้น พร้อมปรับเพิ่มค่าครองชีพให้นักเรียน-นักศึกษา เผยครบกำหนดชำระหนี้ล่าสุด มีติดต่อชำระ 75% เตรียมดำเนินคดี 8 หมื่นรายที่ไม่ยอมจ่ายคืนเงินกู้

 นายธาดา มาร์ติน ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กล่าวว่า แนวโน้มความต้องการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามภาวะทางเศรษฐกิจที่ถดถอย โดยในปี 2553 มีผู้กู้เพิ่มขึ้น 4.5% เป็นงบประมาณในปี 2553 ทั้งสิ้น 35,070 ล้านบาท มากกว่าปีก่อนถึง 9.20% เฉพาะผู้กู้ยืมปีการศึกษา 2553 ที่อนุมัติไว้ 893,353 ราย วงเงิน 35,070 ล้านบาท แยกเป็น รายเก่า 563,731 ราย และรายใหม่ 329,622 ราย ซึ่งมีผู้กู้ยืมรายเก่าขอกู้มาสูงกว่าประมาณการ

 ทั้งนี้กองทุนดำเนินการในภารกิจที่สำคัญ ตามกรอบแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กองทุน 4 ปี (2553-2556) ด้านการกู้ยืม ในปีงบประมาณ 2553 กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาได้ดำเนินการพัฒนางานด้านการให้กู้ยืมเงิน โดยการเพิ่มช่องทางการบริหารเงินกองทุนสำหรับนักศึกษามุสลิม ปรับเพิ่มค่าครองชีพให้แก่นักเรียน นักศึกษา และปรับสัดส่วนเงินกู้ยืมแก่การศึกษาสายอาชีพเพิ่มมากขึ้น

 ส่วนการชำระหนี้ กองทุนให้กู้ยืมเงินแก่นักเรียนนักศึกษาไปแล้วทั้งสิ้น 3,475,458 ราย เป็นผู้กู้ที่ครบกำหนดชำระหนี้จำนวน 2,129,904 ราย มาติดต่อชำระหนี้ 1,598,572 ราย คิดเป็น 75.05% ทั้งนี้ เงินที่ต้องชำระ 29,284 ล้านบาท และได้รับชำระ 16,426 ล้านบาท หรือ 56.09% สำหรับการติดตามและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องดำเนินคดี ผู้กู้ที่ครบกำหนดชำระหนี้จำนวน 2,129,904 ราย เป็นผู้กู้ยืมที่ไม่มาติดต่อชำระหนี้จำนวน 531,332 ราย คิดเป็น 24.95%

 "กองทุนได้ดำเนินการติดตามตามขั้นตอนที่กำหนด แต่หากค้างชำระหนี้ติดต่อกันเกินกว่า 4 ปี หรือ 5 งวดขึ้นไป จะขาดอายุความไม่สามารถเรียกร้องเงินกู้ตามสัญญากู้ยืมได้ ดังนั้นกองทุนจำเป็นต้องฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้กู้ยืม อย่างไรก็ตาม ก่อนการฟ้องร้องในแต่ละปีกองทุนได้จัดโครงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมาตั้งแต่ปี 2549 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน" นายธาดากล่าว

 นายธาดา กล่าวว่า กองทุนมีนโยบายการพิจารณาสัดส่วนการจัดสรรเงินเพิ่มเติมให้แก่สถานศึกษาที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาเข้าเรียนในสถานศึกษาที่มีคุณภาพ โดยเห็นว่าความต้องการของตลาดแรงงานมีความต้องการด้านสายอาชีพมากกว่าสายสามัญ ดังนั้นจึงกำหนดสัดส่วนการให้กู้เงิน สายสามัญต่อ สายอาชีพ จาก 60:40 เป็น 40:60 ส่วนระดับอุดมศึกษาได้เน้นส่งเสริมสาขาที่เป็นความต้องการ สาขาที่เน้นหนักในทางวิชาชีพที่มีงานทำ

 นายบุญชัย ศศิวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่าย ผู้บริหารฝ่าย ฝ่ายบริหารโครงการภาครัฐ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การชำระหนี้ในปัจจุบันยังไม่ครบ 100% แต่ กยศ.มีกำหนดเงื่อนไขว่าหากไม่ชำระ 5 งวดต่อเนื่อง ก็จะถูกยกเลิกสัญญาและต้องถูกดำเนินคดี โดยขณะนี้มีประมาณ 8 หมื่นรายที่ไม่ชำระหนี้ตามสัญญาและถูกดำเนินคดี จากลูกหนี้ทั้งหมด 2 ล้านคน